×

กรณีศึกษาในโลกจริง หลายประเทศใช้วัคซีนจีนสู้โควิด-19 แต่การระบาดยังเลวร้าย

24.06.2021
  • LOADING...
วัคซีนจีน

ปัจจุบันมีกว่า 90 ประเทศทั่วโลก (รวมถึงไทย) ที่พึ่งพาวัคซีนจากจีนในการต่อสู้กับโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การแพร่ระบาดที่ยังไม่มีทีท่าสิ้นสุดในประเทศเหล่านั้น ควรเป็นเครื่องเตือนใจให้กับทั่วโลกในความพยายามที่จะหยุดยั้งโรคระบาดเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ

 

  • จีนเริ่มต้นแคมเปญการทูตวัคซีนตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยการส่งออกวัคซีนโควิด-19 ในรูปของการบริจาคและผลิตขายตามคำสั่งซื้อให้กับหลายประเทศ ซึ่งข้อได้เปรียบคือจีนจัดหาวัคซีนได้เร็วและเข้าถึงได้ง่ายกว่าวัคซีนอื่นๆ ที่ผลิตในสหรัฐฯ และยุโรป แต่ปัจจุบันพบว่า วัคซีนของจีนไม่ได้มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควรในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส โดยเฉพาะต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ

 

  • จีนมองว่าเป็นโอกาสดีที่จีนจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลของโลก โดยสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ให้คำมั่นว่าจะแจกจ่ายวัคซีนที่เก็บรักษาและขนส่งได้ง่ายให้กับประชาชนหลายล้านคนทั่วโลก ซึ่งเขาเรียกมันว่า ‘ประโยชน์สาธารณะระดับโลก’ 

 

  • แต่สถานการณ์ที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่เผยให้เห็นความจริงอันโหดร้าย โดยที่ระดับการฟื้นตัวของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจัดหาวัคซีนชนิดไหนให้แก่ประชาชน

 

  • ชิลี, เกาะเซเชลส์, บาห์เรน และมองโกเลีย มีประชากรได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 50-68% ซึ่งสูงกว่าสหรัฐฯ แต่จากข้อมูลของ Our World in Data พบว่า ทั้ง 4 ประเทศนี้ ติด 10 อันดับแรกของประเทศที่กำลังเผชิญสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เลวร้ายที่สุดในโลก ขณะที่ข้อมูลจาก The New York Times ระบุว่า 4 ประเทศนี้ใช้วัคซีนที่ผลิตในจีนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ วัคซีนของ Sinopharm และ Sinovac Biotech 

 

  • มองโกเลียรับวัคซีน Sinopharm หลายล้านโดส และสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้ แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,400 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากเดือนก่อน ทั้งที่มองโกเลียฉีดวัคซีนครอบคลุม 52% ของประชากรแล้ว 

 

  • หนึ่งในตัวอย่างคือ ออตกอนจาร์กัล บาตอร์ คนงานเหมืองชาวมองโกเลียวัย 31 ปี ล้มป่วยและมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก หลังรับวัคซีน Sinopharm โดสที่ 2 ได้เพียง 1 เดือน เขารักษาตัวในโรงพยาบาลในกรุงอูบานบาตอร์นาน 9 วัน และตั้งคำถามถึงประโยชน์ของวัคซีนดังกล่าวว่า “ประชาชนถูกทำให้เชื่อว่า หากฉีดวัคซีนแล้วจะทำให้ฤดูร้อนนี้ปลอดจากไวรัส แต่ตอนนี้กลับพบว่ามันไม่จริง”

 

  • จินตงเยี่ยน นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ให้ความเห็นว่า หากวัคซีนมีประสิทธิภาพดีจริง เราจะไม่เห็นรูปแบบการแพร่ระบาดเช่นนี้ และจีนมีหน้าที่ต้องแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น  

 

  • อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้แน่ชัดว่าทำไมบางประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงจึงยังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ หลายปัจจัยที่เป็นไปได้ก็เช่น การเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่วัคซีนไม่สามารถต้านทานได้ดีพอ การควบคุมทางสังคมที่ผ่อนปรนเร็วจนเกินไป หรือความประมาทของประชาชนที่คิดว่าปลอดภัยแล้ว หลังรับวัคซีนเพียงเข็มแรกจากทั้งหมด 2 เข็ม 

 

  • เทียบกับสหรัฐฯ มีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วราว 45% ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วัคซีนของ Pfizer-BioNTech และ Moderna พบว่าเคสติดเชื้อรายใหม่ลดลงถึง 94% ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา

 

  • อิสราเอลเป็นอีกประเทศที่ใช้วัคซีน Pfizer เป็นหลัก และมีอัตราการฉีดวัคซีนให้ประชากรสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเซเชลส์ แต่พบว่าจำนวนเคสผู้ติดเชื้อรายวันลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.95 คนต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคนในปัจจุบัน แต่ที่เซเชลส์ ซึ่งพึ่งพาวัคซีน Sinopharm เป็นส่วนใหญ่ พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ที่กว่า 716 คนต่อประชากร 1 ล้านคน

 

  • ความเหลื่อมล้ำเช่นนี้จะสร้างโลกที่มี 3 กลุ่มประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศร่ำรวยที่ใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech และ Moderna เป็นหลัก กลุ่มประเทศยากจนที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรส่วนใหญ่ได้ และกลุ่มประเทศที่ฉีดวัคซีนได้ครบ แต่ป้องกันได้แค่บางส่วน

 

  • The New York Times ตั้งข้อสังเกตว่า จีนและอีกกว่า 90 ประเทศที่ใช้วัคซีนจีนเป็นหลัก อาจอยู่ในกลุ่มที่ 3 ซึ่งจะต้องต่อสู้กับการล็อกดาวน์ ตรวจหาไวรัส และจำกัดกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี โดยที่เศรษฐกิจอาจหยุดชะงักต่อไป ซึ่งการที่มีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนจีนมากขึ้น ก็อาจทำให้การเชิญชวนผู้คนออกมารับวัคซีนกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากขึ้น

 

  • แต่กระทรวงการต่างประเทศของจีนโต้แย้งว่า จีนไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการระบาดในปัจจุบันกับวัคซีนของจีน พร้อมอ้างข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า อัตราการฉีดวัคซีนในบางประเทศยังไม่ถึงระดับที่เพียงพอในการป้องกันการระบาด และบอกว่าหลายประเทศจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดต่อไป นอกจากนี้จีนยังย้ำว่า วัคซีนของจีนให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดอาการรุนแรงของโรคมากกว่าการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส

 

  • สำหรับอัตราประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น Pfizer-BioNTech และ Moderna มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% ขณะที่ AstraZeneca และ Johnson & Johnson อยู่ที่ราว 70% ส่วน Sinopharm ที่ผลิตโดย Institute of Biological Products ในปักกิ่งมีประสิทธิภาพที่ 78.1% และวัคซีน Sinovac อยู่ที่ 51%

 

  • ที่ผ่านมาข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนจีนสร้างความสับสนให้กับผู้คน เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการทดลองทางคลินิกที่มากพอที่จะแสดงให้เห็นว่าวัคซีนทำงานได้ดีแค่ไหนในการป้องกันการติดเชื้อ โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน เซ่าอี้หมิง นักระบาดวิทยาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน ระบุว่า จีนจำเป็นต้องฉีดวัคซีนครบโดสครอบคลุมประชากร 80-85% เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากระดับ 70% ที่ทางการประเมินไว้ก่อนหน้านี้

 

  • วิลเลียม ชาฟฟ์เนอร์ ผู้อำนวยการการแพทย์ของมูลนิธิโรคติดเชื้อแห่งชาติแห่งมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ในสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า อัตราประสิทธิภาพของวัคซีนจีนอาจต่ำจนทำให้เกิดการระบาดได้ต่อไป หรือทำให้เกิดอาการป่วยจำนวนมากในหมู่ประชากรที่ฉีดวัคซีนแล้ว แม้ว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้คนส่วนใหญ่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลก็ตาม

 

  • ด้านเจ้าหน้าที่ทั้งของเซเชลส์และมองโกเลียต่างกล่าวปกป้อง Sinopharm ว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงของโรค โดย บัตบายาร์ โอชีร์บัต หัวหน้านักวิจัยของกลุ่มที่ปรึกษาด้านสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งกระทรวงสาธารณสุขมองโกเลียยืนยันว่า มองโกเลียตัดสินใจถูกแล้วที่เลือกใช้วัคซีนจีน เพราะช่วยให้อัตราการเสียชีวิตยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป โดยข้อมูลทางการระบุว่า วัคซีน Sinopharm ช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ดีกว่าวัคซีนที่พัฒนาโดย AstraZeneca และ Sputnik 

 

  • โอชีร์บัตยังกล่าวด้วยว่า เหตุผลที่การระบาดพุ่งขึ้นในมองโกเลีย เป็นเพราะมองโกเลียอาจเปิดประเทศเร็วเกินไป ขณะที่ประชาชนมีความประมาท เพราะเชื่อว่ามีภูมิต้านทานแล้วหลังฉีดวัคซีนโดสเดียว

 

  • นอกจากมองโกเลียแล้ว บาห์เรนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นสองประเทศแรกที่อนุมัติใช้งานวัคซีน Sinopharm เป็นกรณีฉุกเฉิน แต่ก็ยังมีรายงานผู้ป่วยในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบาห์เรนยืนยันว่า การกระจายวัคซีนในประเทศประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ แต่กระนั้นเมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่จากสองประเทศประกาศว่า รัฐบาลอาจเสนอให้มีการฉีดวัคซีน Booster โดสที่ 3 โดยทางเลือกก็คือวัคซีน Pfizer หรือฉีด Sinopharm เพิ่มเติม  

 

  • นอกจาก Sinopharm แล้ว หลายประเทศที่ใช้วัคซีน Sinovac ก็ประสบปัญหาในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เช่นกัน หนึ่งในนั้นคืออินโดนีเซีย ซึ่งมีหมอและบุคลากรแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 350 คน แม้ว่าได้รับวัคซีนจาก Sinovac ครบโดสแล้วก็ตาม โดยข้อมูลจากสมาคมการแพทย์อินโดนีเซียระบุว่า มีแพทย์ 61 คนทั่วประเทศที่เสียชีวิตในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงวันที่ 7 มิถุนายน ซึ่งจำนวนนี้มี 10 คนที่ฉีดวัคซีน Sinovac       

 

ภาพ: Marcelo Hernandez / Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising