ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีนติดลบ 6.8% ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งเป็นการหดตัวรายไตรมาสครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1992 ที่เริ่มมีการบันทึกครั้งแรก สืบเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการผลิตเป็นอัมพาตและส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย
ตัวเลขติดลบดังกล่าวสูงกว่าโพลสำรวจนักวิเคราะห์ของ Reuters ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 6.5% จากที่เคยขยายตัว 6% ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว (ตุลาคม-ธันวาคม)
ปัจจุบันจีนกำลังพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน หลังหยุดชะงักไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเมืองอู่ฮั่น แต่ก็เกิดกระแสความกังวลตามมาเกี่ยวกับระบาดซ้ำระลอกที่สอง โดยผู้ป่วยใหม่ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
นักวิเคราะห์มองว่าบรรดาผู้กำหนดนโยบายกำลังเผชิญแรงกดดันในการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่การระบาดของไวรัสได้ฉุดดีมานด์ทั่วโลกให้ชะลอตัวลง ถึงแม้ว่าจีนอาจฟื้นตัวได้ก่อนประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังต้องพึ่งพาพลังขับเคลื่อนจากนอกประเทศเช่นกัน
ทั้งนี้รัฐบาลจีนเตรียมมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการบริโภค ซึ่งอาจทำให้จีนขาดดุลงบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ในรายงาน World Economic Outlook ฉบับเดือนเมษายนว่า เศรษฐกิจจีนอาจรอดจากภาวะถดถอยได้อย่างหวุดหวิดในปีนี้ แต่จะเติบโตชะลอลงเหลือ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1976 แต่ในปี 2021 เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดีด้วยอัตราการเติบโตถึง 9.2%
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://www.wsj.com/articles/china-set-to-report-plunge-in-first-quarter-gdp-11587086697
- https://www.france24.com/en/20200417-china-gdp-contraction-gross-domestic-product-coronavirus-covid-19-economy
- https://www.aljazeera.com/ajimpact/great-fall-chinas-economy-gdp-set-historic-plunge-200416042331706.html