×

แจกเงินแบบจีน: ไม่ใช่โปรยเงินเฮลิคอปเตอร์มันนี่

11.10.2024
  • LOADING...

กระแสข่าวการแจกเงินของรัฐบาลจีนในช่วงก่อนวันชาติจีนที่ผ่านมาได้รับการพูดถึงอย่างมากบนหน้าสื่อหลายสำนักของไทย และมีการใช้คำศัพท์ที่ฟังดูน่าตื่นเต้น เช่น จีนแจกเงินสุดฉ่ำ หรือจีนแจกเงิน 7 แสนล้านรับวันชาติจีน รวมทั้งบางสื่อพยายามที่จะเปรียบเทียบกับมาตรการแจกเงินของรัฐบาลไทย เช่น จีนเอาบ้าง! แจกเงินประชาชน หรือจีนเอาด้วย! ไทย-จีน แจกเงินเหมือนกัน เป็นต้น

 

ในความเป็นจริงการแจกเงินแบบจีนในยุคสีจิ้นผิงไม่ใช่การแจกเงินในลักษณะ ‘เฮลิคอปเตอร์มันนี่’ บทความนี้จึงจะมาวิเคราะห์การแจกเงินแบบจีนในประเด็นต่างๆ เช่น จีนแจกเงินอย่างไร, แจกให้ใคร, หน่วยงานไหนรับผิดชอบ เป็นต้น โดยสรุปในแต่ละประเด็นดังนี้

 

ก่อนอื่นขอเริ่มจากประเด็นแรก เพื่อทำความเข้าใจว่าเฮลิคอปเตอร์มันนี่คืออะไร

 

โดยทั่วไปการแจกเงินในลักษณะเฮลิคอปเตอร์มันนี่จะเปรียบเสมือนการโปรยเงินจากเฮลิคอปเตอร์ เพื่อแจกจ่ายเงินที่หล่นลงมาสู่พื้นดินให้กับประชาชน เป็นการอัดฉีดแจกเงินจำนวนมากให้ถึงมือประชาชนโดยเร็ว เพื่อนำไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

สำหรับนโยบายดั้งเดิมในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่จะแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 50 ล้านคน โดยจะใช้งบประมาณราว 5.6 แสนล้านบาท จึงถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงินแจกให้เปล่าในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นเฮลิคอปเตอร์มันนี่

 

แต่การแจกเงินแบบจีนไม่ใช่เฮลิคอปเตอร์มันนี่ และที่สำคัญจีนในยุคสีจิ้นผิงจะไม่สนับสนุนการแจกเงินแบบถ้วนหน้า (Universal and Unconditional) เพราะการแจกเงินหรือแจกสิ่งของให้ประชาชน จนไม่ยอมทำงาน จะทำให้คนขี้เกียจ งอมืองอเท้า เฝ้ารอคอยการช่วยเหลือจากรัฐ สีจิ้นผิงมองว่าจะกลายเป็นปัญหาติดกับดักสวัสดิการ ดังนั้นจีนจะเน้นแจกเงินแบบมุ่งเป้า จะให้เงินช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มชาวจีนที่ยังคงยากจนข้นแค้น

 

ทั้งนี้ในเชิงวิชาการเฮลิคอปเตอร์มันนี่เป็นคำที่บัญญัติขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ คือ Milton Friedman โดยมีลักษณะสำคัญ คือ ธนาคารกลางพิมพ์เงินแจกให้ถึงมือประชาชนโดยตรง (ไม่ต้องผ่านกลไกดอกเบี้ยหรือใช้นโยบายการเงิน) และจำนวนเงินที่จะให้ประชาชนต้องมีสเกลขนาดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ ที่สำคัญการใช้นโยบายเฮลิคอปเตอร์มันนี่ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในกรณีที่การใช้เครื่องมือนโยบายการเงินอื่นๆ ล้มเหลว

 

ประเด็นที่สอง แจกเงินแบบจีนเป็นอย่างไร, แจกให้ใคร, หน่วยงานไหนรับผิดชอบ

 

ในช่วงก่อนวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางการจีนได้แจกเงินให้กับกลุ่มผู้เปราะบาง เช่น ชาวจีนที่ยากจนข้นแค้น, เด็กกำพร้า และผู้ที่ไร้บ้าน โดยหน่วยงานจีนที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงการคลัง และกระทรวงกิจการพลเรือนของจีน ได้ออกคำสั่งให้เร่งแจก ‘เงินอุดหนุนการดำรงชีพให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส’ ให้ครบภายในวันที่ 1 ตุลาคม และเป็นการแจกเงินแบบครั้งเดียวแบบมุ่งเป้า เพื่อบรรเทาความยากลำบากให้กับผู้ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง และในแง่วงเงินงบประมาณที่ใช้ในปีนี้ รัฐบาลจีนประกาศจัดสรรงบประมาณวงเงิน 1.54 แสนล้านหยวน เพื่ออุดหนุนและช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มผู้เปราะบาง

 

ทั้งนี้ตามข้อมูลของกระทรวงกิจการพลเรือน ประชากรจีนที่ยากจนข้นแค้น คือ มีรายได้น้อยกว่า 2.3 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.74 ล้านคน และกลุ่มเปราะบางในจีนที่จะได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนจากรัฐมีอยู่ประมาณ 40.4 ล้านคน

 

ที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลจีนในระดับมณฑลและท้องถิ่นยังได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้กับชาวจีนในท้องที่ของตน โดยใช้เงินงบประมาณของท้องถิ่นตนเอง เช่น รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ประกาศแจกคูปอง e-Coupon มูลค่าราว 500 ล้านหยวน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในเซี่ยงไฮ้ ผ่าน WeChat Pay โดยแบ่งเป็นการแจกคูปองสำหรับการรับประทานอาหารในร้านอาหาร รวม 360 ล้านหยวน, การอุดหนุนค่าที่พักในโรงแรม 90 ล้านหยวน, การให้ส่วนลดการชมภาพยนตร์ 30 ล้านหยวน และส่วนลดสำหรับกิจกรรมกีฬา เช่น การใช้บริการสระว่ายน้ำสาธารณะ อีก 20 ล้านหยวน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนในปีนี้ ได้แก่ บัณฑิตจบใหม่แต่ยังหางานทำไม่ได้ในช่วง 2 ปีหลังเรียนจบแล้ว โดยรัฐบาลจีนมีนโยบายสวัสดิการประกันสังคมให้แก่บัณฑิตจบใหม่กลุ่มนี้ เพื่อกระตุ้นการจ้างงานต่อไป

 

ประเด็นที่สาม จีนเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสม (Right Timing) ในการแจกเงินให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อซื้อใจประชาชนในวาระสำคัญ นั่นคือ วันชาติจีน

 

รัฐบาลจีนรอจังหวะเวลาในการส่งเงินช่วยเหลือให้ถึงมือชาวจีนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปใช้จ่ายในวาระวันชาติจีน คือ วันที่ 1 ตุลาคม และในปีนี้เป็นวาระพิเศษครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแสดงให้เห็นถึง ‘ความรักและความห่วงใยของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนที่มีต่อชาวจีนที่กำลังเดือดร้อน เผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิต’

 

ดังนั้นทางการจีนตั้งใจเลือกจังหวะเวลาในการมอบเงินอุดหนุนค่าครองชีพในวาระสำคัญเช่นนี้ เพื่อให้ชาวจีนได้มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันหยุดยาว 1-7 ตุลาคม หรือ Golden Week เพื่อหวังกระตุ้นกำลังซื้อ เร่งการบริโภค และบรรเทาความกังวล เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของชาวจีนให้กล้าใช้เงินมากขึ้น ไม่เน้นประหยัดอดออมมากเกินไป จนทำให้การบริโภคในจีนไม่คึกคัก ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนยังคงอึมครึมซึมเซาในปีนี้

 

มีข้อสังเกตว่ารัฐบาลจีนมักจะเลือกจังหวะเวลาในการมอบเงินช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้หรือผู้เดือดร้อนในช่วงวาระสำคัญของชาติ ตัวอย่างเช่น ในปี 2015 ในวาระครบรอบวันสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจีนแจกเงินอุดหนุนให้แก่ทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 คนละ 5,000 หยวน เป็นต้น

 

ประเด็นสุดท้าย การแจกเงินของจีนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการอัดฉีดบาซูก้าทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ให้เติบโตร้อยละ 5 ตามเป้าหมาย

 

สำหรับการแจกเงินให้กลุ่มผู้เปราะบางในครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการอัดฉีดบาซูก้าทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และเพื่อให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้สามารถขยายตัวเติบโตได้ตามเป้าหมายร้อยละ 5

 

ก่อนหน้าจะมีการประกาศแจกเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ รัฐบาลจีนก็ได้เร่งใช้ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวจีน และหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง เช่น ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางของจีนประกาศลดอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) และลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Reverse Repurchase Rate) ระยะ 7 วัน รวมทั้งนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน และลดเงินวางดาวน์เพื่อซื้อบ้านหลังที่ 2

 

นอกจากนี้ทางการจีนยังใช้นโยบายตลาดทุน เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้น เช่น การตั้งกองทุนพยุงตลาดหุ้น, การอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์และประกันสามารถเข้าถึงเงินทุนของธนาคารกลาง เพื่อนำไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ และธนาคารกลางจีนยังมีโครงการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ (Swap Facility) วงเงินเบื้องต้น 5 แสนล้านหยวน เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ กองทุน และบริษัทประกัน ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อสนับสนุนตลาดหุ้น เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในตลาดทุนของจีน

 

โดยสรุปรัฐบาลจีนต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก เพื่อที่จะประคับประคองเศรษฐกิจจีนในปี 2024 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ร้อยละ 5 รวมทั้งการแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ดี การแจกเงินแบบจีนไม่ใช่การเหวี่ยงแหโปรยเงินเฮลิคอปเตอร์มันนี่แบบสะเปะสะปะ แต่รัฐบาลจีนยังคงมีความระมัดระวัง ไม่ละเลงงบแก้ปัญหาแบบไร้ทิศทาง แต่จะยังคงเน้นดำเนินนโยบายแบบมุ่งเป้าที่ยึดโยงกับเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาประเทศ และเน้นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อไปนั่นเอง

 

ภาพ: Nicolas Asfouri / AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising