สื่อทางการจีนอย่าง Global Times และ CGTN เผยแพร่รายงานความเห็นผู้เชี่ยวชาญ ชี้ผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่อ้างว่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจระบาดในเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2019 นั้น มีข้อบกพร่องมากมาย และเป็นผลวิจัยที่ไม่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ (Peer Review) พร้อมตอบโต้ว่า อาจเป็นอีกความพยายามของสหรัฐฯ เพื่อสาดโคลนใส่จีนที่เอาชนะสงครามการระบาดของไวรัสชนิดนี้ได้
ก่อนหน้านี้ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและบอสตัน ได้เปิดเผยผลสรุปการศึกษาและวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมลานจอดรถโรงพยาบาลในเมืองอู่ฮั่น โดยเปรียบเทียบระหว่างปี 2018 และ 2019 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเดือนสิงหาคม 2019 และเพิ่มสูงสุดในเดือนธันวาคม พร้อมทั้งอ้างสถิติการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตบนเว็บไซต์ Baidu ของจีนในช่วงเดือนสิงหาคมและธันวาคมพบว่า มีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการไอและท้องร่วง อันเป็นหนึ่งในอาการของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการระบาดของโรคโควิด-19 อาจเกิดขึ้นในอู่ฮั่นตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2019
อย่างไรก็ตาม CGTN ระบุว่า ผลศึกษาวิจัยดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์มากมายจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ ที่ตั้งคำถามถึงวิธีการวิจัยที่ไม่ถูกต้องและสมบูรณ์ ซึ่งในประเด็นแรกเรื่อง การสืบค้นข้อมูลอาการไอและท้องร่วงบนเว็บ Baidu นั้น ทางผู้บริหารของ Baidu ออกมาโต้แย้งว่า การค้นหาคำว่าท้องร่วงในช่วงเวลาที่ระบุนั้นลดลง
ขณะที่การสืบสวนของสำนักข่าว BBC ของอังกฤษ ซึ่งใช้เครื่องมือวิเคราะห์คำค้นหาของ Baidu ชี้ว่า การค้นหาคำว่า ‘อาการท้องร่วง’ ในภาษาจีนบนเว็บ Baidu นั้นเพิ่มขึ้นชัดเจน แต่คำว่า ‘ท้องร่วง’ นั้นมีการค้นหาลดลง
นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามถึงการเจาะจงเลือกเอาการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการท้องร่วงมาใช้เป็นข้อบ่งชี้เรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งยังอ้างข้อมูลวิจัยของโรงพยาบาลในอู่ฮั่น ที่ชี้ว่าอาการท้องร่วงเป็นอาการที่พบมากในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า อาการท้องร่วงนั้นเป็นเพียงหนึ่งในอาการทั่วไปของผู้ป่วยโควิด-19 ขณะที่นักวิจัยอังกฤษจัดอันดับอาการท้องร่วงเป็นอาการที่พบในกลุ่มผู้ติดโควิด-19 มากสุดเป็นอันดับ 7 จากการตรวจสอบผู้ติดเชื้อ 16,000 คน
ขณะเดียวกันพบว่าการสืบค้นข้อมูลอาการอื่นๆ ของโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ไม่มีการเพิ่มขึ้นแบบต่อเนื่องจนผิดสังเกต และสรุปได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการระบาดของโรคในช่วงดังกล่าว ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคืออาการไอ ที่ทีมวิจัยของฮาร์วาร์ดอ้างว่าอยู่ในเทรนด์การค้นหาที่เพิ่มขึ้น แต่ผลวิจัยเองกลับย้อนแย้งและให้คำตอบว่า อาการไอนั้นมีความผันผวนตามฤดูกาลและบังเอิญที่ปีนี้ตรงกับฤดูไข้หวัดใหญ่ระบาด
ในประเด็นที่สองเรื่องการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของลานจอดรถในโรงพยาบาลจงหนานและโรงพยาบาลอู่ฮั่น ถงจี้ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมืองอู่ฮั่น ช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา พบข้อบกพร่องร้ายแรงหลายประการ เช่น ภาพของลานจอดรถที่มีต้นไม้หรือเงาอาคารบัง ซึ่ง BBC ได้ทำการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบ และพบว่าภาพที่ได้นั้นไม่เพียงพอจะประเมินจำนวนรถยนต์ในลานจอดรถได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ที่โรงพยาบาลเทียนอิ้วพบว่า ลานจอดรถอยู่ชั้นใต้ดินทำให้ไม่สามารถนับจำนวนได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเทียมหลายคนให้สัมภาษณ์กับ Global Times ว่า ภาพถ่ายที่ใช้เปรียบเทียบปริมาณรถในลานจอดรถของโรงพยาบาลหลายแห่งในอู่ฮั่น ช่วงปี 2018 และ 2019 นั้นมาจากคนละมุมกัน โดยภาพจากโรงพยาบาลจงหนาน ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างของจำนวนรถในลานจอดระหว่างเดือนสิงหาคม 2018 และสิงหาคม 2019 อย่างชัดเจน พบว่ามุมมองภาพในปี 2018 แสดงให้เห็นตัวอาคารที่บังพื้นที่ส่วนใหญ่ของลานจอดรถ ขณะที่ในปี 2019 ซึ่งเป็นภาพจากมุมในแนวตั้ง แสดงให้เห็นรถที่จอดอยู่เกือบทั้งหมด
ขณะที่แพทย์ 3 คนจากโรงพยาบาลจงหนานและโรงพยาบาลอู่ฮั่น ถงจี้ ต่างก็ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างในผลวิจัยดังกล่าว ซึ่งระบุว่าโรงพยาบาลทั้งสองแห่งรับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดและท้องร่วงช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2019 สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันในปี 2018 และชี้ว่า หากข้อมูลในเอกสารวิจัยนั้นถูกต้อง สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ต้องเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ เนื่องจากโควิด-19 นั้นมีอัตราการแพร่ระบาดที่สูงมาก
“ผลวิจัยนี้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทั้งหมด หากสิ่งที่เอกสารวิจัยบอกนั้นเป็นความจริงว่าไวรัสมีการแพร่กระจายตั้งแต่สิงหาคม การระบาดของโรคโควิด-19 ก็จะต้องเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ เนื่องจากธรรมชาติในการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้นั้นสูงมาก” เผิงจื้อหย่ง ผู้อำนวยการแผนก ICU ของโรงพยาบาลจงหนานให้สัมภาษณ์กับ Global Times
อีกโรงพยาบาลที่ถูกนำมาเปรียบเทียบคือโรงพยาบาลแม่และเด็กหูเป่ย ซึ่งภาพดาวเทียมในปี 2018 แสดงให้เห็นว่าพื้นที่หน้าอาคารหลักนั้นแทบไม่มีรถ แต่ในช่วงเดียวกันของปี 2019 กลับมีรถจอดจำนวนมาก โดย Global Times รายงานข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่โรงพยาบาลยืนยันว่า ในปี 2019 นั้นมีการก่อสร้างขยายลานจอดรถ
ทั้งนี้ พอล ไดการ์ด ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวว่า การใช้ข้อมูลสถิติการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตและภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นปริมาณรถยนต์ในลานจอดรถของโรงพยาบาล เพื่อตรวจสอบการเกิดโรคระบาดนั้นเป็นไอเดียที่น่าสนใจและมีความถูกต้องอยู่บ้าง แต่เขามองว่าข้อมูลวิจัยที่ได้นั้นอาจบ่งชี้ได้เพียงความเชื่อมโยง แต่ไม่สามารถตรวจสอบสาเหตุแน่ชัดได้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: