×

หุ้นเทคโนโลยีจีนไปต่อหรือพอแค่นี้ เมื่อรัฐบาลจีนเดินหน้าคุมเข้มต่อเนื่อง

14.07.2021
  • LOADING...
หุ้นเทคโนโลยี

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นจีน โดยเฉพาะหุ้นในภาคเศรษฐกิจใหม่ของจีน (New Economy) และหุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หลายท่านคงกำลังเผชิญกับความกังวลจากการที่หุ้นจีนในกลุ่มเหล่านี้ถูกเทขายอย่างหนักมาตั้งแต่ช่วงต้นปี สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะการมุ่งเน้นแนวปฏิบัติในการต่อต้านการผูกขาด (Anti-monopoly) และการปกป้องข้อมูล (Data Privacy) ของรัฐบาลจีน และตัวอย่างสำคัญล่าสุดคือ การดำเนินการของรัฐบาลจีนต่อบริษัท Didi Chuxing โดยหน่วยงานจัดการด้านไซเบอร์ของจีน (Cyberspace Administration of China: CAC) ที่ออกคำสั่งให้แอปสโตร์ทุกแห่งถอดแอป Didi ของจากสโตร์ โดยระบุว่าบริษัทแพลตฟอร์มเรียกรถรายใหญ่นี้เก็บข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานไว้อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากที่บริษัทเพิ่ง IPO เข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไปในช่วงก่อนหน้านั้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ส่งผลให้ราคาหุ้น Didi ยังปรับลดลงแรงกว่า 10% จากจุดสูงสุด หลายท่านที่กำลังสนใจในหุ้นประเภทหุ้นเติบโต (Growth Stock) หรือท่านที่มีการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีจีนอยู่แล้ว อาจจะเกิดคำถามว่าควรลงทุนหุ้นเทคโนโลยีจีนต่อไปหรือไม่ และประเด็นการคุมเข้มจากทางการจีนควรมองเป็นอย่างไร 


หากมองย้อนไปตั้งแต่ช่วงต้นปี ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา หุ้นจีนประเภทAmerican Depositary Receipts (ADR) ที่จดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ และหุ้นจีนในภาคเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะบริษัทแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ราคาได้ปรับร่วงลงมาแล้วกว่า -30 และ -40% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับฐานที่รุนแรง และเป็นหมวดหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องการตรวจสอบโดยตรง ในขณะที่หุ้นจีนในภาคส่วนอื่นได้รับผลกระทบเช่นกันจากการปรับฐานแต่น้อยกว่า การปรับฐานของหุ้นเทคโนโลยีจีนในรอบนี้ กฎระเบียบภายในประเทศที่เข้มงวดถือเป็นเหตุผลหลักสำหรับการเทขายหุ้นจีนของนักลงทุนทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา 


อย่างไรก็ดีหุ้นจีนประเภท ADR นี้บริษัทส่วนใหญ่กำลังเติบโตอย่างมาก ปัจจุบันมูลค่าตามราคาตลาดของหุ้น ADR ที่ใหญ่ที่สุด 20 บริษัทแรกมีมูลค่ารวมกันเกือบ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันมีหุ้น ADR ของจีนรวมทั้งหมดมากกว่า 150 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกันเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และหุ้น ADR จีนที่มีการซื้อขายสูงสุด 20 อันดับแรกนั้นมีสภาพคล่องรายวันเฉลี่ยราว 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงและซื้อขายได้อย่างง่ายดาย แล้วเหตุใดหุ้นจีน ADR ที่เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนตลาดทุนและเป็นบริษัทชั้นนำของจีนจึงถูกเพ่งเล็งจากทางการจีนมากในช่วงที่ผ่านมา 


หนึ่งในคำตอบที่พอจะเห็นได้ คือจุดยืนด้านนโยบายของทางการจีนที่ต้องการยกระดับกฎเกณฑ์และความโปร่งใสของบริษัทจีนที่ต้องการจดทะเบียนในรูปแบบของ ADR หรือการจดทะเบียนนอกตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ให้ดีขึ้นและทัดเทียมกับบรรทัดฐานบรรษัทข้ามชาติระดับโลก ในอีกด้าน นัยทางอ้อมคือทางการจีนต้องการสนับสนุนให้บริษัทชั้นนำของจีนจดทะเบียนในจีนมากขึ้นทั้งในตลาดเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง โดยจีนมองว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตลาดทุนของจีนเองและบริษัทเหล่านี้จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลง่ายกว่า ตัวอย่างเช่น หุ้นจีน ADR ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง 12 บริษัทแรกนั้นก็มีมูลค่าตลาดรวมกันที่ราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในหุ้นที่คล้ายกับหุ้นจีน ADR ที่จดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ โดยไม่ต้องกังวลว่าหลักทรัพย์เหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายในต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันจากสหรัฐฯ ที่ชัดเจนขึ้น หลังสหรัฐฯ ผ่าน Holding Foreign Companies Accountable Act หรือกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานตรวจสอบสหรัฐฯ เพิกถอนหุ้นจีนในสหรัฐฯ เช่น Alibaba, Pinduoduo, JD.com, NIO, NetEase ฯลฯ ได้


ในภาพรวม นโยบายการสอบสวนและการดำเนินการทางวินัยที่ประกาศจากทางการจีนในช่วงที่ผ่านมา สามารถจัดกลุ่มได้ 4 หมวดหลัก ได้แก่

1. การต่อต้านการผูกขาด
2. FinTech และผลกระทบต่อตลาดทุน
3. ความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อสังคม
4. ความปลอดภัยของข้อมูล

ซึ่งกฎระเบียบที่เข้มงวดสำหรับการตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีจีนเหล่านี้ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์โดยรวมของการเติบโตอย่างมีคุณภาพด้วยพื้นฐานการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม มีการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ และการป้องกันการขยายตัวของเงินทุนอย่างไม่ธรรมของบางบริษัท ตามที่ผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของจีนได้เน้นย้ำตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว


คำถามสำคัญของนักลงทุนลำดับถัดมาเมื่อทราบวัตถุประสงค์การตรวจสอบจากทางการจีนแล้ว คือหุ้นบริษัทเทคโนโลยีจีนเหล่านี้ที่กำลังเผชิญแรงกดดันยังน่าสนใจเข้าลงทุนอยู่หรือไม่

 

สมมติฐานหลักของทาง SCBS CIO ยังคงมองเรื่องนี้เหมือนเดิมว่า ทางการจีนไม่น่าจะมีเจตนาในการทำลายบริษัทและแรงขับเคลื่อนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตและความยั่งยืน โดยเฉพาะในปีนี้ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ​และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 หรือแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของจีนสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ซึ่งเทคโนโลยี การบริโภค และประสิทธิภาพการผลิตได้ถูกเน้นความสำคัญอย่างมาก 


นอกจากนี้เราจะเห็นได้ว่าหลายบริษัทที่กำลังเป็นเป้าหมายการตรวจสอบจากทางการจีนได้แสดงท่าทียอมจำนน พร้อมปฏิบัติตามและให้ความร่วมมือต่อการตรวจสอบแล้ว ทั้งยังมีแนวโน้มตอบสนองและปรับตัวให้เข้ากับระบอบการกำกับดูแลที่เป็นปัจจุบันและโปร่งใสมากขึ้น ตรงจุดนี้หมายความว่ากฎระเบียบที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในขณะนี้ควรเป็นปัจจัยลบชั่วคราว และไม่ใช่รูปแบบการตรวจสอบจากทางการที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจของบริษัทอย่างถาวร 


SCBS CIO มองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมีแผนยุทธศาสตร์ที่มองไปข้างหน้าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคส่วนที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ระหว่างประเทศ เช่น เทคโนโลยีต้นน้ำ พลังงานสีเขียว อีคอมเมิร์ซ และการดูแลสุขภาพชั้นนำ และโซเชียลมีเดีย รวมถึงการผลิตแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ทั้งหมดด้วยปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีของจีนเอง โดยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของฝั่งสหรัฐฯ และชาติตะวันตกให้ได้มากที่สุด จุดนี้เองที่ตีความในด้านนัยการลงทุนได้ชัดว่าบริษัทเทคโนโลยีจีนมีความน่าสนใจอย่างมาก และกำลังเทียบชั้นได้กับบริษัทเทคโนโลยีจากฝั่งโลกตะวันตก และเมื่อเวลาผ่านไปการเคลื่อนไหวด้านกฎระเบียบล่าสุดที่ดูเหมือนจะเข้มงวดและไม่เป็นมิตรต่อนักลงทุนในตลาดหุ้นขณะนี้ จะกลายเป็นแรงผลักดันและส่วนเสริมความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมจีนในอนาคตได้ เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนของจีนและแนวปฏิบัติของการดำเนินธุรกิจได้ถูกจัดระเบียบอย่างเคร่งครัดมาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้น


ดังนั้น SCBS CIO จึงยังคงมีมุมมองที่ดีต่อหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและภาคเศรษฐกิจใหม่ของจีนในระยะยาว เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานมีความน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น หุ้นจีน ADR ที่กล่าวไปข้างต้น หากมองในด้านของการประเมินมูลค่า (Valuation) หลังจากที่หุ้นในกลุ่มส่วนใหญ่ได้ปรับฐานรอบใหญ่รับความกังวลด้านการคุมเข้มจากภาครัฐไปแล้ว Valuation ของหุ้นเทคโนโลยีจีนเหล่านี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สะท้อนจากอัตราส่วน Price to Book Value (PB) ที่อยู่ต่ำกว่า -1 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานต่อค่าเฉลี่ยย้อนหลังตั้งแต่ปี 2014 และอัตราส่วน Forward Price to Earning (PE) ได้ปรับลดลงอยู่ที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลังตั้งแต่ปี 2014 เช่นกัน อีกทั้งการเติบโตของกำไรต่อหุ้นที่ Consensus คาดการณ์ไว้สูงที่ราว 23% และอัตราส่วน PEG (Price to Earning/Growth) ที่น่าดึงดูดที่ 1.4 เท่า ทำให้หุ้นเทคโนโลยีจีนในตอนนี้เริ่มน่าสนใจอย่างมากสำหรับนักลงทุนที่เน้นลงทุนระยะยาว ที่พร้อมเติบโตไปกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและธุรกิจจีน 


อย่างไรก็ดีสำหรับนักลงทุนระยะสั้นที่มองการลงทุนหุ้นเทคโนโลยีจีนในระยะเวลาต่ำกว่า 1 ปี การลงทุนในช่วงนี้อาจต้องเผชิญความผันผวนสูง เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่ทางการจีนจะยังเดินหน้าตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีอยู่ 


สุดท้าย จากประวัติศาสตร์ในอดีต เมื่อลองย้อนดูจะพบว่าการดำเนินการตรวจสอบจะกินเวลา 8-12 เดือนในแต่ละรอบ ซึ่งการตรวจสอบรอบนี้เริ่มตั้งแต่กรณีของ Ant IPO ของบริษัท Alibaba ที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2020 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ภาพรวมการตรวจสอบ แม้ดูเหมือนจะผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว แต่ความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบบางด้านและผลกระทบรายบริษัทจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีอีกหลายบริษัทเทคโนโลยีของจีนที่ยังคงอยู่ในลำดับการตรวจสอบจากทางการ และเรายังไม่ทราบผลกระทบที่แน่ชัด ดังนั้นกรอบการลงทุนระยะสั้นอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ หากเทียบความเสี่ยงที่ราคาหุ้นของกลุ่มเทคโนโลยียังคงต้องเผชิญความผันผวนสูง 


อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนระยะยาว ในช่วงนี้เรามองเป็นโอกาสทยอยสะสมได้ต่อเนื่อง เพราะมีหุ้นหลายบริษัทที่มีนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ รวมทั้งยังมีศักยภาพในการเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ดังนั้นหากนักลงทุนยังเชื่อใน Short-Term Pain But Long-Term Gain หุ้นในหมวดเศรษฐกิจใหม่และเทคโนโลยีจีนน่าจะเป็นหุ้นหมวดหนึ่งที่จะตอบโจทย์การลงทุนระยะยาวได้ค่อนข้างดี ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาและเติบโตของจีน 


กล่าวโดยสรุป หุ้นเทคโนโลยีจีนจะยังคงไปต่อสำหรับนักลงทุนระยะยาว แต่ควรจะพอแค่นี้สำหรับนักลงทุนระยะสั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X