×

วัคซีนจีน กับคำถามถึงประสิทธิภาพและความสำเร็จของการทูตวัคซีนในเอเชีย

โดย THE STANDARD TEAM
19.07.2021
  • LOADING...
chinese vaccine

ที่ผ่านมาวัคซีนของจีนนับว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิดให้กับผู้คนทั่วเอเชีย โดยมีประชากรหลายล้านคนในภูมิภาคนี้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนของบริษัท Sinovac หรือ Sinopharm ของจีน

 

แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีความกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนจีน จนทำให้บางประเทศในเอเชียที่เคยกำหนดให้วัคซีนของจีนเป็นวัคซีนหลักในโครงการฉีดวัคซีนโควิดระดับชาตินั้น ประกาศเปลี่ยนไปใช้วัคซีนตัวอื่นแทน

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า วัคซีนของจีนเชื่อถือได้หรือไม่ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการตั้งคำถามถึงความพยายามของจีนในการใช้การทูตวัคซีนในเอเชียอีกด้วย

 

บทความโดย BBC ที่ THE STANDARD ถอดความมาบางส่วนนั้น ยกตัวอย่างกรณีของไทยและอินโดนีเซียว่าทำอย่างไร เมื่อ Sinovac เอาโควิดไม่อยู่

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วประเทศไทยประกาศเปลี่ยนสูตรการฉีดวัคซีนใหม่เป็นแบบสลับยี่ห้อกัน โดยเปลี่ยนจากการฉีดวัคซีน Sinovac ทั้ง 2 เข็ม ไปเป็นฉีดวัคซีน Sinovac เข็มแรก และ AstraZeneca เป็นเข็มที่ 2 นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว จะได้รับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นเป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

 

ด้านอินโดนีเซียประกาศการเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยประกาศว่าจะฉีดวัคซีน Moderna เป็นวัคซีนกระตุ้นให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Sinovac มาก่อน

 

การตัดสินใจดังกล่าวของทางการไทยและอินโดนีเซียมีขึ้นหลังจากที่มีรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์หลายร้อยคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วยังคงติดเชื้อโควิด ยิ่งไปกว่านั้น บุคลากรการแพทย์ 2 คนในประเทศไทย และ 30 คนในอินโดนีเซียเสียชีวิตแม้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว

 

ทั้งสองประเทศกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยประเทศไทยรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งสูงทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นศูนย์กลางระบาดใหม่ของโควิดในเอเชีย กำลังประสบกับวิกฤตสาธารณสุข เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเตียงเพียงพอที่จะรองรับจำนวนผู้ป่วย รวมถึงขาดแคลนออกซิเจน

 

เดล ฟิชเชอร์ หัวหน้าเครือข่ายเตือนภัยและรับมือโรคระบาดระดับโลก (Global Outbreak Alert and Response Network) ขององค์การอนามัยโลก แสดงความเห็นเรื่องการเปลี่ยนสูตรวัคซีนของไทยและอินโดนีเซียว่า รัฐบาลไทยและอินโดนีเซียจำเป็นต้องทำ เพราะกังวลเกี่ยวกับความล้มเหลวของวัคซีน แต่ขณะเดียวกันก็เตือนว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับการติดเชื้อและการเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ และเรียกร้องให้ทางการของสองประเทศดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด

 

ด้าน Sinovac ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

นอกจากไทยและอินโดนีเซียแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาเลเซียก็ประกาศว่าจะเปลี่ยนไปใช้วัคซีนของ Pfizer หลังจากที่ใช้วัคซีน Sinovac ที่มีอยู่ในคลังจนหมดแล้ว

 

ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์และกัมพูชายังคงใช้วัคซีนจากจีนต่อไป

 

คำถามที่หลายคนยังสงสัย วัคซีนจีนมีประสิทธิภาพหรือไม่?

 

ในการทดลองทางคลินิกทั่วโลก วัคซีนต้านไวรัสโควิดของ Sinovac และ Sinopharm แสดงประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดในอัตรา 50-79% แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่านั้นในการป้องกันการป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด โดยการศึกษาในบราซิลพบว่าการฉีด Sinovac มีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต ขณะการศึกษาในกลุ่มบุคลากรการแพทย์อินโดนีเซียพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 96-98% 

 

ศาสตราจารย์เบนจามิน คาวลิง นักระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า ความจริงที่ว่ายังมีการติดเชื้อจำนวนมากในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว อาจเนื่องมาจากหลายปัจจัย

 

หนึ่งคือวัคซีนของจีน เช่นเดียวกับวัคซีนอื่นๆ อีกหลายชนิด อาจเสื่อมประสิทธิภาพลงเมื่อเวลาผ่านไป การศึกษาของไทยที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้พบว่า ระดับแอนติบอดีในผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว ลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 40 วัน

 

อีกประการหนึ่งคือการทดลองทางคลินิกมีชุดข้อมูลที่เล็กกว่าเมื่อเทียบกับการติดเชื้อในโลกความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย ซึ่งมีจำนวนการติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวันเป็นจำนวนหลายหมื่นคน

 

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายได้มากกว่า โดยมีการตรวจพบสายพันธุ์เดลตาใน 60% ของผู้ติดเชื้อในอินโดนีเซีย และ 26% ของผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกล่าสุดในกรุงเทพฯ 

 

ศ.คาวลิงกล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลสาธารณะเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนของจีนในการต่อต้านเชื้อไวรัสโควิดที่กลายพันธุ์ แต่การศึกษาเบื้องต้นชี้ว่าวัคซีนชนิดเชื้อตาย เช่น Sinopharm และ Sinovac สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาน้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม 

 

เขายังกล่าวต่อไปด้วยว่า ไม่มีวัคซีนใดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิดได้อย่างสมบูรณ์ แม้วัคซีนของจีน “ไม่ได้มีประสิทธิภาพถึง 100% แต่ก็ยังช่วยชีวิตคนจำนวนมากได้” ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำด้วยว่าการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นนั้นไม่ได้หมายความว่าวัคซีนจะไร้ประโยชน์ เนื่องจากการสร้างภูมิคุ้มกันช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยรุนแรง

 

ขณะเดียวกันในประเทศจีนเองนั้นก็ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อที่พุ่งสูง โดยประชากรมากกว่า 630 ล้านคนในประเทศได้รับวัคซีนที่จีนผลิตเองแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม อย่างไรก็ดี ไม่มีข้อมูลว่าในจำนวนนี้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเป็นจำนวนเท่าใดแล้ว

 

ทั้งนี้เชื่อว่าจีนน่าจะควบคุมการระบาดได้ เมื่อพิจารณาจากรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่อยู่ในระดับต่ำ และมาตรการที่รวดเร็วฉับไวของจีนในการสกัดกั้นการระบาดในท้องถิ่น

 

จีนประสบความสำเร็จหรือไม่กับความพยายามในการใช้การทูตวัคซีน?

 

เนื่องจากภูมิภาคนี้ได้รับวัคซีนจากจีนมากที่สุด เอเชียจึงเป็นหัวใจหลักในการดำเนินยุทธศาสตร์การทูตวัคซีนของจีน

 

กว่า 30 ประเทศในเอเชียซื้อหรือได้รับบริจาควัคซีนจากจีน โดยอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในผู้ซื้อวัคซีน Sinovac รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยสั่งซื้อวัคซีน 125 ล้านโดส

 

เอียนฉง ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ความกระตือรือร้นของจีนในการขายหรือบริจาควัคซีนเป็น “ความพยายามที่จะเปลี่ยนเรื่องราวให้ห่างไกลจากข้อเท็จจริงที่ว่าโควิดถูกพบครั้งแรกในอู่ฮั่น และเพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนเป็นมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์”

 

เนื่องจากในระยะแรกๆ ประเทศร่ำรวยผูกขาดคำสั่งวัคซีนของบรรดาบริษัทตะวันตก ทำให้หลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศที่ยากจนจึงต่างขานรับวัคซีนจีน

 

“แนวคิดพื้นฐานคือ ‘มีการป้องกันบ้างก็ดีกว่าไม่มีการป้องกันเลย’ แม้ว่าข้อมูลประสิทธิภาพในขณะนั้นจะไม่ดีนักก็ตาม” ดร.ฉง กล่าว

 

การตัดสินใจของไทยและอินโดนีเซียที่จะเปลี่ยนไปใช้วัคซีนชนิดอื่น “อาจทำลายภาพลักษณ์ความสำเร็จของการทูตวัคซีน กระทบความเชื่อมั่นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนจีน และทำให้เกิดคำถามถึงความสามารถทางเทคนิคของจีน” ดร.ฉง กล่าว

 

ภาพ: Yalcin Sonat via ShutterStock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X