×

ทูตจีนตอบเรื่องทุนจีน ทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ไทย-จีนครบรอบ 50 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
24.11.2024
  • LOADING...

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด ได้รับโอกาสสัมภาษณ์ หานจื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ผ่านรายการ The Secret Sauce เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2024 โดยท่านทูตตอบคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีน กระแสความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจจีน รวมถึงการไหลทะลักของสินค้าจีน และการแก้ปัญหาทุนสีเทา

 

Q: จีนมองประเทศไทยอย่างไร และในโอกาสเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีนครบรอบ 50 ปี คิดว่าความสัมพันธ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

A: ยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาสัมภาษณ์กับคุณเคน ก็อย่างที่บอกครับ ปีหน้าเป็นปีที่มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน เนื่องจากเป็นปีที่ความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปี

 

จากการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีนตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เรามองเห็นว่าทั้งสองชาติเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีมิตรไมตรี มีความเชื่อมั่น และเอื้อเฟื้อต่อกันมาอย่างยาวนาน หากย้อนมองไปไกลอีกหน่อย พบว่าประวัติศาสตร์การเจริญสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างจีนกับไทยมีมามากกว่า 1,000 ปี ท่ามกลางประวัติศาสตร์อันยาวนานนี้ มิตรไมตรี ความเอื้อเฟื้อ และความร่วมมือ เป็นรากฐานความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ ซึ่งในปัจจุบันความสัมพันธ์ของจีนและไทยอยู่ในสถานะที่ดีและดียิ่งๆ ขึ้น โดยเฉพาะในปี 2022 ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมาเยือนประเทศไทย ได้ร่วมกันแถลงกับผู้นำของไทยในเรื่องการก่อตั้งประชาคมไทย-จีนที่จะมีอนาคตร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการชี้ทิศทางใหม่ให้กับสองประเทศ ทั้งยังนำพาจีนและไทยเข้าสู่ยุคใหม่

 

ในปัจจุบันเรามีความเชื่อมั่นทางด้านการเมือง สนับสนุนซึ่งกันและกัน ด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สองประเทศก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้ประโยชน์ร่วมกัน ในขณะเดียวกันด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมก็มีความแนบแน่น มิตรภาพของประชากรทั้งสองประเทศมีแต่จะเพิ่มพูน ทั้งสองฝ่ายกำลังหารือวางแผนในการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีนที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งการครบรอบ 50 ปีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ ผลักดันให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศก้าวไปสู่ขั้นใหม่ ดังนั้นพวกเรามั่นใจได้เลยว่าความสัมพันธ์ของจีนและไทยนับวันจะยิ่งแน่นแฟ้น นับวันจะยิ่งงดงาม สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับคนของทั้งสองประเทศ ซึ่งถือเป็นการแสดงออกสำคัญถึงสันติภาพแก่ภูมิภาค โลก และเราทั้งสองประเทศ

 

เมื่อสักครู่เราคุยกันถึงว่าบรรพบุรุษของคุณเคนก็เป็นคนแต้จิ๋ว มาจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน แล้วที่เมื่อสักครู่ถามถึงมุมมองของจีนว่าความสัมพันธ์ไทยและจีนเป็นอย่างไรนั้น เราขอมอบ 3 ประโยคให้คุณ ประโยคแรก จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีดั่งน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ประโยคที่สอง เราเป็นญาติพี่น้องที่มีสายเลือดเดียวกัน ประโยคสุดท้าย เป็นหุ้นส่วนที่ดีที่จะมีอนาคตร่วมกัน ผมคิดว่าคำพูดเหล่านี้เป็นคำบรรยายความสัมพันธ์จีนและไทยในมุมกว้างๆ แล้วยังเป็นตัวแทนเสียงในใจของคนทั้งสองประเทศ

 

Q: ปีนี้เราเห็นความพยายามมากมายของจีนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจจากความท้าทายในมิติต่างๆ เช่น ในด้านอสังหาริมทรัพย์ อยากให้ท่านทูตเล่าให้ฟังว่าปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างไร และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะใหญ่แค่ไหน

 

A: ปัญหาที่คุณพูดมานี้สำคัญมาก พวกเรายินดีที่จะแชร์หัวข้อนี้กับเพื่อนๆ ชาวไทย เศรษฐกิจของจีนนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 40 ปี ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปฏิรูปเปิดประเทศเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว GDP ของจีนขยายตัวเกินกว่า 9% ต่อปีโดยเฉลี่ย ทำให้เศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งจากการเติบโตมาต่อเนื่องหลายปี เวลานี้เศรษฐกิจจีนก้าวเข้าสู่ระยะใหม่ของการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง

 

ถ้าให้พูดรายละเอียด เราดำเนินการตามแนวคิดของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งกำหนดไว้เกี่ยวกับการพัฒนาขั้นใหม่ หรือก็คือการมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง หรือการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงบนพื้นฐานใหม่ๆ กล่าวคือต้องมีนวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้คนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานนวัตกรรมใหม่จะต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงด้วย 

 

ช่วงหลายปีมานี้จีนมีนโยบายที่มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หนึ่งในเป้าหมายก็คือให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะสอดคล้องกับเทรนด์การพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลก ในอีกทางหนึ่งก็สอดคล้องกับการพัฒนาของมนุษยชาติ ซึ่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจนี้มีความคืบหน้าอย่างเป็นที่ประจักษ์ อย่างจำนวนของสถานี 5G ของจีนมีจำนวนกว่า 5 ล้านจุด ซึ่งนับเป็นจำนวนมากกว่า 60% ของทั้งโลก หุ่นยนต์อุตสาหกรรมของจีนมี Rated Capacity ที่มีสัดส่วนเกินกว่า 50% ของโลก ในปี 2023 Rated Capacity ด้านพลังงานทดแทนในจีนก็มีสัดส่วนมากกว่า 50% ของโลก กล่าวได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาอย่างยาวนานของจีนนี้ก่อร่างสร้างตัวบนพื้นฐานใหม่ สิ่งนี้จะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนอย่างยั่งยืนและมั่นคงให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในอนาคต หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นแนวคิด New Quality Productive Forces ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวของจีนจะอยู่บนพื้นฐานแนวคิดดังกล่าว

 

ภาวะโควิด-19 สร้างผลกระทบอันหนักหน่วงต่อเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความมั่นคงทางการเมือง และสงครามในบางประเทศ รวมถึงปัจจัยวัฏจักร ทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญแรงกดดันค่อนข้างสูง จีนก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและรักษาอัตราการเติบโตอย่างมั่นคง รัฐบาลกลางจีนออกชุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญ 5 หัวข้อ ครอบคลุมนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงมาตรการด้านการเงินและมาตรการทางการคลัง มีการออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาการชะลอตัว ในส่วนของการสำรองเงินฝากธนาคารนั้น มีการปรับลดลง 0.5% ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.2% นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางการคลังที่จะออกพันธบัตรระยะยาวและพันธบัตรรัฐบาลพิเศษ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินเอกชนที่ประสบปัญหา

 

นอกจากการปรับโครงสร้างและมาตรการทางเศรษฐกิจมหภาคแล้ว จีนยังมีมาตรการกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศ บรรเทาปัญหาให้กับภาคธุรกิจ ส่งเสริมตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับตลาดทุน ซึ่งทั้งหมดนี้ควรใช้นโยบายและมาตรการที่มีประโยชน์ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ช่วงสองวันมานี้เพิ่งมีรายงานตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจประจำเดือนตุลาคมออกมา จะเห็นถึงผลลัพธ์ที่ชัดเจนของมาตรการทางเศรษฐกิจ เราจึงมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ได้ตามที่กำหนดไว้

 

การเติบโตของเศรษฐกิจจีน ไม่เพียงสำคัญต่อจีนเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของเรา แนวโน้มการเติบโตของจีนยังสดใส นอกจากนี้ยังมอบโอกาสการเติบโตที่มากขึ้นแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของเราได้ประโยชน์ร่วมกัน หรือวิน-วินทั้งสองฝ่าย 

 

จีนเป็นหุ้นส่วนการค้าที่มีความสำคัญกับคู่ค้ากว่า 150 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ทุกปีจีนรับการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก ปีที่แล้วมีมูลค่าสูงถึงกว่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันการลงทุนในต่างประเทศของจีนก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ปีที่แล้วมีมูลค่าสูงถึง 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีความต่อเนื่องหลายปี มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ดังนั้นเราจึงเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก 

 

ในส่วนความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและไทยนั้น มีความแนบแน่นใกล้ชิด นับได้ว่าจีนเป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทย และยังเป็นแหล่งเงินลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญแหล่งหนึ่งของไทย นักท่องเที่ยวจีนก็เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มหลักของไทย ดังนั้นเราเชื่อว่าการเติบโตที่ดีของเศรษฐกิจจีนไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อคนจีนเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อคนไทยด้วย

 

Q: คิดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดนี้เพียงพอหรือไม่ และคิดว่ากำลังซื้อจะกลับมามากน้อยแค่ไหน เป้าหมายการเติบโตของจีนที่ก่อนหน้านี้อาจจะอยู่ที่ระดับ 9% โดยเฉลี่ย ตอนนี้ลดลงมาเหลืออยู่ที่ราว 5% แสดงว่าหลังจากนี้เป้าหมายจะลดลงเหลือที่ 5%ใช่หรือไม่ นี่คือยุคใหม่ของจีนแล้วใช่ไหม

 

A: คงต้องกล่าวว่าอัตราการขยายตัวที่ 5-6% ถือว่าเหมาะกับสภาวการณ์ของจีนในปัจจุบันแล้ว มูลค่าเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันถ้าคิดเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะอยู่ที่ประมาณ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การเติบโตที่ 5-6% ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันจะมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือก็คือเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขนี้มีขนาดพอๆ กับการขยายตัวของ GDP 1 ปีของประเทศขนาดกลางหลายประเทศรวมกัน ลองคิดดูว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่เพิ่มขึ้นมาในแต่ละปีนั้นมีนัยสำคัญต่อโอกาสทางธุรกิจแค่ไหน มีนัยสำคัญต่อ Market Growth มากน้อยแค่ไหน 

 

กล่าวได้อีกว่าเศรษฐกิจของจีนนั้นมีจุดเด่นที่เป็นพื้นฐานสำคัญหลายข้อ หนึ่งในนั้นก็คือการที่จีนมีตลาดขนาดใหญ่ เมื่อกล่าวถึงตลาดการบริโภค หากคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันจะมีมูลค่าประมาณ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบครัวชนชั้นกลาง ครอบครัวที่มีระดับรายได้ปานกลางมีจำนวนประมาณ 400 ล้านคน ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรชนชั้นกลางมากที่สุดในโลก หากไม่นับรวมประเทศอินเดีย

 

Q: 3 อุตสาหกรรมหัวหอกของจีน ได้แก่ EV, แบตเตอรี่ลิเธียม และโซลาร์เซลล์ ใน 3 อุตสาหกรรมใหม่นี้คิดว่าจะนำทิศทางของเศรษฐกิจจีนต่อไปอย่างไร จีนจริงจังกับเรื่องเทคโนโลยีสะอาดเพื่อจะแข่งขันกับมหาอำนาจอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน

 

A: ต้องตอบเลยว่าใช่ครับ เนื่องจากทั้ง 3 อุตสาหกรรมใหม่ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ ล้วนสอดคล้องกับเทรนด์เศรษฐกิจโลกและการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต และยังสอดรับกับเทรนด์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของมนุษยชาติ ดังนั้นทั้ง 3 อุตสาหกรรมนี้จึงมีอนาคตที่สดใส และยังตอบสนองดีมานด์ตลาดขนาดใหญ่ ดังนั้นเราจึงมองในแง่บวกเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ทั้ง 3 นี้ว่าจะยังอยู่ในทิศทางที่ดีในอนาคต

 

การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวมีเป้าหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมนุษย์ จะเห็นว่าทั้ง 3 อุตสาหกรรมใหม่นี้ล้วนตอบโจทย์ ไม่เพียงแต่มอบสินค้าและเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับโลกเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมทั่วโลกให้มุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน ตรงนี้เป็นประโยชน์ เป็นคุณค่า และความหมายของการมีอยู่ของนวัตกรรมใหม่เหล่านี้

 

Q: แต่ก็ต้องยอมรับว่าการที่จีนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น บางคนอาจใช้คำว่าสงครามเทคโนโลยี เราเห็นมาตรการกีดกันทางการค้าจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา จีนมองอย่างไรและจะรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างไร

 

A: สำหรับสินค้าส่งออกของจีนนั้น มีการพูดกันถึงภาวะการผลิตส่วนเกินที่เกิดจากรัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุน คำกล่าวโทษเหล่านี้เปี่ยมไปด้วยแนวคิดกีดกันทางการค้า เป็นข้ออ้างของพวกลัทธิฝ่ายเดียว และมีลักษณะสองมาตรฐาน

 

หากจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รัฐบาลประเทศต่างๆ กำลังพยายามปรับทิศทางการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของตนให้อยู่บนเส้นทางของเศรษฐกิจสีเขียว ทางจีนเองก็ลงแรงกายแรงใจและพยายามอย่างเต็มที่ในด้านนี้ และประสบความสำเร็จ ซึ่งเหตุนี้ทำให้สินค้าและเทคโนโลยีของจีนมีความสามารถทางการแข่งขันบนตลาดโลกอย่างเห็นได้ชัด ควรกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การสนับสนุน และเป็นเรื่องที่น่ายกย่องมากกว่าไม่ใช่หรือ?

 

มีบางประเทศในด้านหนึ่งก็ป่าวประกาศเสียงดังว่าต้องการหาทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ บรรลุการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็กลับกีดกันผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีสีเขียวของจีน อันที่จริงเราทุกคนสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน พวกเขาคิดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง โลกกำลังมุ่งสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน แต่พวกเขาให้ใช้แต่เทคโนโลยีของพวกเขา และใช้แต่สินค้าของพวกเขา ความคิดเช่นนี้นอกจากจะเห็นแก่ตัวแล้วยังเป็นความไร้วิสัยทัศน์ และเป็นความไม่รับผิดชอบขั้นสูงสุดต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมนุษยชาติ

 

สหรัฐอเมริกากับยุโรปขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่างไม่มีเหตุผล ถือเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์การค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) สิ่งนี้ละเมิดระเบียบสากล ดังนั้นฝ่ายจีนเองก็จะขอคัดค้านต่อการกระทำเช่นนี้อย่างแข็งขัน และการกระทำเหล่านี้ย่อมเป็นผลเสียต่อตนเอง ซึ่งไม่น่าส่งผลลัพธ์ที่ดีอะไร รถยนต์ไฟฟ้าของจีนครองสัดส่วนในตลาดโลกค่อนข้างมาก พวกเขาจึงมากล่าวโทษว่าสาเหตุเป็นเพราะจีนผลิตสินค้าล้นตลาด ลองคิดดูครับว่าเครื่องบิน Boeing ของสหรัฐอเมริกา หรือ Airbus ของยุโรป ก็มีส่วนแบ่งการตลาดเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทำไมพวกเขาถึงไม่โทษว่าผลิตล้นตลาดบ้างล่ะ ความสองมาตรฐานของพวกเขาทำให้พวกเรารู้สึกว่าน่าขัน เป็นการกีดกันทางการค้าและเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง

 

พวกเราควรเคารพกฎระเบียบและกลไกตลาดที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากกว่า ขณะเดียวกันก็ควรร่วมกันดูแลและปกป้องแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมนุษยชาติที่เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ร่วมมือกันทำให้ก้อนเค้กโตขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันสำหรับทุกฝ่าย นโยบายแบบนี้ถึงจะเป็นสิ่งที่พวกเขาควรนำมาใช้

 

Q: แล้วทางการจีนจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาได้ผู้นำใหม่ขึ้นมา แน่นอนว่าทิศทางที่เขาจะมีต่อประเทศจีนก็คงจะดำเนินไปในแนวทางเดียวกัน จะรุนแรงมากขึ้น หรือว่ารุนแรงประมาณเดิม จีนจะรับมืออย่างไร

 

A: นี่คือสิ่งที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง หรือก็คือทุกคนกำลังติดตามเรื่องนี้ด้วยความกังวลใจมากๆ สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจแห่งเดียวในโลก ต่อไปจะมีนโยบายที่แสดงความรับผิดชอบหรือไม่ สิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลกใบนี้ พวกเราไม่ขอประเมินผู้สมัครรับเลือกตั้ง และไม่อยากแสดงความคิดเห็นต่อผลเลือกตั้งหรือไปคาดเดาอะไร เพราะว่านี่เป็นเรื่องภายในของสหรัฐอเมริกา พวกเราหวังว่าคนอเมริกันจะตัดสินใจอย่างชาญฉลาด เลือกผู้นำประเทศที่คู่ควรกับการรอคอยของพวกเขา ขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพและสันติภาพบนโลกใบนี้

 

เมื่อสักครู่ที่บอกว่า ไม่ว่าใครจะได้รับเลือกตั้ง นโยบายที่สหรัฐอเมริกาจะมีต่อจีนคงไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมาก ยังคงเป็นนโยบายเชิงลบต่อจีนเช่นปัจจุบัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมมีความเห็นว่าเราไม่อาจคาดหวังให้นโยบายที่มีต่อจีนกลับอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องผ่านการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว เราหวังแต่เพียงว่าการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา จะทำให้สหรัฐอเมริกาตระหนักได้ว่าระหว่างเราจะมีเพียงการดำเนินนโยบายภายใต้หลักการที่เคารพซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติและเอื้อประโยชน์ร่วมกัน เพื่อมาจัดการกับประเด็นความสัมพันธ์ของสองประเทศ จึงจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกาและต่อโลก

 

เราต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเพื่อจะทำให้ผู้นำของสหรัฐอเมริกาตระหนักถึงจุดนี้ ปรับแก้นโยบายที่มีต่อจีนซึ่งถือเป็นความผิดพลาดในขณะนี้ สหรัฐอเมริกาตัดสินใจผิดพลาด พวกเขาเชื่อว่าหากจีนแข็งแกร่งขึ้นมาก็จะมาแทนที่พวกเขา จะส่งผลเสียต่อฐานะมหาอำนาจโลกของเขา คิดว่าจีนจะมาช่วงชิงตำแหน่งนี้

 

แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นมุมมองต่อจีนที่ผิด ประเทศจีนจะพัฒนาและแข็งแกร่งขึ้นอย่างมิอาจขวางได้ แต่จีนจะไม่มีวันไปแก่งแย่งสถานะมหาอำนาจโลกอะไรนั่นกับเขา ในมุมมองของจีน คำว่ามหาอำนาจโลกเป็นคำเชิงลบมากๆ ไม่ใช่บทบาทที่ดี ประเทศจีนไม่มีเจตนาจะไปชิงสถานะความเป็นมหาอำนาจโลกกับพวกเขา เราต้องการโลกที่มีสันติภาพ ความร่วมมือ และมีผลประโยชน์ร่วมกัน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของเรากล่าวว่า เราต้องสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน

 

เพื่อที่จะกีดกันจีน สหรัฐอเมริกาเปิดสงครามการค้า ปิดกั้นทางเทคโนโลยี พยายามแบ่งขั้วเศรษฐกิจออกจากกัน แม้แต่ก่อความไม่สงบและสร้างความขัดแย้งในภูมิภาคจนเกิดกลุ่มต่อต้าน พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อก่อนไม่สำเร็จ จากนี้และต่อไปก็จะไม่สำเร็จ มีแต่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาค และนำหายนะมาสู่สหรัฐอเมริกาเอง

 

อันที่จริงช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายปิดกั้นทางเทคโนโลยี กลับเป็นช่วงที่จีนมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างที่เพิ่งบอกไปว่าเราประสบความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรม สหรัฐอเมริกาพยายามจะแบ่งแยกเศรษฐกิจออกจากจีน แต่ว่าการค้าการส่งออกของจีนในปัจจุบันกำลังฟื้นตัวและเติบโตอย่างเข้มแข็ง

 

ตัวเลขการเติบโตด้านการค้าระหว่างประเทศของจีนในเดือนมกราคม-กันยายนปีนี้อยู่ที่ 6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ และถือเป็นการขยายตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ลงทุนมาจีนเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ธุรกิจใหม่จากต่างประเทศเข้ามาตั้งสำนักงานมากกว่า 50,000 ราย ในเวลาเดียวกันจีนก็มีการใช้เงิน 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เราไม่ได้ถูกปิดกั้นในเรื่องนี้และเรากำลังพัฒนาให้ดีขึ้น สหรัฐอเมริกากำลังพยายามที่จะแบ่งแยกเศรษฐกิจออกจากจีน แต่จีนจะใช้ความทุ่มเทที่มากขึ้นสร้างระบบที่ส่งเสริมการเปิดกว้างทางการค้าและมาตรฐานที่สูง เราจะมีโลกที่ดีขึ้น 

 

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา Bloomberg ในสหรัฐอเมริกาเผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายปิดกั้นทางเทคโนโลยีต่อจีนของสหรัฐอเมริกาว่า แทนที่จะประสบความสำเร็จแต่กลับล้มเหลว พวกเขากล่าวถึง 5 ปัจจัยของโลกเทคโนโลยีขั้นสูง โดยกล่าวว่าเทคโนโลยีจีนนั้นอยู่ในตำแหน่งผู้นำของโลก นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างเรื่องเทคโนโลยีในด้านอื่นๆ อีก 7 ด้านว่าจีนก็ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นบทความของ Bloomberg จึงตอกย้ำถึงความล้มเหลวของสหรัฐอเมริกาในการปิดกั้นเทคโนโลยีต่อจีน เพราะจีนกลับพัฒนาล้ำขึ้นไปอีกขั้น

 

เพื่อสร้างปัญหาให้จีน สหรัฐอเมริกาเพิ่มความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี ใช้ประโยชน์จากข้อพิพาทระหว่างจีนกับประเทศที่เกี่ยวข้องในทะเลจีนใต้กระพือให้เป็นประเด็นร้อน พฤติกรรมเช่นนี้ยังมีอยู่ในบริเวณช่องแคบไต้หวัน เพื่อสร้างการเผชิญหน้า หรือแม้แต่ไปเพิ่มความขัดแย้งในสงครามภายในเมียนมาให้รุนแรงขึ้น 

 

พฤติกรรมเหล่านี้สหรัฐอเมริกาได้อะไร สิ่งที่พวกเขาจะได้รับก็คือทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคเกิดความกังวลในเรื่องความมั่นคง ทำให้เกิดการต่อต้านพฤติกรรมเหล่านี้อย่างรุนแรง และเกิดความสงสัย สุดท้ายก็จะทำให้เกิดความไม่พอใจจากคนในภูมิภาค ดังนั้นสิ่งที่เราหวังก็คือ ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะทำให้ผู้นำของสหรัฐอเมริกาได้ตระหนัก เพื่อเข้าใจเหตุผล อย่าตัดสินแบบผิดๆ อย่าพยายามหาทางต่อต้านและเผชิญหน้ากับประเทศจีน แต่ควรทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนกลับไปสู่จุดที่ดีและมั่นคง

 

Q: ในมุมหนึ่งคนไทยเริ่มมีความกังวลและอยากได้รับความเข้าใจคือเรื่องของสินค้าและบริการต่างๆ ของจีนที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สินค้าไฮเทคอย่างเช่น EV จนถึงสินค้าระดับโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น ร้านอาหารต่างๆ คนไทยรู้สึกมีความกังวลว่า สินค้าเหล่านี้ราคาค่อนข้างได้เปรียบ และทำให้ผู้ประกอบการไทยประสบความยากลำบาก อยากให้ท่านช่วยอธิบายและชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นนี้

 

A: เรามีการติดตามเรื่องนี้มาสักพักหนึ่ง มีการอภิปรายเรื่องนี้กันแพร่หลายทั้งบนสื่อไทยและบนอินเทอร์เน็ต ขอเริ่มคุยกันจากประเด็นการค้าระหว่างประเทศ ตัวเลขการค้าระหว่างจีนและไทย จากข้อมูลสถิติของฝั่งจีนปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขส่งออกจากจีนมาไทยอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเม็ดเงินจำนวนนี้สินค้าทุนและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปคิดเป็นกว่า 80% ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมพื้นฐานโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศของจีนนั้นเหมือนกัน หรือก็คือการค้าระหว่างประเทศของจีนในช่วงหลายปีมานี้ การส่งออกสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคิดเป็น 60% ของการส่งออกไปยังต่างประเทศทั้งหมด ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปทั้งสิ้น เป็นวิสาหกิจจากจีนออกไปตั้งโรงงานผลิตในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ธุรกิจเหล่านี้จะมีความต้องการนำเข้าชิ้นส่วนและอะไหล่จากประเทศจีนเพื่อนำมาผลิตสินค้าในโรงงานท้องถิ่น ซึ่งสัมพันธ์กับการนำเข้า ประเทศไทยก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ดังนั้นสินค้าส่วนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตในไทยแล้วจึงจำหน่ายหรือส่งออก พูดง่ายๆ ก็คือจีนช่วยตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการไทยในด้านการผลิตสินค้าที่ผู้ประกอบการต้องการหรือมีความจำเป็นในท้องตลาด

 

ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าแผ่นซิลิคอนที่เป็นวัตถุดิบ มูลค่าการนำเข้าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นไทยก็ส่งออกโซลาร์เซลล์มูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือพูดง่ายๆ ก็คือถ้าไม่มีการนำเข้าแผ่นซิลิคอน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ ก็จะไม่มีการส่งออกโซลาร์เซลล์ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหนจะพวกผลิตภัณฑ์ชีวิตประจำวัน พวกเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง และอาหาร ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จีนส่งออกไปไทยยังไม่ถึง 10% ซึ่งในบรรดาผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปไม่ถึง 10% นี้มีบางอย่างที่ส่งออกไปไทยค่อนข้างมากหน่อย ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อการผลิตและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่ผลิตสินค้าคล้ายคลึงกัน นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่ง ยังมีสินค้าอื่นๆ บางจำพวกที่ประสบปัญหาไม่ผ่านมาตรฐานการนำเข้า และมีประเด็นการได้รับใบอนุญาตมาตรฐานอาหารและยาของประเทศไทย ผู้ส่งออกอาจจะยังมีการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องอยู่ ถ้ามองอย่างเป็นกลาง ปัญหาการไม่ปฏิบัติตามหรือทำผิดกฎหมายจะต้องเพิ่มการกำกับดูแล และเราก็ยินดีให้ความร่วมมือที่จำเป็น เพราะนี่คือสิ่งที่จีนสนับสนุนหรือส่งเสริมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือผู้ประกอบการที่จะออกสู่ต่างประเทศก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศหรือท้องถิ่นนั้นๆ

 

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมบางแห่งกำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านการแข่งขัน ก็มีความจำเป็นที่ภาครัฐของจีนต้องช่วยเหลือพวกเขาเพื่อให้มีศักยภาพในการปรับตัวต่อแรงกดดันทางการค้าระหว่างประเทศได้ดีขึ้น ให้ความช่วยเหลือพวกเขาเท่าที่เราทำได้อย่างสุดกำลัง ให้พวกเขามีโอกาสทางการค้าท่ามกลางความร่วมมือด้านการค้าระหว่างสองประเทศ

 

ยังมีอีกตัวอย่าง เช่น มีสินค้าจีนมากมายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ผู้ซื้อในไทยนำเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ไทยเองก็สามารถขายสินค้าให้ผู้ซื้อในจีนผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้เช่นกัน ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ของไทยมีวิธีการที่ดีมาก มีการนำอินฟลูเอ็นเซอร์ของจีนมาไลฟ์ ระหว่างไลฟ์ก็เอาสินค้าขึ้นมาประชาสัมพันธ์ เป็นการเชิญมาไทยเพื่อไลฟ์แล้วก็ขายสินค้าไปยังประเทศจีนบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งยอดขายสินค้าจากประเทศไทย 5 วัน ขายได้ 1,500 ล้านบาท เรื่องแบบนี้จีนก็มีบทบาทในการส่งเสริมเช่นกัน

 

เคยมีการเสนอว่าอยากเห็นการบุกเบิกการขนส่งสินค้าการเกษตรผ่านทางน้ำ ส่งออกผลไม้ไทยไปประเทศจีนผ่านแม่น้ำโขง ข้อเสนอแบบนี้เราใช้เวลาเพียง 10 เดือนเท่านั้นในการสร้างด่านตรวจสินค้านำเข้า ด่านตรวจสอบคุณภาพสินค้า และติดตั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบและกักกัน เป็นการเปิดช่องทางใหม่ในการส่งออกผลไม้ไทยผ่านระบบขนส่งทางแม่น้ำโขงไปยังจีนอีกช่องทางหนึ่ง

 

เรื่องสถานการณ์การลงทุนจากประเทศจีนก็เช่นเดียวกัน มีบริษัทในประเทศไทยที่ลงทุนโดยผู้ประกอบการจีนมาจดทะเบียนกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประมาณ 1,000 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่มาประกอบการและเติบโตในไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้กับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ มีการจ้างงาน สั่งซื้อชิ้นส่วนในท้องถิ่น ซื้อวัตถุดิบ จัดเก็บภาษี ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจไทย ยังเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของประชากรท้องถิ่นอีกด้วย

 

บริษัทจีนล้วนมีสโลแกนที่เรียกว่า ‘อยู่ไทยทำเพื่อไทย’ พวกเขาไม่เพียงตระหนักถึงการพัฒนาสถานประกอบการของตนเท่านั้น แต่ยังตระหนักถึงการพัฒนาเศรษฐกิจไทย และมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยอย่างแท้จริง สินค้าของผู้ประกอบการเหล่านี้หากต้องการติดป้าย Made in Thailand ภายใต้เงื่อนไขว่าการผลิตในท้องถิ่นเช่นนี้ ตามกฎหมายของไทย 40% ของมูลค่าเพิ่มของสินค้าต้องมาจากประเทศไทย

 

สำหรับเรื่องการจ้างงานในท้องถิ่นในหลายสถานประกอบการ มีสัดส่วนของพนักงานในท้องถิ่นเกินกว่า 90% โดยรวมคือหลายแสนคน มีพลเมืองจีนบางส่วนที่ดำเนินธุรกิจที่นี่ และยังมีประเด็นบางอย่างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้ก็เช่นกัน เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการเสริมสร้างการกำกับตรวจสอบ การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศที่แน่นแฟ้นย่อมมีปัญหาบ้างเป็นธรรมดา แต่เราต้องมองปัญหาเหล่านี้ด้วยมุมมองว่าเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง เป็นประเด็นเฉพาะ ไม่สามารถใช้ประเด็นเหล่านี้เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ไม่อาจอ้างว่าเป็นเพราะปัญหาเฉพาะเหล่านี้จึงพากันออกมาคว่ำบาตรสินค้าจีน มาประกาศว่าเราจะต้องต่อสู้กับทุนจีน ทำแบบนี้จะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ทางการค้าของสองประเทศ อันที่จริงจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประเทศ และยังส่งผลเสียต่อคนไทยด้วย

 

คุณคือผู้นำ THE STANDARD สื่อทรงอิทธิพลในไทย ผมอยากร้องขอให้คุณและทีมงานของคุณทำให้คนไทยเห็นถึงความสัมพันธ์ด้านการค้าไทย-จีนในภาพรวมทุกมิติผ่านแพลตฟอร์มหรือผลงานของพวกคุณ ส่งข้อความให้กับคนไทยอย่างทั่วถึง มาทำงานร่วมกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างทั้งสองประเทศกันนะครับ เราถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน รักษาความร่วมมืออันดีต่อกันไว้ เพราะว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญที่จำเป็นต่อการพัฒนาชาติ และการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยร่วมกัน

 

Q: อยากขยายความเพิ่มเติม เมื่อสักครู่ท่านทูตพูดถึงทุนจีนในแบบที่อาจจะมีการทำผิดกฎหมายอยู่บ้างแล้ว ซึ่งก็ต้องจัดการกันไป ในประเทศไทยเองตอนนี้ก็มีความกังวลเกิดขึ้น ทั้งการใช้คนไทยเป็นนอมินี มาทำงานแบบผิดกฎหมาย หรือเรื่องของคาสิโน คอลเซ็นเตอร์ต่างๆ มีข่าวถึงขั้นบอกว่าที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้นมีแหล่งที่ทำผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก คำถามก็คือทางการจีนจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร

 

A: สถานการณ์นี้คือในประเทศไทยมีคำนิยามเรียกว่าทุนจีนสีเทา ซึ่งเป็นคำที่ดูเทาๆ มีขอบเขตที่ไม่ชัดเจน ผมอยากขอคำชี้แนะหน่อยครับ ทุนจีนที่ว่าหมายถึงธุรกิจสีเทาหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมายโดยมีทุนจากจีน หรือว่าหมายถึงการลงทุนทุกรูปแบบที่มีประเด็นหรือข้อสงสัยว่าทำผิดกฎหมาย นับเป็นทุนจีนสีเทาทั้งหมดหรือไม่ครับ

 

Q: (อธิบายเสริม): ทั้งหมดเลยครับ ทั้งผิดกฎหมาย หรืออาจจะผิดกฎระเบียบในการแข่งขันเชิงธุรกิจ หลากหลายมุมรวมกัน

 

A: ผมคิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญมาก คิดว่าควรปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัติตามระเบียบ ธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นไปตามข้อกำหนดเราก็ต้องเคารพและปกป้อง พวกละเมิดกฎหมาย ผิดกฎหมาย เราต้องยับยั้งและจัดการ

 

เมื่อสักครู่เราเพิ่งพูดถึงเรื่องพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายอย่างการพนัน ยาเสพติด มิจฉาชีพออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการกระทำผิดทางอาญา ซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคมและส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนโดยตรง สิ่งนี้จำเป็นต้องมีมาตรการปราบปรามอย่างรุนแรงจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย 

 

ซึ่งในแง่มุมนี้ทั้งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของจีนและไทยต่างให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จีนให้ความสำคัญกับการกวาดล้างการพนัน ยาเสพติด และการฉ้อโกงออนไลน์เป็นอันดับแรก เรายังให้ความร่วมมืออันดีในคดีต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมผ่านกิจกรรม โครงการช่วยเหลือ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก

 

นอกจากความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายระดับทวิภาคีระหว่างจีนและไทยแล้ว ยังมุ่งเป้าไปที่อาชญากรรมข้ามพรมแดนด้วย จีน, สปป.ลาว, เมียนมา และไทย 4 ประเทศ มีการก่อตั้งกลไกความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายระหว่างทุกฝ่ายในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ 

 

โดยสรุปยังมีประเด็นปัญหาเฉพาะกับทุนสีเทา อันนี้ต้องยอมรับ แต่ว่าเมื่อเทียบกับบริษัทจีนที่มาลงทุนทั้งหมดในประเทศไทย ถือเป็นปัญหาส่วนน้อยเท่านั้น พวกเรากำลังใส่ใจและกำลังแก้ไขปัญหา

 

ในเวลาเดียวกันจีนเองก็มีส่วนช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เป็นมิตร เปรียบเทียบให้เห็นครับว่า ผืนป่าอันเขียวขจี อุดมสมบูรณ์ และเจริญเติบโตได้ดี แต่มีแมลงศัตรูพืชอยู่ในนั้นด้วย สิ่งที่เราควรทำคือจับแมลงพวกนี้ออกไป แต่ไม่ใช่การทำลายป่าทั้งผืนเพียงเพราะว่ามีศัตรูพืช

 

Q: ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนอย่างที่บอกตั้งแต่ต้น ตลอด 50 ปีที่ผ่านมาเรามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และผมคิดว่าหลังจากนี้เราก็อยากเห็นสถานการณ์ที่วิน-วินทั้งสองฝ่าย ท่านทูตมีคำแนะนำถึงทางการไทย รัฐบาลไทย หรือผู้ประกอบการไทยจำนวนมากที่เป็นผู้ฟังของ THE STANDARD อย่างไร

 

A: ผู้บริโภคจีนมีกำลังซื้อ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นกำลังซื้อขนาดใหญ่ในตลาดผู้บริโภค ซึ่งเรายินดีต้อนรับสินค้าดีๆ จากไทยอย่างจริงใจให้ส่งออกไปยังตลาดจีน นอกจากตลาดจีนจะมีความต้องการสินค้าไทยแล้ว การค้าขายจะช่วยส่งเสริมให้บรรลุนโยบายการพัฒนาร่วมกัน เกิดความเจริญรุ่งเรือง และสร้างประชาคมไทย-จีนที่มีอนาคตร่วมกัน 

 

ดังนั้นจากมุมมองของภาครัฐ เราจึงต้องดำเนินการต่อไปเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับการค้าระหว่างสองประเทศ เช่น ผมเพิ่งพูดถึงการเปิดช่องทางการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำโขง การบุกเบิกช่องทางส่งออกผลไม้ไทยไปยังจีน จากนั้นเราจะมีนโยบายระหว่างทั้งสองประเทศ เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ สร้างเส้นทางการค้าขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันยังต้องการส่งเสริมการเชื่อมโยงในนโยบายต่างๆ เช่น ด่านศุลกากร นโยบายตรวจสินค้านำเข้า การตรวจสอบและกักกัน ขั้นตอนการเข้า-ออกต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต้องพัฒนาร่วมกัน เช่นนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย 

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็คือ เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และกรอบ RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) ซึ่งมีการอำนวยความสะดวกในแง่ของการลงทุนการค้า สร้างความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาคเดียวกัน ระบบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือ การเพิ่มจำนวนการส่งออกสินค้าจากประเทศไทยไปยังจีน

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ การก่อตั้งสมาคมหรือองค์กรต่างๆ ที่มีบทบาทในการส่งเสริมความร่วมมือหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างการเชื่อมโยงหรือการประสานงานระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์บางอย่างขึ้น การที่มีการเชื่อมโยงที่ดีกว่าจะทำให้เกิดผลบางอย่างที่สามารถสนับสนุนและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างสองฝ่ายให้มากขึ้น เสริมสร้างการทำธุรกิจร่วมกันหรือทำให้การติดต่อทางการค้าราบรื่นยิ่งขึ้น ผ่านข้อมูลที่จำเป็นต่อทั้งสองประเทศเกี่ยวกับตลาดและโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น

 

สินค้าจากประเทศไทยได้รับความนิยมในตลาดจีนมาก แล้วยังมีสินค้าอีกหลายชนิดที่ยังไม่มีในตลาดจีน แต่หากเข้ามาได้แล้วจะได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค ไม่ใช่แค่ทุเรียน ไม่ใช่แค่มันสำปะหลัง และไม่ใช่แค่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เรามักเจอกับสถานการณ์แบบนี้ เวลากลับประเทศต้องนำสินค้าหรือสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยติดตัวกลับไปด้วย แต่บ่อยครั้งที่คุณไปที่ร้านแล้วมีสินค้าที่คุณชอบ แต่เขาขายให้คุณได้เพียงหนึ่งหรือสองชิ้นเท่านั้นเพราะหมดสต็อก

 

สินค้าแบบหนึ่งหากไปถูกทางแล้วจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลจากตลาดขนาดใหญ่ของจีน ซึ่งน่าจะเกินกว่าที่ผู้คนจะคาดคิดได้ ทุเรียนเป็นเพียงผลไม้ชนิดหนึ่ง ทุเรียนไทยส่งออกไปจีนมีมูลค่ามากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทุกปี ตลาดของจีนใหญ่ เราเต็มใจมากที่จะร่วมมือกับนักธุรกิจไทยที่อยู่ในวงการทุเรียน เราน่าจะพบเจอจุดเติบโตใหม่ของการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเฉกเช่นเดียวกับการค้าทุเรียน

 

อีกอย่างที่เป็นรูปธรรม ตอนนี้เพื่อนชาวไทยเริ่มสนใจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความสะดวกสบายมากขึ้นในการนำสินค้าจากจีนเข้ามาที่ไทย แต่ผมหวังว่าผู้ส่งออกชาวไทยจะสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้ให้เกิดประโยชน์ได้เช่นเดียวกับความสำเร็จของกระทรวงพาณิชย์ไทยเมื่อไม่นานมานี้ ที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจับจ่ายออนไลน์ คงจะเป็นการดีหากผู้ประกอบการไทยจะมีรูปแบบการค้าใหม่ เครื่องมือทำมาหากินใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของเทคโนโลยีเครือข่ายดิจิทัลที่ทันสมัย

 

สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคมาค้าขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซจีนแล้ว จะทำให้ไทยเสียดุลการค้าให้กับจีน นี่ไม่ใช่เป้าหมายของจีน และไม่ใช่นโยบายของจีนด้วย เราไม่มีความต้องการให้ไทยเสียดุลการค้าใดๆ แต่จริงๆ มันก็เป็นผลลัพธ์อย่างหนึ่งของเงื่อนไขกลไกตลาดที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และอุปทานเท่านั้นเอง

 

อีกสิ่งหนึ่งก็คือสนับสนุน SMEs ไทย ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับความกดดันของการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน และยังมีเรื่องอื่นๆ นั่นคือธุรกิจจีนในไทย พวกเขาดำเนินธุรกิจได้ชาญฉลาดมาก นั่นคือพยายามใช้อะไหล่และวัสดุท้องถิ่นให้ดี เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ก่อนหน้านี้ผมได้พบกับผู้ประกอบการจีนในไทย พวกเขามีซัพพลายเออร์ในท้องถิ่น 400-500 ราย หวังว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย กับผู้ประกอบการจีนจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีจากต้นน้ำไปถึงปลายน้ำในด้านอุปทาน และได้เจอโอกาสในการพัฒนาใหม่ๆ

 

การที่ผู้ประกอบการไปลงทุนในต่างประเทศ และจะสร้างความคุ้นเคยกับ Ecosystem จนสามารถหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์ กระบวนการนี้จะต้องใช้เวลา ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะช่วยส่งเสริมห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมท้องถิ่นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X