สภานิติบัญญัติของจีนได้ผ่านแผนอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 กันยายน) โดยจะเริ่มปรับเพิ่มอายุเกษียณของชาวจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 46 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้า และจะเป็นการปรับอายุขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะใช้ถึงปี 2040 จึงจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ
เป้าหมายสุดท้ายของแผน 15 ปีนี้คือการปรับเพิ่มอายุเกษียณสำหรับผู้ชายจาก 60 เป็น 63 ปี สำหรับผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานจาก 50 เป็น 55 ปี และสำหรับผู้หญิงที่ทำงานออฟฟิศจาก 55 เป็น 58 ปี
จีนกำลังเผชิญกับปัญหาแรงงานลดน้อยลงและงบประมาณเงินบำนาญที่ขาดแคลน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจได้อย่างมาก นักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับอายุเกษียณของประเทศ ซึ่งปัจจุบันอายุเกษียณของจีนจัดว่าต่ำที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2023 อายุขัยเฉลี่ยของคนจีนเพิ่มขึ้นเป็น 78.6 ปี จากประมาณ 44 ปีในปี 1960
อัตราการเกิดที่ต่ำและอายุเกษียณที่ค่อนข้างน้อยของปักกิ่ง ทำให้ประชากรวัยทำงานของจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง Erica Tay ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยมหภาคของ Maybank Investment Banking Group กล่าวว่า ประเทศจำเป็นต้องดึงแรงงานสูงอายุเข้ามา เมื่อตลาดแรงงานอาจหดตัวรุนแรงขึ้นในทศวรรษหน้า การเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้จะป้องกันไม่ให้การเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว
ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนเคยพิจารณาแผนปรับอายุเกษียณ แต่ได้ถอนออกไปหลังจากที่ประชาชนไม่พอใจ ทั้งนี้แผนนี้อาจไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและเป็นผลดีต่ออนาคตเศรษฐกิจของจีนในระยะยาว
นักวิเคราะห์มองว่า ปัญหาคนอายุยืน และเด็กเกิดใหม่น้อยในจีน ยังทำให้ระบบบำนาญของจีนต้องพึ่งพาแรงงานที่มีจำนวนลดลง เพื่อนำไปจ่ายเงินให้กับผู้เกษียณอายุที่เพิ่มมากขึ้นนั้น สิ่งนี้จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูป
Sheana Yue นักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford Economics กล่าวว่า การเพิ่มอายุเกษียณจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินกองทุนบำนาญของรัฐบาลท้องถิ่นได้ แม้ว่าเงินที่ไหลเข้าอาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่เงินที่ไหลออกจะล่าช้า ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมีเวลาแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณ
แผนปรับอายุเกษียณที่ใช้เวลา 15 ปีนี้จะถูกนำไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาศัยระบบการคำนวณที่ค่อนข้างซับซ้อน กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมของจีนได้เพิ่มเครื่องมือบางอย่างสำหรับให้ประชาชนตรวจสอบอายุเกษียณที่ระบุไว้บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งกล่าวในแถลงการณ์ว่า แผนนี้อาจให้การยกเว้นแก่คนบางกลุ่ม ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นและภูมิภาคตอบสนองต่อประชากรสูงอายุอย่างจริงจัง สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้คนเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือเริ่มต้นธุรกิจมากขึ้น ทั้งนี้จีนอาจเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวอีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษ 2030 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงินในกองทุนบำเหน็จบำนาญของจีนมีจำกัด
อ้างอิง: