×

ฝ่ามรสุมข่าวร้าย! จีนอัดฉีดเงินมหาศาล เศรษฐกิจไปต่อหรือแค่ประคองตัว?

08.09.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจจีน

วันนี้ผมจะมาชวนคุยเหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจจีนกันครับ หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมธนาคารกลางของจีน (PBOC) จึงต้องลดดอกเบี้ย สวนทางกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่กำลังเร่งขึ้นดอกเบี้ยและดึงสภาพคล่องกลับ พร้อมกับใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวด

 

ปีนี้เป็นอีกปีที่ตลาดหุ้นจีนเผชิญมรสุมข่าวร้ายต่างๆ ที่พัดกระหน่ำไม่ยั้ง ล่าสุดประเทศจีนเกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 150 ปี ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าภายในประเทศ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดที่ยังไม่จบสิ้นง่ายๆ ล่าสุดมีหลายเมืองที่ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ทั้งที่เศรษฐกิจเพิ่งกลับมาฟื้นตัวได้ไม่กี่เดือน หลังรัฐบาลจีนประกาศคลายล็อกดาวน์เมื่อกลางปีที่ผ่านมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


จีนเสี่ยงเกิดวิกฤตการณ์ฟองสบู่อสังหาลามสู่ภาคการเงิน คาด GDP โตต่ำ

มรสุมยักษ์ลูกเก่าก็ยังวนเวียนโถมใส่จีนเป็นระลอกๆ นั่นก็คือ ‘วิกฤตการณ์ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีน’ ที่กำลังถูกมองว่าจะลุกลามไปสู่ภาคการเงินหรือไม่ ทั่วโลกกำลังจับตาการบริหารจัดการปัญหานี้ของรัฐบาลจีน เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 โลก จะถลาลงแบบ Soft Landing หรือ Hard Landing

 

วิกฤตการณ์ฟองสบู่อสังหาในจีนเริ่มมาจากปีที่แล้ว หากจำกันได้ บริษัท Evergrande ขาดสภาพคล่องทางการเงินและผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ แม้รัฐบาลจีนจะพยายามเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่สถานการณ์ยังบานปลายต่อเนื่อง ปัญหาโครงการบ้านที่สร้างไม่เสร็จ ผู้ซื้อบ้านไม่ยอมจ่ายเงินงวดผ่อนในหลายๆ โครงการอสังหา ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางอีกหลายแห่งขาดสภาพคล่องเช่นกัน ขณะที่หุ้นกู้สกุลดอลลาร์ของบริษัทอสังหาราคาร่วงระเนระนาด และบริษัทบางแห่งไม่สามารถระดมทุนใหม่ได้ หรือหากระดมทุนใหม่ก็มีต้นทุนที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงเป็นพิเศษ

 

สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับโครงการต่างๆ ของบริษัทอสังหาก็ถูกจับตามองถึงความเสี่ยงปัญหาหนี้เสีย หรือ NPL ที่จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยปัญหาขาดสภาพคล่องหากบริษัทอสังหาไม่สามารถชำระหนี้ ลามไปถึงปัญหาที่น่ากลัวคือ ความเชื่อมั่นที่ลดลงจนประชาชนผู้ฝากแห่กันมาถอนเงิน นี่เป็นประเด็นใหญ่ที่โลกเกาะติดอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลจีนจะรับมือกับวิกฤตนี้ไหวแค่ไหน?

 

เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนมีสัดส่วนของภาคอสังหาสูงราว 30% ของขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งประเทศ ที่สำคัญภาคอสังหายังเชื่อมโยงไปกับภาคธุรกิจต่างๆ ค่อนข้างมากเป็น Supply Chain นำโดยภาคก่อสร้างหรือผู้รับเหมาฯ วัสดุก่อสร้างต่างๆ สินค้าตกแต่งบ้าน เป็นต้น

 

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ฟองสบู่อสังหาที่อยู่ระหว่างแก้ปัญหาและผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะจากมาตรการ Zero COVID ที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์เมืองใหญ่ๆ เป็นระยะตั้งแต่ไตรมาส 2 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ล้วนกดดันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2565 นี้ สะท้อนจากตัวเลข GDP ขยายตัวสูง 4.8% ในไตรมาสแรก แต่ในไตรมาส 2 นี้ GDP กลับเติบโตเพียง 0.4% จึงเป็นที่มาที่เราได้เห็นทางการจีนใช้นโยบายผ่อนคลายทั้งมาตรการทางการเงินและการคลังแบบสอดประสาน เพื่อให้ GDP ปีนี้ไปถึงเป้าหมายที่ 5.5%

 

นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักวิจัยต่างๆ ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ของจีนลดลง โดย IMF คาด GDP จีนเติบโต 3.3% ในปี 2565 และขยายตัว 4.6% ในปี 2566 ค่าย Goldman Sachs ได้ปรับลด GDP จีนปี 2565 เหลือ 3% จากเดิม 3.3% ค่าย Nomura ปรับลดคาดการณ์ GDP เหลือ 2.8% จากเดิม 3.3%

 

เร่งลดดอกเบี้ย-อัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านหยวน กระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจ 

ในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่จีนได้ดำเนินการแก้ปัญหาไปแล้วคือ ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ต่อเนื่องจากปีที่แล้วมาถึงปีนี้ ล่าสุดประกาศจัดเงินพิเศษเข้ามาช่วยเหลือโครงการที่มีปัญหาสร้างไม่เสร็จ โดยจัดตั้งสินเชื่อพิเศษ 2 แสนล้านหยวน เพื่อช่วยให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้

 

ทั้งนี้ วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี หรือ LPR (Loan Prime Rate) ประเภท 1 ปี ลง 0.05% จาก 3.70% เหลือ 3.65% และประเภท 5 ปี ลง 0.15% จาก 4.45% สู่ระดับ 4.30% ซึ่งก่อนหน้าไม่นานเพิ่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะกลาง หรือ Medium-Term Lending Facility (MLF) ประเภท 1 ปี สู่ระดับ 2.75% เป็นการสะท้อนว่า ทางการจีนใส่ใจเรื่องสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ 

 

ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ ออกมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น และวางแผนรับมือระยะยาว โดยแก้ปัญหาระยะสั้นเรื่องภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ปี 2408 ที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในเขื่อน ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ส่งผลให้มณฑลเสฉวนและมณฑลใกล้เคียงเกิดภาวะขาดแคลนไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมานั้น ทางการจีนพยายามแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยการให้ทุกภาคส่วนประหยัดการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด โดยตึกสูงในเซี่ยงไฮ้ต้องปิดไฟตอนกลางคืน รวมถึงป้ายโฆษณาด้วย  

 

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ได้ประกาศอัดฉีดเงินมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน เพื่อลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ ประกอบด้วย 

 

  • ด้านพลังงานหมุนเวียน จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า 100 GW ภายในปี 2566 และเพิ่มขึ้นอีก 450 GW 
  • ด้านระบบชลประทาน เตรียมสร้างคลองส่งน้ำยาวกว่า 200 กิโลเมตร เพื่อสร้างสมดุลการใช้น้ำ และลงทุนในโครงการคลองส่งน้ำ เขื่อน และอ่างเก็บน้ำด้วยเม็ดเงินสูงถึง 800,000 ล้านหยวน การวางผังเมืองและสิ่งแวดล้อม ซึ่งวางผังเมืองที่ทันสมัย เน้นการสร้างพื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำมากขึ้น 
  • ด้านรถไฟความเร็วสูง ตั้งเป้าสร้างโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงแตะ 70,000 กิโลเมตรภายในปี 2578 และระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เตรียมสร้างศูนย์ข้อมูลทั่วประเทศมูลค่ารวมกว่า 400,000 ล้านหยวน

 

การลงทุนโครงการใหญ่เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า จีนยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง ถึงแม้ว่าจะมีข่าวร้ายเกิดขึ้นบ้าง แต่รัฐบาลจีนก็ตัดสินใจและแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ผมเชื่อว่าช่วงที่ยากลำบากของจีนจะผ่านไปได้เร็วๆ นี้

 

ทั้งนี้ Bloomberg ได้รวบรวมตัวเลขเม็ดเงินสำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน พบว่า มีจำนวนเม็ดเงินรวมกันสูงถึง 35.5 ล้านล้านหยวน โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินไว้เป็นกระสุนสำรอง เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

จับตารัฐบาลจีนจะใช้วิธียื้อปัญหาหรือล้างปัญหาให้หลุดจากวิกฤต

แต่ก็ยังมีคำถามว่า สิ่งที่ทางการจีนพยายามดำเนินการ ทั้งการผ่อนปรนดอกเบี้ยและอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ จะทำให้จีนหลุดจากวิกฤตการณ์ฟองสบู่อสังหานี้ได้หรือไม่ ปัญหาจะลุกลามไปยังภาคการเงินหรือไม่ และต้องใช้เวลากี่ปีจึงฟื้น ล้วนเป็นเรื่องที่คาดเดายากจริงๆ เนื่องจากนับวันสถานการณ์โลกมีแต่ความไม่แน่นอนสูงขึ้นตลอด

 

มีตัวอย่างในอดีตที่หลายๆ ประเทศเคยเกิดภาวะวิกฤตการณ์ฟองสบู่อสังหา ในกรณีของสหรัฐฯ เคยเกิดวิกฤติ Subprime ในช่วงก่อนปี 2551 คงจำกันได้ วิกฤตการณ์ครั้งนั้นส่งผลกระทบไปทั่วโลกและเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ในช่วงเวลานั้นสหรัฐฯ ใช้วิธีแก้วิกฤตการณ์นี้ด้วยการให้ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร เจ้าหนี้หุ้นกู้ และผู้ฝากเงิน ร่วมรับผิดชอบความเสียหายในบางส่วน และสุดท้ายรัฐบาลก็รับภาระหนี้เสียต่างๆ ผ่านงบประมาณฯ ซึ่งเป็นการล้างปัญหาโดยใช้เวลากว่า 5 ปีที่สถานการณ์เศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น

 

ประเทศญี่ปุ่นก็เคยเกิดวิกฤตการณ์ Japan Asset Price Bubble ในช่วงก่อนปี 2534 โดยธุรกิจในภาคอสังหาขยายตัวสูงมาก ตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งขึ้นรวดเร็วจนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ดัชนี Nikkei ทะยานสูงถึง 34,000 จุด จนเมื่อรัฐบาลเข้ามาเบรกการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและอสังหาไม่ให้ร้อนแรงจึงดิ่งลงมา หลังฟองสบู่อสังหาแตก เศรษฐกิจญี่ปุ่นพังทลาย และรัฐบาลไม่เข้ามาจัดการปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงิน จึงกลายเป็นปัญหายืดเยื้อและเกิดเป็นหนี้เสียที่ฝังตัวอยู่ในระบบ เป็นที่มาของเศรษฐกิจที่ตกต่ำนานนับ 10 ปีได้ จนถูกเรียกว่าเป็นช่วง ‘ทศวรรษที่หายไป’ หรือ ‘Lost Decade’ ญี่ปุ่นต้องมีต้นทุนที่สูงกว่าจะหลุดจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้นมาได้

 

อีกประเทศที่ใกล้ตัวที่สุดคือประเทศไทย ก็เคยเกิดวิกฤตการณ์ฟองสบู่อสังหาเช่นกัน ในปี 2536 ที่ฟองสบู่อสังหาของไทยแตก ลากตลาดหุ้นไทยดิ่งลงอย่างแรงในปี 2537 และตามมาด้วยการถูกโจมตีค่าเงินบาท นำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นที่จดจำของโลก ซึ่งรัฐบาลไทยใช้วิธีแก้ปัญหาแบกรับปัญหาเหมือนสหรัฐฯ คือ ล้างหนี้เสียให้กับสถาบันการเงิน ทั้งตัดหนี้สูญ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การใส่เงินเพิ่มทุนใหม่ให้กับสถาบันการเงินเพื่อให้ดำเนินงานต่อไป ใช้เวลาราว 4-5 ปีกว่าที่ไทยจะหลุดจากวิกฤตการณ์ใหญ่ครั้งนั้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้ในปัจจุบัน

 

สำหรับประเทศจีนมีการคาดหวังว่าจีนอาจเลือกวิธีล้างปัญหาด้วยการให้ภาคอสังหาและสถาบันการเงินเจรจาและเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ การตัดหนี้ออกจากบัญชี หรือ Hair Cut เพื่อให้จบได้เร็ว รัฐบาลจีนที่มีเงินคงคลังแข็งแกร่งอาจยอมเข้ามาซื้อหนี้เสียและใส่เงินเพิ่มทุนใหม่ เพื่อให้สถาบันการเงินเดินหน้าต่อไปได้ หากรัฐบาลจีนเลือกจะล้างปัญหารอบนี้ให้จบ โดยยอมให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าปกติในช่วงระยะเวลาสั้นๆ คาดว่าราว 3 ปีก็น่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติที่ GDP พลิกเติบโตสูงอีกครั้งได้ในระยะยาว

 

ส่องอนาคต หลังจีนแซงสหรัฐฯ ขึ้นผู้นำด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์

กระแสการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ ดูเหมือนว่าจะไม่ได้จำกัดในด้านการค้าเท่านั้น ล่าสุดจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านงานวิจัย ทั้งจำนวนงานวิจัยและจำนวนการอ้างอิง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับจีน โดยในปี 2562 จีนได้สร้างงานวิจัยกว่า 407,181 ชิ้น ในขณะที่สหรัฐฯ มีงานวิจัยรวม 293,434 ชิ้น โดยงานวิจัยที่ถูกอ้างอิงมากที่สุด 10% แรกของโลก เป็นงานวิจัยจากจีนถึง 26.6% แซงหน้าสหรัฐฯ ที่ 21.1% 

 

รายงานดังกล่าวถูกเปิดเผยในวันเดียวกับที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงนามในร่างกฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และวิทยาศาสตร์ หรือ CHIPS and Science Act มูลค่ากว่า 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

ความสำคัญของงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มีมากมาย เพราะเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจีนให้ความสำคัญกับการศึกษาและงานวิจัยมาก โดยมองว่าการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและองค์ความรู้จะช่วยให้ประเทศสามารถก้าวเป็นผู้นำโลกได้ และด้วยงานวิจัยที่ถูกอ้างอิงมากขึ้นก็แสดงถึง ‘การยอมรับจากนานาชาติ’ ด้วย

 

ที่สำคัญจีนยังวางเป้าหมายชัดเจนสู่การเป็น New Economy ด้วยบทบาทการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิต หากมีการยกระดับอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม จะยิ่งช่วยให้จีนเป็นประเทศผู้นำอย่างแท้จริง และมีศักยภาพการเติบโตสูงในระยะยาว

 

สำหรับปัญหาความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งมวยคู่หลักระหว่าง ‘รัฐบาลจีนกับรัฐบาลสหรัฐฯ’ ก็ยังเป็นปัญหาที่คาราคาซังและพร้อมปะทุได้ทุกเมื่อ แน่นอนว่าสถานการณ์การค้ากับสหรัฐฯ มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่จะเกิดข่าวร้ายขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ในช่วงหลายปีก่อนหน้าที่ทั้งคู่จะขัดแย้งกันกลับพบว่า ภาคธุรกิจเอกชนของจีนสามารถทำมาหากิน มีรายได้และกำไรเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง

 

สะท้อนจากข้อมูลบริษัทเอกชน 500 อันดับแรกมีรายได้รวม 235 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นเกือบ 33 ล้านล้านหยวนจากปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 16.32% ขณะที่บริษัทที่มีสินทรัพย์มากกว่า 100,000 ล้านหยวน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 18 บริษัทจากปี 2563

 

ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนจึงถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของภาคธุรกิจเอกชนที่แข็งแกร่ง โดยในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนบริษัทเอกชนเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัว จาก 10.85 ล้านบริษัทในปี 2555 มาเป็น 44.57 ล้านบริษัทในปี 2564 สะท้อนว่า ภาคเอกชนจีนมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะรัฐบาลปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้นด้วย

 

ในระยะข้างหน้าการจะขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของจีนจะเป็นเป้าหมายที่เกิดขึ้นได้จริง เพราะทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างเร่งพัฒนากันอย่างเต็มที่ จีนกำลังจะเป็นประเทศที่น่าจับตามองในทุกภาคส่วน และมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่แซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกได้ ประมาณปี 2576 หรืออีก 11 ปีข้างหน้านี้แล้ว

 

กลยุทธ์ลงทุน DCA ลงทุนหุ้นจีนในระยะยาว ดันพอร์ตเติบโต

ผมยังคงมีความเชื่อมั่นว่า จีนมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวครับ และหากเหลียวมองภาพรวมของตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวลงแรงในช่วงปี 2564 ต่อเนื่องจนถึงปีนี้ ดัชนี CSI 300 ได้ตกลงมาต่ำที่สุดในช่วงเดือนเมษายน 2565 หลังจากจีนกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ตามนโยบาย Zero COVID แต่เมื่อมีการเปิดประเทศช่วงเดือนพฤษภาคม ตลาดหุ้นพลิกกลับมาฟื้นตัวแรง โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.62% แม้จะเริ่มแผ่วลงในเดือนต่อๆ มา 

 

ล่าสุดเดือนสิงหาคม ดัชนี CSI 300 ลดลง 0.07% เพราะสะดุดข่าวร้ายภัยแล้งและขาดแคลนไฟฟ้า (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565) ส่วนตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ทำให้ดัชนียังลดลงราว 17.44% 

 

ใครเชื่อมั่นการลงทุนในหุ้นจีนระยะยาวเหมือนผม สามารถใช้กลยุทธ์ลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Average) หรือพูดง่ายๆ คือ ลงทุนแบบ ‘ถัวเฉลี่ยต้นทุน’ ซึ่งการลงทุนสม่ำเสมอและให้เงินทำงานด้วยตัวมันเอง จะทำให้พอร์ตลงทุนไปถึงเป้าหมายผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

 

ผมมีเหตุผลที่ควร DCA เพื่อการลงทุนอย่างสบายใจ เพราะ

 

  1. DCA เป็นการลงทุนที่ขจัดอารมณ์และความรู้สึกในการลงทุนออกไป ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จ
  2. สามารถทยอยใส่เงินลงทุนเป็นรายเดือนตามความสามารถในการออมที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นคุณเพิ่งเริ่มทำงาน มีเงินเดือนน้อย ก็สามารถลงทุนน้อยได้ แต่ลงทุนทุกเดือน
  3. เป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่องในสินทรัพย์นั้นๆ ทำให้มีวินัยในการลงทุน
  4. เป็นการลงทุนอย่างมีระบบอัตโนมัติไปเรื่อยๆ
  5. การลงทุนระยะยาวทำให้ไม่หลงไปกับความผันผวนของตลาดในระยะสั้นจากข่าวร้ายรุมเร้า เท่ากับช่วยขจัดความผันผวนในระยะสั้นไปในตัว

 

การลงทุนแบบ DCA ถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะเงินที่ใส่เข้ามาทุกงวดจะลงทุนในทุกสภาวะตลาด ไม่ว่าหุ้นหรือ ETF ที่ลงทุนจะอยู่ในขาขึ้นหรือขาลง ช่วยให้ไม่เสียโอกาสในพอร์ตลงทุน ทั้งส่วนต่างราคาสินทรัพย์หรือเงินปันผล และไม่ต้องมานั่งจับจังหวะตลาด ซึ่งก็มีน้อยคนมากที่จะคาดการณ์ทิศทางตลาดถูก  

 

ผมเชื่อมั่นว่าการลงทุนแบบ DCA ตอบโจทย์การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนลงทุนและเฉลี่ยความเสี่ยงไปด้วยกัน เป็นวิธีการที่สบายใจ ไม่ต้องคิดมาก และง่ายที่สุดแล้ว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising