×

มองอนาคตจีนกับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข สีจิ้นผิงรวบอำนาจนำไปสู่อะไร คลื่นใต้น้ำมีจริงหรือไม่ และความท้าทายนับจากนี้

08.11.2022
  • LOADING...

สีจิ้นผิง ชายผู้ได้ชื่อว่าทรงอำนาจมากที่สุดในโลก ได้ฉีกธรรมเนียมปฏิบัติของการเมืองจีนที่ยึดถือกันมาช้านาน ด้วยการเตรียมนั่งประธานาธิบดีจีนต่อเป็นสมัยที่ 3 หลังจากที่เขาได้รับเลือกให้สานต่อตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการประชุมสมัชชาใหญ่ที่ปิดฉากลงไปเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา

 

ถึงแม้เรื่องดังกล่าวจะดูเหมือน ‘ใหม่’ แต่ก็ไม่ได้อยู่เหนือการคาดการณ์ เพราะเขาได้ปูทางเรื่องนี้ไว้แล้วตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งในเวลานั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำคัญ ซึ่งก็คือการต่ออายุให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้เกิน 2 วาระ หรือ 10 ปี ก่อนที่ที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจะลงมติเห็นชอบไปแบบที่ใครๆ ก็พอจะเดาออก ปลดล็อกให้สีจิ้นผิงสามารถกุมอำนาจไว้ได้อย่างยาวนานตราบเท่าที่เขาต้องการ หรืออาจอยู่ในอำนาจได้ไปตลอดชีวิตตามที่สื่อตะวันตกมองไว้

 

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ความพยายามของเขาในการเดินหน้ารวบอำนาจไว้ในมืออย่างเด็ดขาด และพยายามอุดช่องโหว่ไม่ให้ใครขึ้นมาท้าทายได้ โดยในวันที่จีนประกาศรายชื่อ 7 คีย์แมนในโปลิตบูโร ก็ไม่มีการวางตัวทายาทการเมืองของสีจิ้นผิงในคณะกรรมชุดดังกล่าว ซึ่งก็สะท้อนว่าเขาไม่ต้องการให้มีใครขึ้นมาท้าทายอำนาจของตนเองในช่วงเวลานี้ อีกทั้งสมาชิกที่รายล้อมสีจิ้นผิงตั้งแต่เบอร์ 2 ถึงเบอร์ 7 ล้วนแล้วแต่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดหรือคนสนิทของตนเองทั้งสิ้น 

 

หลายคนอาจจะพอทราบประวัติของสีจิ้นผิงมาแล้วว่า กว่าที่เขาจะไต่ขึ้นบันไดสู่อำนาจเพื่อกุมบังเหียนพรรคคอมมิวนิสต์จีน และอำนาจบริหารสูงสุดในฐานะประธานาธิบดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อคือ ‘การรักษาอำนาจที่ได้มาให้คงอยู่อย่างสถาพรนั้น ยากยิ่งกว่า’ 

 

THE STANDARD ชวน ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยกันว่า อะไรคือความท้าทายที่สีจิ้นผิงจะต้องเผชิญต่อจากนี้

 

 

สีจิ้นผิงรวบอำนาจ 3 สมัยนำไปสู่อะไร?

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า สีจิ้นผิงจะได้รวบอำนาจต่อเป็นผู้นำประเทศในสมัยที่ 3 เรียกได้ว่า เขาเตรียมก้าวขึ้นเป็นผู้นำจีนที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดและมีอำนาจสูงสุดนับตั้งแต่ยุคของเหมาเจ๋อตง หรือประธานเหมา นักปฏิวัติคนสำคัญและเป็นผู้นำสูงสุด (Supreme Leader) คนแรกของจีน

 

แม้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์นั้น ผู้นำจะมีอำนาจเฉียบขาดในการควบคุมดูแลทั้งระบบภายในพรรค แต่ ศ.ดร.สุรชาติมองว่า การรวบอำนาจอย่างยาวนานของสีจิ้นผิง จะนำไปสู่ความตึงเครียดภายในระบบการเมืองของจีนเอง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าสีจิ้นผิงจะกุมตำแหน่งทางการเมืองไว้อยู่หมัด แต่ก็อาจมีคลื่นใต้น้ำที่กำลังก่อตัวขึ้นได้

 

โดยก่อนหน้านี้ที่มีกระแสข่าวลือว่าจีนจะทำรัฐประหาร หลายคนอาจจะรู้สึกว่าข่าวนี้เป็นเรื่องเล่นๆ เพราะโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของจีนนั้นแทบไม่เอื้อให้เกิดการรัฐประหารขึ้นได้เลย แต่อย่างน้อย ข่าวที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นภาพสะท้อนถึงคลื่นการเมืองในสังคมจีนเองว่า “คลื่นใต้น้ำที่เกิดขึ้นในพรรคคอมมิวนิสต์นั้น ใช่ว่าจะไม่มี”

 

ขณะที่ตัวสีจิ้นผิงเอง คะแนนความนิยมของเขาเคยพุ่งสูงสุดเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา จากการพาเศรษฐกิจจีนไปสู่จุดที่สดใส รวมถึงผลงานการปราบคอร์รัปชัน แต่ในวันนี้ คะแนนนิยมของสีจิ้นผิงเริ่มต่ำลง โดยเฉพาะในหมู่ของนักธุรกิจและกลุ่มปัญญาชน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก บวกกับปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ การล็อกดาวน์ที่เข้มงวด รวมไปถึงการรวบอำนาจที่ยาวนานเกินไป เพราะกลุ่มปัญญาชนหลายคนก็ไม่อยากเห็นภาพของลัทธิการบูชาตัวบุคคลในระบบการเมืองอีกแล้ว

 

สิ่งหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่เราแทบไม่เคยเห็นมาก่อน คือข่าวเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังมีชาวจีนคนหนึ่งได้แขวนป้ายประท้วงสีจิ้นผิงด้วยข้อความที่รุนแรง แถมตำแหน่งที่แขวนป้ายก็เรียกได้ว่าบ้าบิ่นอย่างมาก คือสะพานซื่อทงกลางกรุงปักกิ่ง เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า จีนเป็นประเทศที่มีกล้องวงจรปิดอยู่แทบจะทุกมุมถนน และการต่อต้านผู้นำก็อาจได้รับโทษที่รุนแรง แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่า การกระทำนี้จะกลายเป็นไวรัลที่มีคนอื่นๆ ออกมาทำตามด้วย

 

สำหรับคำถามที่ว่าสีจิ้นผิงจะฝ่าคลื่นไปได้หรือไม่นั้น ศ.ดร.สุรชาติระบุว่า สีจิ้นผิงก็คงฝ่าไปได้ในที่สุด เพราะเจ้าตัวก็ฝ่ามาแล้วหลายคลื่น แต่เมื่อระยะเวลาในการกุมอำนาจยาวนานขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังไม่รู้ด้วยว่าจะสิ้นสุดลงที่ตรงไหน อย่างไร สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งตอนนี้หนึ่งในปัญหาที่น่าจับตาคือ ความเห็นต่างระหว่างสีจิ้นผิงกับหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี ในเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจจะต้องตามกันต่อไปจากนี้

 

รัฐประหารในจีนมีจริงหรือ?

เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิดข่าวลือโหมกระหน่ำบนโลกออนไลน์ว่า สีจิ้นผิงถูกรัฐประหารยึดอำนาจ หลังจากที่เขาไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะนานหลายวัน บางแหล่งข่าวลือหนักถึงขั้นที่ว่า นักการเมืองจีนระดับท็อปซึ่งเป็นสมาชิกของโปลิตบูโร ได้ร่วมมือกับกองทัพจีนควบคุมตัวสีจิ้นผิงไว้ในบ้านพัก และแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ แต่ท้ายที่สุดนั้นข่าวลือก็เป็นเพียงแค่ข่าวลือ เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันก็มีภาพของสีจิ้นผิงออกงานตามเดิม 

 

อย่างไรก็ตาม หลายคนได้ตั้งคำถามว่า การรัฐประหารในจีนจะเป็นไปได้จริงหรือ 

 

ในส่วนนี้ ศ.ดร.สุรชาติอธิบายว่า ระบอบการเมืองโลกมี 3 แบบ แบบแรกคือประเทศที่ประชาธิปไตยเข้มแข็ง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือโลกตะวันตก โอกาสที่จะเห็นการรัฐประหารในโลกตะวันตกนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการแข่งขันเชิงอำนาจของประเทศเหล่านี้จะใช้การตัดสินด้วยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน 

 

แบบที่สองคือประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งและการเมืองอ่อนแอ ซึ่งการต่อสู้ทางการเมืองมักจบลงด้วยการที่ทหารใช้รถถังออกมารัฐประหาร 

 

และสุดท้ายคือประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ ยกตัวอย่างเช่นจีนเอง หรือเกาหลีเหนือ ซึ่งโอกาสในการรัฐประหารแทบจะไม่มี เพราะพรรคเข้มแข็งพอที่จะคุ้มครองและควบคุมเสถียรภาพภายใน

 

อย่างที่เห็นคือ รัฐประหารมักจะเกิดในประเทศกำลังพัฒนาที่ระบบการเมืองอ่อนแอในตัวมันเอง หรือที่คนยุคเก่าเรียกว่าประเทศโลกที่สาม เพราะฉะนั้นในบรรดาประเทศเหล่านี้ในยุคสงครามเย็น รัฐประหารเหมือนเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของประเทศนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คงหนีไม่พ้นการเมืองไทยเอง หรือในกรณีของเมียนมา แต่ถึงเช่นนั้น ในปัจจุบันก็มีหลายประเทศที่พยายามจะเปลี่ยนผ่านและยกระดับการเมืองให้มีการพัฒนามากขึ้น

 

“ข่าวรัฐประหารในจีนอาจจะเป็นข่าวลือจริง แต่เราต้องยอมรับว่า เมื่อมองจากขีดความสามารถในการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มันคงไม่ง่ายที่จะมีผู้นำทหารจีนลุกขึ้นมาเอารถถังเคลื่อนขึ้นไปยึดทำเนียบรัฐบาลที่ปักกิ่ง แล้วประกาศออกสถานีวิทยุปักกิ่งว่า ผู้นำทหารจีนได้ยึดอำนาจแล้ว ในบริบทอย่างนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

 

แต่สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ ความท้าทายอาจจะออกมาอีกรูปแบบหนึ่งคือ ‘การแข่งขันเชิงอำนาจในระดับผู้นำ’ ซึ่งเราเห็นมาหลายยุค ยกตัวอย่างเช่นเหมาเจ๋อตงที่เคยแข่งขันกับหลินเปียว อดีตผู้นำหมายเลข 2 ของจีนคอมมิวนิสต์ 

 

“แปลว่าในบริบทอย่างนี้ การรัฐประหารไม่ใช่คำตอบ แต่การแข่งขันเชิงอำนาจภายในโครงสร้างของพรรคคอมมิวนิสต์มันมีอยู่” ศ.ดร.สุรชาติ สรุปทิ้งท้ายในหัวข้อนี้

 

 

อุปสรรคของจีนนับจากนี้จนถึงปี 2049?

ต้องเท้าความก่อนว่า จีนมีสองความฝันใหญ่ด้วยกัน หมุดหมายแรกคือ ‘100 ปีแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน’ ซึ่งส่วนนี้จีนได้ประกาศความสำเร็จในการยกระดับชีวิตของประชาชนให้อยู่เหนือเส้นความยากจนได้สำเร็จไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2021 ซึ่งเป็นวาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 1 ศตวรรษของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

ส่วนหมุดหมายที่สองคือ ‘100 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน’ ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2049 โดยเป้าหมายที่จีนขีดไว้ คือการสร้างจีนให้กลายเป็นประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ที่ยิ่งใหญ่ในทุกมิติ หรือพูดง่ายๆ คือการปั้นตนเองสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่แน่นอนว่าระยะเวลาอีกเกือบ 30 ปีนี้ คงมีอุปสรรคหลายประการที่จีนจะต้องฝ่าไป

 

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า จีนคงเร่งพัฒนาตนเองอย่างที่เราเห็นกัน แต่ขณะเดียวกัน อุปสรรคใหญ่สำหรับการพัฒนาของจีนนั้นไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจ แต่อยู่ที่ปัญหาทางการเมือง ถ้าจีนจะยกระดับให้เป็นสังคมอารยะได้อย่างสง่าผ่าเผยในเวทีโลก จีนต้องยอมรับกติกาเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สีจิ้นผิงเองก็รู้อยู่แก่ใจว่า ภายในเงื่อนไขของการปกครองแบบพรรคคอมมิวนิสต์ การยอมรับเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจีนจะพัฒนาเศรษฐกิจได้ แต่ก็ยังจะติดที่อุปสรรคตรงนี้ 

 

“วันนี้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของจีนในบริบทของ Civil liberties หรือเรื่องของสิทธิพลเมืองใหม่ ก็คือเรื่องของกรณีอุยกูร์ และฮ่องกง ในขณะที่จีนพยายามโฆษณาว่า จีนยอมรับสิทธิของพี่น้องในฮ่องกง แต่ผมคิดว่าวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงหรือภายใต้คำสัญญาหนึ่งประเทศสองระบบ มันจบลงไปหมดแล้วกับสิ่งที่จีนปฏิบัติต่อฮ่องกง” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

 

 

“เพราะฉะนั้น ในด้านหนึ่ง จีนอาจจะต้องยอมรับว่า การเป็นรัฐอารยะอยู่ในเวทีโลก ความเป็นนิติรัฐ การยอมรับเรื่องสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งบริบทของปัญหาสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เว้นแต่จีนเชื่ออย่างเดียวว่า การยกสถานะของจีนจะทำผ่านมิติเดียวคือ ทำผ่านมิติของเศรษฐกิจเท่านั้น และเชื่อว่ามิติเศรษฐกิจจะทำให้จีนเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ได้ โดยจีนไม่ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของคนในบ้าน”

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากจีนใช้กำลังรุกรานไต้หวัน?

อีกประเด็นหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจไม่แพ้กัน คือความคุกรุ่นเหนือช่องแคบไต้หวัน แม้เราจะเห็นสัญญาณที่สองฝ่ายฮึ่มฮั่มกันอยู่หลายครั้ง แต่ในปีนี้การเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ได้โหมกระพือให้เหตุความตึงเครียดทวีความรุนแรงมากขึ้นและชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยจีนได้เปิดฉากการซ้อมรบด้วยกระสุนจริง 6 จุด ปิดล้อมรอบเกาะไต้หวันทั้งทางทะเลและทางอากาศ มีการเคลื่อนพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ในหลายพื้นที่สำคัญ ขณะที่ฝั่งของไต้หวันก็ลั่นวาจาว่าจะไม่ถอยกลับ หากเผชิญกับภัยคุกคามทางทหาร รวมถึงจะรักษาอำนาจอธิปไตยของชาติไว้ และจะเดินหน้าปกป้องประชาธิปไตยต่อไป

 

แม้สุดท้ายการซ้อมรบจะปิดฉากลงโดยไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น แต่ความกังวลในประเด็นที่จีนอาจใช้ความรุนแรงเข้ายึดไต้หวันนั้นก็ยังไม่จางหาย ทำให้เกิดคำถามว่า ในอนาคตข้างหน้า จีนจะใช้กำลังเข้ารุกรานไต้หวันจริงอย่างที่เคยขู่ไว้หรือไม่

 

 

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า ในเรื่องของการทหารนั้น สงครามระหว่างจีนและไต้หวันเป็นประเด็นที่ตัดทิ้งไม่ได้ ก่อนที่จะเกิดวิกฤตช่องแคบไต้หวันรอบนี้ ที่จริงเราเห็นสัญญาณมาเป็นระยะ ฉะนั้นวันนี้ ‘สงครามช่องแคบไต้หวัน’ ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับประเด็นด้านความมั่นคงในเอเชีย 

 

“ในสภาวะอย่างนี้ถ้าจีนตัดสินใจเปิดสงครามใหญ่กับไต้หวัน ผมคิดว่ามันก็คงไม่ต่างกับสงครามที่รัสเซียเปิดกับยูเครน ซึ่งอันนี้ก็คงเป็นอะไรที่หลายฝ่ายไม่อยากเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันนี้ไต้หวันเป็นฐานการผลิตชิปใหญ่ของโลก โดยประมาณร้อยละ 60 ของชิปโลกมาจากไต้หวัน แปลว่าหากเกิดสงครามระหว่างจีนกับไต้หวัน ก็จะมีผลกระทบต่อซัพพลายเชนทางด้านชิปคอมพิวเตอร์ โลกอาจเจอวิกฤตอีกแบบหนึ่ง 

 

“อย่างในสงครามยูเครนนั้น ผลกระทบออกมาในรูปแบบของวิกฤตอาหาร วิกฤตปุ๋ย รวมไปถึงวิกฤตพลังงาน แต่ในกรณีของจีน-ไต้หวัน จะเป็นวิกฤตด้านชิปคอมพิวเตอร์ รวมถึงปัญหาด้านการเดินเรือ แน่นอนว่าถ้าสงครามจีนไต้หวันขยายตัวไปในทิศทางเหมือนสงครามในยูเครน คำตอบก็คือ เราจะเห็นการรบที่ค่อนข้างใหญ่เลยทีเดียว”

 

ไทยควรดำเนินนโยบายต่อจีนอย่างไร เพื่อให้สมดุลกับความสัมพันธ์สหรัฐฯ ด้วย?

