×

เจาะปมสินค้าจีนทะลักไทย อีกปัจจัยฉุดเงินเฟ้อไทยติดลบ!

06.02.2024
  • LOADING...

ไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจีนกำลังส่งผ่าน ‘เงินฝืด’ ให้ประเทศไทย ท่ามกลางภาวะสินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้าประเทศ InnovestX คาด กนง. อาจลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ ไปสู่ระดับ 2% ภายในสิ้นปี หากเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด และเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง

 

วันนี้ (6 กุมภาพันธ์) ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Head of Economic Research หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เปิดเผยในรายการ MORNING WEALTH ว่า มีความเป็นไปได้ว่าไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว เนื่องจากตะกร้าสินค้าในหมวดสำคัญๆ กำลังลด เช่น ค่าเดินทาง ค่าบ้าน และค่าอาหารที่พบว่าลดลงในเกือบทุกกลุ่ม (Broadbase)

 

“เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อหรือไม่ ขึ้นอยู่แต่ละคำนิยาม แต่ InnovestX มองว่า ‘ความเสี่ยงเงินฝืด’ มีมากขึ้น เนื่องจากนอกจากมาตรการของภาครัฐแล้ว อีกส่วนก็มาจากอุปสงค์ (Demand) ที่อ่อนแอด้วย ถ้ามองประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ภาวะเงินฝืดก็มีความเป็นไปได้” ดร.ปิยศักดิ์กล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

จีนส่งผ่าน ‘เงินฝืด’ ให้ไทย อีกปัจจัยฉุด CPI ติดลบ

 

ดร.ปิยศักดิ์กล่าวอีกว่า มีปัจจัยที่ฉุดเงินเฟ้อไทยที่สำคัญอีกประการ คือการที่จีนประสบกับภาวะเงินฝืด แล้วส่งออกสินค้าในราคาที่ต่ำมาก สู่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งขาดดุลการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง

 

ตามข้อมูลล่าสุดของทางการจีน ระบุว่า CPI จีนเดือนธันวาคมติดลบ 0.3% ชะลอตัวจากติดลบ 0.5% ในเดือนพฤศจิกายน

 

ขณะที่ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้า ‘จีน’ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ในปี 2556 ของไทยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ (นำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าส่งออกไปจีน) โดยขาดดุลการค้าถึง 1,295,895 ล้านบาท (จำนวนนี้แยกเป็นการส่งออก 1.17 ล้านล้านบาท และนำเข้า 2.47 ล้านล้านบาท)

 

CPI ไทยจ่อติดลบต่อเนื่อง ‘อย่างน้อย’ อีก 3 เดือน

 

ดร.ปิยศักดิ์กล่าวอีกว่า มีความเป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะติดลบไปอีก 3 เดือน ‘เป็นอย่างน้อย’ เนื่องจากโมเมนตัมของค่าดัชนีผู้บริโภค (CPI) (ที่ไม่ใช่อัตราการเปลี่ยนแปลง) ลดลงต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้น ‘ค่อนข้างยาก’ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  1. เลขฐานที่อยู่ในระดับสูง
  2. มาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐยังคงอยู่
  3. การคาดการณ์ราคาน้ำมันที่จะชะลอตัวลงในครึ่งแรกของปีนี้ ตามความต้องการที่ชะลอตัวลง
  4. จีนยังคงส่งออกสินค้าราคาถูกเข้ามาอยู่
  5. ความต้องการในประเทศที่ยังอ่อนแอ

 

 

มีความเป็นไปได้ ‘มากขึ้น’ ว่าแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้

 

InnovestX ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มซึมเซามากขึ้น ขณะที่การนำเข้าเงินฝืดจากจีนจะทำให้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง อาจทำให้ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม (หรืออาจเริ่มลดในเดือนเมษายน โดยอาจมีการส่งสัญญาณในการประชุมวันที่ 7 กุมภาพันธ์)

 

“ภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกค่อนข้างมีความเสี่ยง ฉะนั้น InnovestX จึงมองว่า การลดดอกเบี้ยน่าจะช่วยเศรษฐกิจได้บ้าง” ดร.ปิยศักดิ์กล่าว

 

ดร.ปิยศักดิ์อธิบายอีกว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังปรับประมาณการ GDP ปี 2566 เป็นโต 1.8% และ 2.8% ในปี 2567 สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มองว่าการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 4 จะใกล้เคียง (In Line) กับไตรมาส 3 ซึ่งอยู่ที่ 1.5% สะท้อนให้เห็นว่าโมเมนตัมเศรษฐกิจยังไม่ค่อยดี ทำให้มีโอกาสเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุม กนง. รอบเดือนเมษายน 

 

อย่างไรก็ดี ต้องจับสัญญาณการประชุมในวันพรุ่งนี้ (7 กุมภาพันธ์) ว่า จะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยรอบไหน

 

ทั้งนี้ ธปท. ได้กำหนดวันแถลงผลการประชุม กนง. ประจำปีนี้ไว้ 6 ครั้ง ดังนี้

  • พุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567
  • พุธที่ 10 เมษายน 2567
  • พุธที่ 12 มิถุนายน 2567
  • พุธที่ 21 สิงหาคม 2567
  • พุธที่ 16 ตุลาคม 2567
  • พุธที่ 18 ธันวาคม 2567

 

การลดดอกเบี้ยจะช่วยเศรษฐกิจไทยอย่างไร?

 

ดร.ปิยศักดิ์กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยอาจช่วยทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก โดยหากเงินบาทอ่อนขึ้นก็จะช่วยการส่งออกได้ 

 

“ถ้าใน 1 เดือน เงินบาทอ่อนลง 1 บาท รายได้ที่เข้าประเทศไทยในรูปเงินบาทจะเพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน” 

 

ดร.ปิยศักดิ์เสริมอีกว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งเดียวอาจไม่มีผลมาก ดังนั้น กนง. อาจลดสัก 2 ครั้ง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่าทิศทางนโยบายการเงินจะเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น รวมไปถึงต้องขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยด้วย เพื่อจะเป็นการช่วยค่าใช้จ่ายของลูกหนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X