Global Times สื่อของทางการจีน รายงานอ้างอิงความเห็นของนักวิเคราะห์ในจีนและไทย โดยระบุว่า ทั้งหมดต่างเห็นตรงกันว่าการลงทุนของจีนในไทยปี 2024 จะยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะทำสถิติสูงสุดระลอกใหม่ หลังจากที่จีนกลายเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของไทยในช่วงปีที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า นับตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาพบบริษัทจดทะเบียนระดับ A-Share สัญชาติจีนอย่างน้อย 14 แห่ง ได้ประกาศว่าจะจัดตั้งสาขา สร้างโรงงานใหม่ ขยายโรงงานที่มีอยู่ หรือเพิ่มทุนในประเทศไทย ท่ามกลางกระแสการลงทุนของจีนที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว
หนึ่งในนั้นคือ ZYNP Corp ผู้ผลิตส่วนประกอบเครื่องยนต์สันดาปจากมณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของจีน ที่ออกมาเปิดเผยเมื่อวานนี้ (3 มกราคม) ว่า บริษัทกำลังลงทุน 210 ล้านหยวนเพื่อสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย
ขณะที่ Circuit Fabology Microelectronics Equipment Co Ltd บริษัทแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) ที่ตั้งอยู่ในมณฑลอันฮุย ทางตะวันออกของจีน ก็ประกาศในวันเดียวกันว่า บริษัทกำลังลงทุน 100 ล้านหยวนในประเทศไทย เพื่อจัดตั้งสาขา ซื้อที่ดิน และสร้างโรงงาน
สวีเกินหลัว รองประธานบริษัท อมตะ คอร์ป ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย แสดงความเห็นว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาบรรดาชุมชนธุรกิจของจีนได้แสดงให้เห็นถึงความหลงใหลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนในประเทศไทย โดยมีคณะผู้แทนธุรกิจส่วนหนึ่งต่างทยอยเข้ามาเยี่ยมชมในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครของตนอย่างไม่ขาดสาย
‘EV และอิเล็กทรอนิกส์’ อุตสาหกรรมเป้าหมาย
ด้านนักวิเคราะห์ในจีนและไทยต่างมองว่า การลงทุนของจีนที่เพิ่มขึ้นนั้นได้รับแรงหนุนจากอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการสนับสนุนการลงทุนต่างชาติของรัฐบาลไทย บวกกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ จนทำให้จีนตกเป็นเป้ากีดกันทางการค้า
นอกจากนี้ทั้งจีนและไทยต่างมองเห็นเป้าหมายเดียวกันในการสร้างอนาคตที่การค้าและการลงทุนเจริญรุ่งเรือง มีเสถียรภาพ และเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ขณะเดียวกันการที่จีนให้ความสำคัญกับการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นการลงทุนของบริษัทจีนในไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน
วิเคราะห์ความน่าดึงดูดของไทยในสายตาชาวจีน
เล่น เซียวหัว ผู้เชี่ยวชาญอาเซียนที่ Guangxi Academy of Social Sciences ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน กล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยยึดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสูงสุด ทำให้มีเครื่องมือนโยบายในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงจีนด้วย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยออกมามากมาย ซึ่งนโยบายเหล่านั้นดึงดูดนักลงทุนจากจีนได้เป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้นนักธุรกิจและนักลงทุนจีนยังถูกดึงดูดจากระบบซัพพลายเชนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ของไทย โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และความได้เปรียบด้านต้นทุนที่สมเหตุสมผล รวมถึงความสะดวกสบายที่ได้รับจากข้อตกลงการค้าหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022
ขณะที่ หวงบิน หัวหน้าแผนกจีนประจำศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แบรนด์รถยนต์พลังงานใหม่ NEV ของจีนเกือบทั้งหมดมีการลงทุนในประเทศไทยในปี 2023 ที่ผ่านมา โดยมีเหตุผลหลักจากแรงจูงใจที่ได้รับจากรัฐบาลไทย เช่น นโยบาย EV 3.5 ที่เสนอเงินอุดหนุนสำหรับการซื้อ NEV หรือนโยบายภาษีเป็นศูนย์สำหรับเครื่องมือและเครื่องจักรใช้แล้วที่นำเข้า เป็นต้น
นอกจากนี้หวงบินยังมองว่า ไทยยังจะได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก เนื่องจากส่งผลให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะบริษัทแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ของจีนจำนวนมากเข้ามาลงทุนในไทย
ยิ่งไปกว่านั้นการที่จีนและไทยเพิ่งจะมีนโยบายยกเว้นวีซ่าร่วมกัน ก็จะยิ่งส่งเสริมการค้าและการลงทุนทวิภาคีของทั้งสองฝ่าย โดยการเติบโตจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ดังนั้นเมื่อมองจากปัจจัยรวมทั้งหมด นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่า จีนจะยังคงเป็นแหล่งการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของไทยในปีนี้ต่อเนื่องจากปี 2023 แน่นอน โดยนักวิเคราะห์จีนมองว่า ในปี 2024 นอกจากไทยแล้ว เวียดนามและอินโดนีเซียจะเป็นจุดเด่นของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีน
อ้างอิง: