วานนี้ (16 มกราคม) สื่อท้องถิ่นของจีนรายงานว่า กองทัพเรือจีนได้ดำเนินการซ้อมรบ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญหน้าในพื้นที่แถบบริเวณทะเลจีนใต้ที่ทางการจีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำดังกล่าว ในขณะที่กลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีของสหรัฐอเมริกาก็ได้เริ่มปฏิบัติการทางทะเลในบริเวณน่านน้ำนี้ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
แหล่งข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าว Global Times ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงานโดยอ้างอิงคำแถลงการณ์ของกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ว่า กลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบินซานตงของกองทัพเรือจีนได้ดำเนินการซ้อมรบในพื้นที่แถบทะเลจีนใต้ เพื่อเตรียมเผชิญหน้า โดยเน้นการสู้รบเสมือนจริง ประกอบไปด้วยการฝึกซ้อมการสกัดกั้น การฝึกโจมตี พร้อมกับการป้องกันบนผิวน้ำ ในอากาศ และใต้น้ำอีกด้วย
ทางด้านกองทัพเรือสหรัฐฯ ชี้แจงว่า กลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี Nimitz ของพวกเขากำลังดำเนินการฝึกซ้อมในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางทหารตามปกติในบริเวณภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการกลาโหมของจีนกล่าวว่า กิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีของสหรัฐฯ ในบริเวณทะเลจีนใต้ ไม่ได้มีความสำคัญทางด้านการทหารมากขนาดนั้น อีกทั้งยังจะยิ่งยกระดับความตึงเครียดในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า เครื่องบินขับไล่ J-11 ของจีนได้สกัดกั้นเครื่องบินตรวจการณ์ลำหนึ่งบริเวณเหนือทะเลจีนใต้ โดยบินห่างจากเครื่องบิน RC-135 ในระยะเพียง 6 เมตรเท่านั้น และได้ทำการบินที่ไม่เป็นมิตร ละเมิดกฎความปลอดภัย ขณะที่ฝั่งกระทรวงกลาโหมของจีนได้ออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าวว่าเป็นการใส่ร้ายและกล่าวหาเกินจริง พร้อมระบุว่า ความจริงแล้วนักบินอเมริกันเองก็มีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากทำการบินในลักษณะที่อันตราย
นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กองทัพเรือจีนยังเปิดเผยอีกว่า ตนยังได้ขับไล่เรือนาวิกโยธินลำหนึ่งของสหรัฐฯ ที่รุกล้ำอย่างผิดกฎหมายเข้าไปในบริเวณน่านน้ำใกล้หมู่เกาะสแปรตลีในพื้นที่แถบทะเลจีนใต้อีกด้วย
โดยการเผชิญหน้าดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสของสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนฟิลิปปินส์ และเรียกร้องถึงเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้ พร้อมให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าผลักดันแคมเปญนี้ในระดับนานาชาติ เพื่อต่อต้านพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบ ในบริเวณน่านน้ำที่ยังคงมีข้อพิพาทระหว่างกัน
ภาพ: CFOTO / Future Publishing via Getty Images
อ้างอิง: