ภาคเอกชนจีนกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากการที่ ‘รัฐบาลจีน’ กระโดดเข้ามาคุมเข้มการทำธุรกิจที่มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือการเอารัดเอาเปรียบในด้านต่างๆ
โดยในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญของรัฐบาลจีนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้ App Store ต่างๆ ในประเทศ ถอดถอนแอปพลิเคชันของ Didi Chuxing สตาร์ทอัพที่ให้บริการเรียกรถโดยสารจำพวกแท็กซี่ หลังจากที่ Didi เพิ่งขาย IPO เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ไม่นาน โดยให้เหตุผลว่าบริษัทมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง
ถัดมาไม่นานนัก ทางการจีนก็ลงดาบ Tencent ด้วยการสั่งให้ยกเลิกการผูกขาดลิขสิทธิ์เพลงภายใน 30 วัน พร้อมสั่งปรับเงินอีกเป็นจำนวน 5 แสนหยวน หรือราว 2.5 ล้านบาท จากการเข้าซื้อกิจการ China Music ในปี 2016 ซึ่งเข้าข่ายการผูกขาดทางการตลาด
ล่าสุดไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลจีนออกคำสั่งให้สถานศึกษาและสถาบันกวดวิชาต่างๆ ของจีน ต้องเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเข้ามากำกับดูแลอย่างเข้มงวดของรัฐบาลจีน ทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องปรับตัวลดลงรุนแรง ส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกงที่ร่วงลงอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย
คำถามคือ การกวาดบ้านครั้งใหญ่ของทางการจีนในครั้งนี้ รัฐบาลจีนคาดหวังอะไร แล้วในมุมของผู้ลงทุนเอง ตลาดหุ้นจีนจะยังเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจอยู่หรือไม่ ในเมื่อทางการจีนสวมบทโหดเข้ามากำกับดูแลอย่างเข้มข้น
อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า รัฐบาลจีนกำลังส่งสัญญาณให้กลุ่มเทคโนโลยีรับรู้ว่าสุดท้ายแล้วทุกภาคธุรกิจต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ หลังจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนค่อนข้างเปิดเสรีสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐบาลจีนก็เริ่มเข้ามากำกับดูแล
โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เข้ามากำกับดูแลและออกกฎเกณฑ์การทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีค่อนข้างมาก เน้นการกำกับดูแลใน 3 เรื่อง ได้แก่
- เรื่องที่อาจกระทบเสถียรภาพของระบบการเงิน
- เรื่องความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security)
- เรื่องที่เกี่ยวกับประชานิยม อาทิ การป้องกันการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งการผูกขาดกระทบประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้เล่นรายเล็กรายน้อย
เป็นที่สังเกตได้ว่า การออกกฎเกณฑ์หรือการเข้ามากำกับดูแลภาคเทคโนโลยีที่ผ่านมานั้นส่วนมากแล้วจะเกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การเข้ากำกับดูแล Ant Financial (ช่วงปลายปี 2563) เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อระบบการเงิน, การจัดการตรวจสอบ Didi เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของข้อมูล และการออกคำสั่งให้เพิ่มค่าแรงสำหรับพนักงานส่งของของ Meituan ก็เป็นเรื่องประชานิยม
ส่วนกรณีล่าสุด การเข้มกฎที่จำกัดการดำเนินธุรกิจของภาคเทคโนโลยีการศึกษาและโรงเรียนกวดวิชา ก็เป็นการสร้างกฎเพื่อบรรเทาปัญหาของชนชั้นกลางของจีนที่ประสบปัญหาด้านค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับลูกหลานที่สูงมาก
“ปัญหาครอบครัวชนชั้นกลางส่วนใหญ่ของจีนคือการแบกรับค่าเล่าเรียนของบุตรที่ค่อนข้างสูง จนทำให้ชาวจีนเลือกที่จะไม่มีลูก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านประชากรเกิดใหม่ในอัตราต่ำตามมา ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างประชากรที่บิดเบี้ยวอย่างรุนแรงและอาจเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต”
สำหรับผู้ที่ยังคงสนใจลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีของจีนนั้น อาร์มกล่าวว่า ต้องพิจารณาลักษณะของแต่ละบริษัทและกิจการว่ามีส่วนใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องข้างต้น ซึ่งในระยะสั้น การออกกฎเกณฑ์เหล่านี้น่าจะกระทบกับการเติบโตของภาคเทคโนโลยีในจีน โดยจะไม่เติบโตหวือหวาเหมือนแต่ก่อน
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเชื่อว่าภาคเทคโนโลยีของจีนก็จะเริ่มปรับตัวกับกฎเกณฑ์พื้นฐานชุดใหม่เหล่านี้ได้ และในอนาคตรัฐบาลจีนก็น่าจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ มากขึ้น เพราะลักษณะการดำเนินนโยบายของจีนจะมีลักษณะการสลับระหว่างช่วงที่เข้มงวดและช่วงที่ผ่อนคลาย เพื่อเปิดให้มีการพัฒนานวัตกรรมและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ
“เรื่องที่ละเอียดอ่อนที่สุด มองว่าคือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและความปลอดภัยของข้อมูล” ดร.อาร์มกล่าวและเสริม “เนื่องจากรัฐบาลมองว่าข้อมูล (Data) เป็นปัจจัยการผลิตสำคัญในโลกยุคใหม่และในระบบสังคมนิยม รัฐต้องเป็นผู้กำกับปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็น ทุน ที่ดิน เทคโนโลยี แรงงาน และในโลกยุคใหม่ข้อมูลก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยการผลิตที่สำคัญเช่นกัน”
ขณะที่ ลิเลียน ลิ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพพ์ Chinese Characteristics มองว่าความเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนล่าสุดต่อธุรกิจเทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) เป็นการปรับสมดุลของพลวัตและไม่เชื่อว่ารัฐบาลจีนพร้อมที่จะทำลายบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของประเทศตัวเอง รัฐบาลเพียงแค่กำลังเตือนกลุ่มเทคโนโลยีถึงสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้
ด้าน ศรชัย สุเนต์ตา CFA กรรมการผู้จัดการ CIO Office บล.ไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า การเข้มกฎเกณฑ์ต่างๆ ของทางรัฐบาลจีนเป็นการจัดระเบียบและปรับโครงสร้างเชิงสังคมและธุรกิจ โดยจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นปี รัฐบาลจีนมีการเข้มกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือออกกฎระเบียบเพื่อป้องกันการผูกขาดทางทางธุรกิจ
ทั้งนี้ มองเป็นเรื่องที่ดีสำหรับโครงสร้างสังคมและการทำธุรกิจ เพราะการจัดระเบียบ ห้ามการผูกขาด จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและลดกำแพงในการเข้าถึงสิทธิและบริการพื้นฐานของประชาชนในประเทศ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบรายเล็ก รวมถึงผู้ประกอบการต่างประเทศ สามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ในระยะยาว
“ส่วนตัวมองว่าทำถูกแล้วในฐานะรัฐบาล เพราะความพยายามของจีนคือการลดการผูกขาดทางธุรกิจ แต่ถ้ามองในมุมตลาดทุน แน่นอนว่าย่อมได้รับผลกระทบระยะสั้น เพราะการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้มีปัจจัยเรื่องความไม่แน่นอนเกิดขึ้น นักลงทุนย่อมชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจน ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติก็ Neutral ตลาดหุ้นจีน เพื่อรอดูความชัดเจน” ศรชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม มองเป็นโอกาสในช่วงที่ดัชนีพักฐานหรือปรับฐานลงมาเพื่อเข้าลงทุนในระยะยาว ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าประเทศจีนรวมถึงตลาดหุ้นจีนยังไม่หมดเสน่ห์ ทั้งในด้านการเข้าทำธุรกิจและการลงทุน เพราะประเทศจีนมีขนาดใหญ่ ประชากรหนาแน่น กำลังซื้อหรือความต้องการจึงมีมากในหลายๆ ธุรกิจ
ด้าน ปิยะภัทร์ ภัทรภูวดล ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเข้มกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ลงมาถึงภาคธุรกิจเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะผลกระทบต่อตลาดทุน เพราะโดยปกติแล้วหากมีการควบคุมตลาดทุนหรือเศรษฐกิจ มักจะมุ่งไปที่การควบคุมสภาพคล่อง
ในมุมของตลาดทุนมองว่า ตลาดหุ้นจีนจะมี Regulatory Risk แบบนี้อีกเรื่อยๆ โดยเปลี่ยนอุตสาหกรรม ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศ จึงยังไม่ใช่จังหวะเข้าลงทุนในตอนนี้แม้ว่าดัชนีจะปรับลดลงมามาก เนื่องจากไม่รู้ว่าจะมีการเข้มกฎเกณฑ์ใดขึ้นมาอีก
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2021/07/23/us-listed-china-education-stocks-plunge-as-beijing-regulators-crack-down.html
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-27/china-tech-crackdown-xi-charts-new-model-after-emulating-silicon-valley?srnd=businessweek-v2
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-26/stock-market-china-doesn-t-care-how-much-money-investors-lose?sref=CVqPBMVg