นอกเหนือจากประเด็นของไต้หวันแล้ว อีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลยคือสหรัฐฯ ชาติมหาอำนาจที่ขับเคี่ยวกับจีนมาตลอด คำถามที่หลายคนอดสงสัยไม่ได้คือ แล้วไทยเราที่ประกาศว่าตัวเองเป็นพันธมิตรกับทั้งจีนและสหรัฐฯ ควรจะวางตัวอย่างไร เพื่อบาลานซ์ความสัมพันธ์กับทั้งสองชาติให้เข้าตำรา ‘บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น’ 

 

และในสายตาของต่างชาติแล้ว พวกเขามองว่าไทยวางตัวอยู่ฝ่ายไหนในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกกันแน่

 

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า “ผมคิดว่านับจากรัฐประหาร 57 ภาพของไทยในสายตาสื่อต่างประเทศ และนักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศคือ ไทยย้ายข้างไปอยู่กับจีน ในขณะที่ผู้คนในบ้านเราอาจจะไม่รู้สึก แต่ในมุมที่เขามองจากนอกบ้าน เขามองว่านโยบายไทยไปทางเดียวกับจีน”

 

ศ.ดร.สุรชาติระบุว่า คำตอบส่วนหนึ่งที่ชัดว่าในปัจจุบันเราหันไปซบอกจีนมากขึ้น คือ การออกเสียงในเวทีสหประชาชาติ (UN) โดยในครั้งแรก ไทยเราลงเสียงประณามรัสเซีย แต่ที่เหลือนั้นเราลงเสียงในแบบที่ใช้วิธีการงดออกเสียง

 

“วันนี้ ‘การงดออกเสียง’ คนไทยอาจจะเข้าใจผิด เพราะการงดออกเสียงไม่ได้บอกว่าไทยเป็นกลาง แต่การงดออกเสียงบอกว่า ไทยงดออกเสียงในแบบที่จีนทำ หรือบางคนอาจจะบอกว่า เป็นการงดออกเสียงในแบบของกลุ่มประเทศแอฟริกา เพราะมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเรื่องธัญญาหาร และพลังงานจากรัสเซีย

 

“อย่างที่บอกว่าวันนี้ เพียงแค่เผชิญโจทย์การลงเสียงในเวทีสหประชาชาติก็มีคำถามที่เราจะต้องตอบตัวเองว่า ตกลงถ้าไทยชอบพูดว่า ไทยเป็นกลางในความขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ ตกลงแล้วความเป็นกลางของไทยจะแสดงออกแค่ไหน อย่างไร”

 

ปีหน้า คำถามนี้จะท้าทายอย่างมาก

 


 

และนี่คือชุดคำถามอุ่นเครื่องก่อนที่เราจะกลับมาคุยกับ ศ.ดร.สุรชาติ อีกครั้งบนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022: THE END OF GLOBALIZATION? แน่นอนว่า การเมืองโลกปีหน้าดุเดือดเข้มข้นและน่าจับตาอย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจาก ศ.ดร.สุรชาติ แล้ว ยังมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศของสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ด้านกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมวงเสวนาด้วย โดยจะมาวิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็นในปีหน้า และไทยควรวางหมากอย่างไรในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังแบ่งเป็นสองขั้ว

 

📍 ซื้อบัตร THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 ได้แล้ววันนี้ที่ 

www.thaiticketmajor.com/seminar/the-standard-economic-forum-2022.html

 

[โค้ดส่วนลดพิเศษ!] สำหรับผู้ติดตาม THE STANDARD ใช้โค้ด THESTANDARD ลดทันที 10% เมื่อซื้อบัตรทุกประเภท

 

#TheStandardEconomicForum2022 #เศรษฐกิจไทยบนปากเหว

 

แฟ้มภาพ: 

  • NOEL CELIS / AFP
  • Chien Chih-Hung/Office of The President via Getty Images
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X