×

แบงก์ชาติจีนปรับระดับอ้างอิงค่าเงินหยวนอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือน หวั่นฉุดสกุลเงินในภูมิภาคอ่อนค่าตาม

27.02.2023
  • LOADING...

ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดอัตราอ้างอิงเฉลี่ยค่าเงินหยวนเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ (Daily Midpoint) ลงมาอยู่ที่ 6.9572 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนราว 0.91% และเป็นระดับที่อ่อนค่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2022

 

การปรับอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนของ PBOC เกิดขึ้นหลังจากเงินดอลลาร์ทำสถิติแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ หลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาร้อนแรงกว่าคาด ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงของสหรัฐฯ ยังทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งจะยิ่งทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างจีนและสหรัฐฯ ถ่างกว้างมากขึ้น 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ในช่วงต้นเดือนธันวาคม อัตราอ้างอิงเฉลี่ยค่าเงินหยวนเคยอยู่ที่ระดับสูงกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ แต่มุมมองเชิงบวกของตลาดต่อการเปิดประเทศของจีน และแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในขณะนั้นที่บ่งชี้ว่ากำลังเข้าสู่ขาลง ทำให้เงินหยวนทยอยแข็งค่าขึ้น จนกระทั่งข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ตลาดเริ่มเปลี่ยนมุมมองอีกครั้ง 

 

ในสัปดาห์นี้ตลาดจะรอจับตาภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีน ทั้งในภาคการผลิตและภาคการบริการมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ระดับ 50.2 จุด และ 53.5 จุด ตามลำดับ

 

อัตราเงินเฟ้อของจีนยังคงอยู่ในระดับต่ำหลังการเปิดประเทศ ทำให้ PBOC ยังมีพื้นที่ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อยู่ อย่างไรก็ดี โจทย์ใหญ่ของ PBOC คือการรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและควบคุมการอ่อนค่าของเงินหยวน ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของจีนอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ความน่าดึงดูดของเงินหยวนมีจำกัด

 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนจะส่งผลกระทบให้สกุลเงินเอเชียอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงเงินบาทอ่อนลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าเงินบาทจะอ่อนค่าได้ไม่เกินระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากปัจจุบันตลาดได้รับข่าวการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปพอสมควรแล้ว

 

“ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ ขณะที่เงินบาทก็อ่อนค่าสูงสุดในรอบ 9 สัปดาห์ คงต้องติดตามดูตัวเลขในเดือนกุมภาพันธ์ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง การแข็งค่าของดอลลาร์ก็น่าจะหมดรอบ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขที่ออกมาดีในเดือนมกราคม อาจเป็นผลมาจากปัจจัยชั่วคราว เช่น สภาพอากาศที่ไม่หนาวรุนแรง” รุ่งกล่าว

 

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยายังประเมินว่า ค่าเงินบาทในช่วงกลางปีจะกลับมาแข็งค่าสู่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ และจะแข็งค่าต่อเนื่องสู่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยที่จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising