ลองจินตนาการดูว่าเราไปซื้อรถคันหนึ่งเป็นเครื่องยนต์ดีเซลยุโรปอย่างดี จ่ายเงินจองกับเซลส์เรียบร้อย วันหนึ่งเซลส์โทรมาบอกว่า รุ่นเครื่องยนต์ดีเซลของเราไม่มี ผู้ผลิตเครื่องยนต์ไม่ส่งให้ ขอเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์เบนซินที่เราเพิ่งพัฒนาแทน ยืนยันว่าประสิทธิภาพไม่ต่างกัน เพราะโบรชัวร์บอกมาแบบนี้ และขอให้เรารับรถไป จ่ายเท่าเดิม เดี๋ยวแถมเช็กระยะฟรีให้ 1 ครั้งพอ
คำถามคือ เราควรยอมเปลี่ยนตามข้อเสนอของเซลส์หรือยกเลิกใบจอง ขอเงินจองคืน แล้วไปซื้อรถยี่ห้ออื่น?
คำถามนี้เป็นคำถามเดียวกับคำถามที่รัฐบาลต้องถามในกรณีการจัดหาเรือดำน้ำ S26T จากประเทศจีนของกองทัพเรือ ซึ่งเกิดกรณีเดียวกันคือ ตอนอู่ CSOC ของจีน มาเสนอเครื่องยนต์ดีเซล MTU396 ซึ่งกองทัพเรือไทยก็พอใจ เพราะเป็นเครื่องยนต์ที่คุ้นเคยดีและมีใช้ทั่วโลก จึงลงนามสัญญา จ่ายเงินจอง และผ่อนดาวน์ไปแล้วหลายงวด แต่วันหนึ่งอู่ CSOC มาบอกว่า ขออภัยด้วยเยอรมนีไม่ขาย MTU396 ให้ เป็นเหตุสุดวิสัย ขอให้รับเครื่องยนต์ CHD620 ที่เราเพิ่งพัฒนาไปใช้แทน เดี๋ยวแถมประกัน 8 ปีแล้วกัน
ซึ่งกองทัพเรือเลือกไปแล้วคือ เลือกยินดีที่จะเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็น CHD620 ของจีน ที่แม้ว่าจีนก็ยังไม่ได้ใช้งานเองเลย เพราะตัวเองก็ใช้ MTU มาตลอด และบอกว่าการชดเชยที่ได้คือรับประกัน 8 ปีนั้นสมเหตุสมผลแล้ว ดังนั้นควรเปลี่ยน
แต่สัญญานี้เป็นสัญญารัฐบาลต่อรัฐบาล ทำให้การตัดสินใจขั้นสุดท้ายไม่ได้ขึ้นอยู่กับกองทัพเรือ แต่ต้องขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี ซึ่งตามข่าวก็คือ มีรัฐมนตรีบางคนแสดงความไม่สบายใจที่จะยกมือแก้ไขสัญญาให้เปลี่ยนเครื่องยนต์ได้ เพราะนอกจากจะไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนแบบนี้จะทำได้อย่างถูกกฎหมายโดยไม่มีคดีอะไรมาย้อนเล่นงานได้แล้ว ยังมีปัญหาด้านความมั่นใจ ที่ถ้าหากวันหนึ่งเครื่องยนต์ CHD620 เกิดปัญหาขึ้นจนทำให้เรือดำน้ำทั้งลำมีปัญหา คนต้องรับผิดชอบและต้องขึ้นศาลก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นรัฐมนตรีที่ยกมืออนุมัตินั่นเอง
ยิ่งรัฐบาลเพื่อไทยคือคนเปิดประเด็นเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำเป็นพรรคแรกด้วย ดังนั้นเรื่องมันยังเลยต้องลุ้นกันว่าจะเอาอย่างไร
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจก็คือ แม้ว่าเรามีสิทธิ์สงสัยได้ว่าก่อนเซ็นสัญญาทำไมกองทัพเรือไม่ตรวจสอบเรื่องเครื่องยนต์ให้ดีก่อน แต่เมื่อเซ็นสัญญาและเกิดปัญหานี้ขึ้นต้องยืนยันว่ากองทัพเรือไม่ใช่ฝ่ายผิดสัญญา เพราะเป็นความรับผิดชอบของผู้ขายในการต้องหาเครื่องยนต์มาขายให้ได้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เพราะสัญญาระบุชัดเจนว่าต้องเป็นเครื่องยนต์รหัส 16V396SE84-GB31L เท่านั้น ซึ่งรหัสนี้เป็นเครื่องยี่ห้ออื่นไปไม่ได้นอกจาก MTU396 ห้ามเอารุ่นอื่นที่แม้จะเคลมว่าดีกว่าหรือเยี่ยมกว่ามาส่งก็ตาม
แต่พอเรื่องมันค้างคามานานหลายปี จนทำให้ตอนนี้บริษัท MTU ปิดสายการผลิตเครื่องยนต์ MTU396 และแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ MTU Series 4000 แล้ว ทำให้ถึงอย่างไรก็จะไม่มีเครื่องยนต์ MTU396 ให้ติดตั้งอยู่ดี ซึ่งไม่ว่าอย่างไร ถ้าจะยังยืนยันว่าจะใช้เรือดำน้ำ S26T อยู่ก็ต้องมีการแก้สัญญา และตอนนี้ก็มีตัวเลือกเครื่องยนต์เดียวสำหรับเรือดำน้ำของจีนก็คือ CHD620
ดังนั้นจริงๆ แล้วทางออกที่ดีที่สุดควรจะเป็นการยกเลิกสัญญา เพราะไทยไม่ใช่ฝ่ายผิดและโครงการมีปัญหามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความเชื่อมั่นของประชาชน การดึงดันทำโครงการต่อไปไม่เป็นผลดีแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะต้องลงไปปฏิบัติงานกับเรือดำน้ำลำนี้
แต่ยืนยันจะไม่ยกเลิก เราก็ต้องท่องไว้ดีๆ ว่า เราต้องถือสัญญาและผลประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ว่าไทยไม่ใช่ฝ่ายผิดสัญญาไว้ในใจแล้ว เวลาเจรจาก็จะง่ายขึ้น เพราะเราจะไม่ยอมแก้สัญญาเพื่อเปลี่ยนเครื่องยนต์ง่ายๆ โดยปราศจากการชดเชยที่เหมาะสม
ซึ่งการชดเชยที่เหมาะสมมันต้องไม่ใช่แค่รับประกัน 8 ปีแน่นอน เพราะข้อเสนอแบบนี้มันแทบจะเป็นข้อเสนอพื้นๆ ที่เสนอกันทั่วไปอยู่แล้ว ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงในการที่ไทยต้องทดลองใช้เครื่องยนต์ CHD620 ก่อนจีน เพื่อให้จีนเรียนรู้แน่นอน
เครื่องยนต์เรือดำน้ำสำคัญมาก เพราะมันเป็นเครื่องปั่นไฟเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ให้เรือดำน้ำทำงานได้ และเครื่องยนต์ที่ทำงานผิดพลาดก็สร้างความเสียหายมหาศาลให้เห็นแล้ว ซึ่งไม่ต้องไปดูที่ไหน ดูที่จีนนี่แหละ ในกรณีเรือดำน้ำชั้น Ming ที่เครื่องยนต์ที่จีนลอกแบบมาจากโซเวียตเกิดทำงานผิดพลาดระหว่างการชาร์จแบตเตอรี่ ทำให้แทนที่เครื่องยนต์จะดับหลังแบตเตอรี่เต็มแล้ว มันกลับทำงานต่อจนดูดออกซิเจนในเรือออกไปอย่างรวดเร็ว ลูกเรือที่น่าสงสารจำนวน 70 คนต้องเสียชีวิตแบบที่ไม่รู้ตัวและแทบแก้ไขอะไรไม่ได้เลย
ดังนั้นถ้าจะให้กองทัพเรือไทยเสี่ยงเป็นหนูทดลองของจีนให้ใช้เครื่องยนต์ CHD620 ที่จีนก็ยังไม่ได้ใช้เองเลย ณ ตอนนี้ การชดเชยต้องมากกว่านี้ เช่น การรับประกันอะไหล่หรือการซ่อมบำรุงควรจะต้องมีตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งมันก็แค่ 25 ปี เพราะเรือดำน้ำจีนอายุสั้นกว่าเรือดำน้ำชาติอื่น หรือต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบหรือซ่อมบำรุงให้ไทยเพื่อให้เราแก้ปัญหาได้เอง หรืออาจแถมอุปกรณ์อย่างอื่นให้จนมั่นใจได้ว่าคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เราต้องรับแทนจีน
และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องท่องเอาไว้ก็คือ เหตุการณ์การที่เยอรมนีไม่ขายเครื่องยนต์ให้จีนมาต่อเรือดำน้ำให้ไทยนั้นไม่ใช่เหตุสุดวิสัย หรือ Force Majeure ตามที่จีนพยายามอ้างทุกครั้ง เพราะแม้เยอรมนีจะเคยหลับตาข้างเดียวขายเครื่องยนต์ MTU ให้จีนนำไปติดบนเรือดำน้ำตัวเองมาหลายปี แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจุดยืนนี้จะเปลี่ยน และโดยปกติแล้วจะเอาเครื่องยนต์หรือเทคโนโลยีของชาติใดไปเสนอขายใครต้องขออนุญาตส่งออกใหม่ทุกครั้ง ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าจีนมาเสนอขายเรือดำน้ำพร้อมเครื่องยนต์ให้ไทยทั้งที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือถามเยอรมนีก่อน ดังเช่นที่ผู้ช่วยทูตทหารเยอรมนีเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ เวลาจะขายของให้ใคร
แบบนี้จึงไม่เรียกว่าเหตุสุดวิสัย แต่ควรถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่อของจีนที่ไม่ขออนุญาตก่อน ดังนั้นไทยขอยกเลิกสัญญาและสั่งปรับตามที่ระบุไว้ในสัญญายังได้เลยด้วยซ้ำ แล้วค่อยมาไล่เบี้ยกันว่าคณะกรรมการคัดเลือกแบบของกองทัพเรือตรวจสอบเอกสารกันอย่างไร มีการเรียกให้อู่ CSOC ส่งเอกสารอนุญาตขายเครื่องยนต์ของเยอรมนีให้ตรวจสอบก่อนลงนามในสัญญาหรือไม่ รวมถึงคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตอนนั้นที่อนุมัติเซ็นสัญญาไป ต้องรับผิดชอบกันอย่างไรก็ค่อยมาว่ากัน
แต่ในความเป็นจริงจีนเป็นประเทศใหญ่ ที่ผ่านมาไม่เคยต่อเรือดำน้ำขายเรือดำน้ำให้ใครได้เลยนอกจากปากีสถานและไทย และไทยกับจีนยังมีผลประโยชน์ร่วมกันอีกมาก การจะแตกหักกันไปเพราะเรื่องเรือดำน้ำคงเป็นเรื่องที่เกินจำเป็น แต่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทย ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดที่รัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน ต้องยึดมั่นนั้น เราคิดว่าควรจะมีทางออก ดังนี้
- การยกเลิกสัญญาเรือดำน้ำนั้นดีที่สุดแล้ว เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และต่อให้รับมาก็จะมีปัญหาความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานและผู้อนุมัติ
- การยกเลิกสัญญาที่เหมาะสมคือ หยุดการจ่ายเงินที่ 8 พันล้านบาท เพื่อหยุดความเสียหาย ไม่ต้องลงทุนเพิ่มอีก และขอเงินคืน
- ถ้าขอคืนเป็นเงินสดไม่ได้ ซึ่งเราคาดว่าจีนจะไม่คืนเงิน การขอคืนเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง หรือ OPV จะสร้างความเสียหายน้อยกว่าการขอคืนเป็นเรือฟริเกตที่กองทัพเรือมีโครงการจะต่อในประเทศอยู่แล้ว และถ้าขอคืนเป็นเรือฟริเกตต้องจ่ายเงินให้จีนเพิ่มอีก 8 พันล้านบาท ซึ่งจะกลายเป็นยิ่งแก้สัญญาจีนยิ่งได้ประโยชน์
- ในกรณีที่ดีที่สุด ควรเป็นเรือ OPV ตัวเปล่า ไม่ติดอาวุธ เพื่อให้กองทัพเรือไปหางบประมาณมาติดอาวุธเองให้เป็นไปตามสมุดปกขาวของกองทัพเรือ ที่ต้องการให้ระบบอาวุธมีความเข้ากันได้ เพราะถ้าติดอาวุธมาก็จะไม่เข้ากับระบบอาวุธปัจจุบันของกองทัพเรืออยู่ดี
- เรือดำน้ำยังมีความสำคัญต่อประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาเริ่มโครงการเรือดำน้ำใหม่ โดยรอบนี้ต้องมี Offset หรือการตอบแทนทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ไม่ใช่การซื้อเรือดำน้ำแล้วไม่ได้อะไรตอบแทนทางเศรษฐกิจเลย
หวังว่าข้อเสนอนี้กระทรวงกลาโหมจะนำไปพิจารณา และหวังว่า สุทิน คลังแสง จะถือผลประโยชน์ของประเทศสูงสุดในการเจรจาครับ
ภาพ: Mark Schiefelbein / POOL / AFP