×

ความเชื่อและการบูชา ‘เทพเจ้าจีน’ ความแนบแน่นที่สะท้อนสภาพ ‘ทุนนิยม’

31.01.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ชาวจีนขึ้นชื่อว่ามีความสามารถในการค้าขายและการลงทุนมาตั้งแต่สมัยโบราณ หากพิจารณาหยั่งรากลึกไปกว่านั้นถึงรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนที่เอื้ออำนวยให้กับระบอบทุนนิยม โดยมีหลักฐานจากความเชื่อในเรื่องของเทพเจ้าที่สนับสนุนความเป็นทุนนิยมที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมจีนมาอย่างยาวนาน

 

สวัสดีปีใหม่ หรือ กงสีฟาฉาย (Gong Xi Fa Cai 恭喜发财) คำคุ้นติดหูที่เรามักจะได้ยินช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือ ‘เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ’ (Chun Jie 春节) ซึ่งจะเริ่มช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี 

 

อย่างไรก็ตามประโยคมงคลนี้มีความหมายนัยยะซ่อนอยู่ที่หมายถึง ‘ยินดีด้วยที่คุณร่ำรวย’ ในยุคร่วมสมัย 

 

ความหมายของทุนนิยม ก็คือระบบเศรษฐกิจซึ่งเจ้าของเป็นเอกชนผู้ควบคุมการค้า อุตสาหกรรม และวิธีการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อทำกำไรสูงสุด ลักษณะสำคัญของทุนนิยมก็คือ การสะสมทุน ตลาดแข่งขัน และค่าจ้างแรงงาน 

 

ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมระบบเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่งทางธุรกิจการค้าโดยชนชั้นศักดินาและเอกชนที่เรียกว่า ‘นายทุน’ จะเป็นผู้ครอบครองทุนการผลิตและปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ซึ่งในวัฒนธรรมของจีนก็ปรากฏหลักฐานจากความเชื่อและสังคมที่ชี้ให้เห็นว่าสังคมจีนมีกลไกลการสร้างแรงจูงใจทำให้เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นชนชั้นนายทุน 

 

ชาวจีนได้ขึ้นชื่อว่ามีความสามารถในการค้าขายและการลงทุนมาตั้งแต่สมัยโบราณ หากพิจารณาหยั่งรากลึกไปกว่านั้นถึงรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน ที่มีความเอื้ออำนวยให้กับระบอบทุนนิยม โดยมีหลักฐานจากความเชื่อในเรื่องของเทพเจ้าที่สนับสนุนความเป็นทุนนิยมที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมจีนมาอย่างยาวนาน

 

แผ่นดินจีนนั้นมีความกว้างใหญ่ไพศาล หากจะกล่าวถึงเทพเจ้าจีนนั้นมีมากมาย เพราะในความเชื่อของจีน มีเทพที่เกี่ยวกับการสร้างโลก เทพในลัทธิเต๋า พระพุทธเจ้า และเทพท้องถิ่น 

 

อย่างไรก็ตามข้อน่าสังเกตที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญคือ เทพมีความแนบแน่นกับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน 

 

 

ภาพที่ 1 ภาพหนังสือเอกสารแห่งต้นฉบับ (书经/尚書) ตีพิมพ์ขึ้นใน ค.ศ. 1279 ภาพโดย White Whirlwind

 

เทพเจ้าด้านการเงิน จึงเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมจีนที่สามารถสืบรากฐานจากแนวคิดอู่ฟู ( Wu Fu 五福) ที่หมายถึงความสุข 5 ประการมาตั้งแต่ราชวงศ์โจว (1046 ปีก่อนคริสตกาล ถึง 256 ปีก่อนคริสตกาล) ในหนังสือเอกสารแห่งต้นฉบับ (Classic of Documents / Shu Jing 书经 ) หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า ช่างชู ( Shang Shu 尚書) ที่กล่าวถึงความสุขทั้ง 5 ประการ อันประกอบไปด้วย สุขภาพ ความมั่งคั่ง ชีวิตยืนยาว เกียรติยศ และความตายอย่างสันติ ที่มีความสัมพันธ์กับธาตุทั้งห้า (Wu Xing 五行) เปรียบเสมือนความสมดุลของชีวิตที่ต้องมาจากความคาดหวังต่อชีวิตในแง่ของสุขภาพและความมั่งคั่ง แนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเทพเจ้าที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านเงินทอง

 

ภาพที่ 2 เหวินฉายเสินเย่ ภาพจาก ผู้เขียน

 

เทพเจ้าที่เกี่ยวกับความมั่งคั่งก็มีมากมายปรากฏให้เห็นและเป็นที่นิยมกราบไหว้ และต้องมีอยู่ในชุมชน เทพเจ้าส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับการเงินและโชคลาภทางธุรกิจ เช่น เทพเจ้าท้องถิ่น ไชสิงเอี๊ยะ หรือ ฉายเสินเย่ (Cai Shen Ye 财神爷) คำว่า ฉาย (Cai 财) แปลว่า ทรัพย์สมบัติ, เสิน (Shen 神) แปลว่า เทพ และ เย่ แปลว่า ปู่ (Ye 爷) อันมีความหมายเชิงยกย่อง เป็นเทพที่ทุกชนชั้นนิยมกราบไหว้บูชา ซึ่งเป็นเทพองค์แรกที่ชาวจีนส่วนใหญ่นิยมกราบไหว้ เทพเจ้าฉายเสินเย่ สามารถแบ่งออกได้ 2 องค์ ซึ่งองค์แรกที่เราจะรู้จักกันคือ เหวินฉายเสินเย่ และ อู่ฉายเสินเย่ ซึ่ง 2 องค์นี้ต่างกันอย่างไร 

 

ภาพที่ 3 อู่ฉายเสินเย่ ภาพจาก ผู้เขียน 

 

โดยเริ่มจากองค์แรกที่เรามักจะเคยเห็นกันอยู่บ่อยคือ เหวินฉายเสินเย่ (Wen Cai Shen Ye 文财神爷) หรือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภสายบุ๋น จะเป็นภาพชายแก่มีเคราใส่ชุดขุนนาง โดยมือข้างหนึ่งจะถือทองตำลึงแท่ง (Yuan Bao 元宝) ส่วนมืออีกข้างหนึ่งถือม้วนผ้าเขียนอักษรมงคลว่า เจาฉายจิ้นเป่า (Zhao Cai Jin Bao 招财进宝) อันแปลว่า กวักเงินกวักทอง หรือถือไม้คทาวิเศษหรู่อี่ (Ruyi 如意)  

 

การไหว้เทพองค์นี้มีความเชื่อว่าจะทำให้ร่ำรวย ทรัพย์สินเงินทองไหลมาเทมา สนับสนุนธุรกิจการค้าเจริญรุ่งเรือง ส่วนเทพเจ้าอู่ฉายเสินเย่ (Wu Cai Shen Ye 武财神爷) หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภสายบู๊ มีลักษณะเป็นชายชราสวมชุดนักรบ หน้าตาดุดัน มือถือตะบองหรือกระบี่ ส่วนมืออีกข้างถือทองตำลึง และขี่เสือ หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าเทพองค์นี้คือเทพเจ้าเสือ เพราะขี่เสือ แต่ในความจริงนั้นเป็นเทพเรียกโชคลาภอีกองค์หนึ่ง ที่มีลักษณะดุดันเนื่องจากเทพองค์นี้มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับเทพเจ้าแห่งโชคลาภสายบุ๋น มีหน้าที่ติดตามหนี้สินและเฝ้าทรัพย์นั่นเอง 

 

ภาพที่ 4 อู่ลู่ฉายเสิน (五路财神) ภาพโดย Tao Bao

 

ในขณะที่สังคมเมืองที่มักจะเป็นเจ้าของกิจการและธุรกิจ ในสังคมชนบทและท้องถิ่นก็ยังมีเทพ เทพอู่ลู่เสิน (Wu Lu Shen 五路神) หรือ อู่ลู่ฉายเสิน (Wu Lu Cai Shen 五路财神) เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ซึ่งจะนิยมไหว้ตามจุดต่างๆ ตามทิศของบ้านคือ เหนือ ใต้ ออก ตก และกลาง ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนก็จะพบแต่ความร่ำรวย มีทั้งนิยมตั้งไว้ที่บ้านและเป็นรูปเคารพในศาล ลักษณะพิเศษของการขอพรเทพเจ้ากลุ่มนี้ คือการขอพรเทพเจ้าทั้งห้าไปพร้อมกันโดยเริ่มจากตำแหน่งกลาง และหันหน้าไปยังทิศทั้งสี่ทิศของบ้านหรือศาลเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต 

 

เทพจากที่มาจากความเชื่อที่ไม่ใช่ดั้งเดิมของจีนอย่างในศาสนาพุทธ สังคมจีนก็พยายามทำให้เทพเจ้าที่ตนนับถือให้กลายเป็นเทพที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทองอีกเช่นกัน เช่น พระสังกัจจายน์ (Mi Le Fo 弥勒佛 ) หรือ มี่เล่อโฝ ในภาษาจีนกลาง ส่วนในทางเถรวาทคือพระศรีอาริย์ (ศรีอริยเมตไตรย) เป็นพระโพธิสัตว์ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใหม่อันบังเกิดมาในอนาคตกาล ณ เวลานั้น เชื่อกันว่า สันติสุขอันแท้จริงจะบังเกิดขึ้นแก่มวลมนุษยชาติ

 

ในวัฒนธรรมความเชื่อแบบจีน สังกัจจายน์จะปรากฏรูปเป็นพระภิกษุที่มีลักษณะอ้วน พุงพลุ้ย มีใบหน้าที่ร่าเริงแจ่มใส สองหูยาวจรดบ่า ถือทองแท่งตำลึงเหมือนกับ ฉายเสินเย่ แต่พระสังกัจจายน์ในทัศนคติของชาวจีนถือว่าเป็นเทพด้านโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ พระสังกัจจายน์ได้รับการยกย่องให้เป็นพระผู้อุดมด้วยโภคทรัพย์ ซึ่งในคัมภีร์พระพุทธศาสนาไม่ได้มีการกล่าวถึงพระสังกัจจายน์ว่าเป็นเทพด้านโชคลาภทางการเงินใดๆ เพียงแต่กล่าวว่าในยุคของท่านโลกจะมีความสงบสุขร่มเย็น แต่ถูกคติความเชื่อของจีนดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งมักจะมีเรื่องเงินทองมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ

ภาพที่ 5 พระสังกัจจายน์ (弥勒佛) ภาพจาก Tao Bao 

 

สรุป 

วัฒนธรรมกับการนับถือเทพเจ้าจีนเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เราเห็นว่า แนวคิดแบบจีนที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุคโบราณส่งเสริมให้คนจีนมีความหวังและความคิดในการสร้างตนผ่านทางความมั่งคั่ง โดยมีเทพเจ้าที่เกี่ยวกับการเงินที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจีน จึงเป็นเหมือนกับแรงบันดาลใจและความหวังที่ถูกปลูกฝังให้เป็นค่านิยม เพื่อที่จะทำให้ชีวิตของตัวเองเปลี่ยนไปในทางที่ดีจากการทำธุรกิจหรือการค้าอันเป็นหัวใจสำคัญของระบอบทุนนิยม 

 

แม้ว่าจีนจะเคยเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในปี 1949 ทำให้ลักษณะของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของจีน มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในแบบสังคมนิยมสุดขั้ว ผลลัพธ์ของมันคือความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจ 

 

ต่อมาชนชั้นนำได้ตัดสินใจการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน (Gai Ge Kai Fang 改革开放) ที่เริ่มต้นขึ้นในสมัย เติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping 邓小平) (1978-1989) ทำให้ระบอบเศรษฐกิจของจีนนั้นมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และทำให้จีนเป็นประเทศทุนนิยมที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย หลายคนมองว่าสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเกิดจากการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง หากพิจารณาในแง่ของสังคมดั้งเดิมของจีนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมความเป็นทุนนิยมของจีนเช่นเดียวกัน 

 

อ้างอิง:

  • Huang Quanxin. (2003). Designs of Chinese Blessings: Longevity. 24 Baiwanzhuang Road, Beijing 100037, China. Sinolingua Book. 4-7.
  • ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล. (2553). เทพเจ้าสัญลักษณ์มงคล. บริษัทซีเอ็ดยูนิเคชั่น. หน้า 1-30.
  • สมชาย จิว. (2562). เกร็ดเทพเจ้าจีน. บริษัท ยิปซีกรุ๊ปจำกัด.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X