×

ตัวเลขเศรษฐกิจจีนอ่อนแอ ตัวเร่งรัฐบาลทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ?

18.09.2019
  • LOADING...
ตัวเลขเศรษฐกิจจีน

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอลง อาจเป็นตัวกระตุ้นให้จีนเร่งทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ในปีนี้
  • แต่ ชาตรี โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) มองว่า เวลานี้สหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันมากกว่าจีน เพราะใกล้เข้าสู่ฤดูเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 ขณะที่สหรัฐฯ เหลือเครื่องมือทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากเท่าจีน
  • การปล่อยสกุลเงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาจช่วยกระตุ้นการส่งออก แต่ยังไม่สามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดจากสงครามการค้าได้ ดังนั้นการแก้ปัญหากำแพงภาษีจึงเป็นเรื่องที่จีนให้ความสำคัญ นอกเหนือจากนโยบายการเงินของธนาคารกลาง  

จีนกำลังถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัว และความเสี่ยงซวนเซสู่ทิศทางขาลง ด้วยเหตุนี้นักวิเคราะห์บางคนจึงมองว่า จีนในเวลานี้อาจมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการทางการคลัง และการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และอาจต้องปรับเปลี่ยนจุดยืนจากที่เคยแข็งกร้าวต่อประเด็นการค้า มาเป็นท่าทีที่รอมชอมมากขึ้น เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ 

 

ดังนั้นจึงทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่สองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะทำข้อตกลงเพื่อยุติสงครามการค้าระหว่างกันในเดือนตุลาคมนี้ 

 

แต่จะลงเอยแบบ Happy Ending ได้เร็วเช่นนั้นหรือ? และจีนจำเป็นต้องเร่งเจรจาเพื่อคลายแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านั้นจริงหรือไม่ 

 

ตัวเลขเศรษฐกิจจีน

 

แรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

จีนเพิ่งเผยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 กันยายน) ซึ่งปรากฏว่าขยายตัวเพียง 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์จากโพลสำรวจของรอยเตอร์ส ที่ระดับ 5.2%

 

ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นอัตราการเติบโตที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 17 ปี แย่กว่าเดือนกรกฎาคมที่ขยายตัว 4.8% เสียอีก ขณะที่ดัชนีดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดสุขภาพเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน

 

ที่ว่าสำคัญนั้นเป็นเพราะดัชนีนี้เป็นตัวชี้วัดผลิตผลจากภาคอุตสาหกรรมหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค

 

นอกจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอแล้ว ยังมีสัญญาณไม่สู้ดีจากตัวเลขค้าปลีกของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนที่ชะลอตัวเหลือ 7.5% ในเดือนสิงหาคม ต่ำลงจากระดับ 7.6% ในเดือนกรกฎาคม

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สงครามการค้าที่ดำเนินมานานนับปีเป็นปัจจัยลบที่ฉุดเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวช้าลง ดังนั้นหากจีนต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือการแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา ซึ่งก็คือการยุติข้อพิพาทกับสหรัฐฯ เพราะลำพังการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะพอกพูนยิ่งขึ้น ในเมื่อภาครัฐพยายามลดการพึ่งพาเครื่องมือการก่อหนี้

 

อย่างไรก็ตาม ชาตรี โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (KTBST) ให้ความเห็นว่า ถึงแม้จีนจะถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจให้ต้องเร่งเจรจากับสหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สหรัฐฯ อาจมีความกดดันมากกว่าจีน

 

ตัวเลขเศรษฐกิจจีน

 

คลังเครื่องมือของจีน 

สำหรับจีนแล้ว ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจในปีหน้าอาจโตชะลอตัวลงจาก 6.1-6.2% เหลือ 6.0% ในปีหน้า ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวช้าลงเหลือ 1.7% จากระดับ 2.0% ซึ่งจะเห็นว่าลดลงในอัตราที่พอๆ กัน แต่แนวโน้มเงินเฟ้อของจีนอยู่ที่ 2.5% ขณะที่สหรัฐฯ เข้าใกล้ระดับ 2% ซึ่งสูงกว่า GDP เสียอีก 

 

สงครามการค้าทำให้เห็นภาพว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็ได้รับผลกระทบทั้งคู่ ดังนั้นแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจจึงไม่ใช่แค่สะเทือนจีนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ ด้วย 

 

ในมุมมองของชาตรีนั้น จีนมีความจำเป็นต้องเร่งเจรจาการค้าน้อยกว่าสหรัฐฯ เมื่อมองในแง่ของความกังวลต่อเศรษฐกิจ เพราะจีนเชื่อว่าพวกเขาไม่มีปัญหาด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจีนสามารถนำเงินส่วนนี้ไปสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หากจีนยอมจัดทำงบประมาณขาดดุล โดยกู้เงินและลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

ส่วนสกุลเงินหยวนที่อ่อนค่าแตะ 7.05 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ ก็ไม่ได้สร้างความกังวลให้กับจีนมาก เพราะค่าเงินอ่อนจะช่วยให้การส่งออกดีขึ้น คนจีนที่เคยไปเที่ยวต่างประเทศก็จะกลับมาใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการบริโภคภายใน โดยที่ผ่านมาจีนพยายามลดการพึ่งพาการส่งออก และหันมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแทน

 

แต่กระนั้น มาร์ติน ลินจ์ นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics มองว่า การปล่อยค่าเงินหยวนให้อ่อนลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ไม่อาจช่วยชดเชยความเสียหายที่เกิดจากกำแพงภาษีของทรัมป์ และภาวะดีมานด์ชะลอตัวทั่วโลกได้ ซึ่งรัฐบาลจีนอาจเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกหลายเดือนหลังจากนี้ 

 

ต่อข้อวิตกเกี่ยวกับศักยภาพในการเติบโตของจีนนั้น นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงของจีน เคยกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า จีนยังมีเครื่องมือที่มากเพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าเวลานี้เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญแรงกดดันในทิศทางขาลง และความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่กำลังขยายตัวก็ตาม 

 

หลี่ย้ำด้วยว่า เศรษฐกิจจีนมีความยืดหยุ่นสูง อีกทั้งมีศักยภาพและช่องทางเพียงพอในการให้จีนขยับตัว

 

ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) มีการขยับหลายครั้ง ทั้งการลดอัตราส่วนการสำรองเงินขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ (Required Reserve Ratio หรือ RRR) เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน รวมถึงปฏิรูปกลไกกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงประเภท Loan Prime Rate เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนโยบายนั้น ชาตรีมองว่าดอกเบี้ยนโยบายของจีนอยู่ที่ 4.35% ซึ่งธนาคารกลางจีนยังสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อลดดอกเบี้ยได้อีกมาก ต่างจากสหรัฐฯ ที่ดอกเบี้ยต่ำแตะระดับเกือบๆ 2.0% ซึ่งทำให้เหลือทางเลือกไม่มาก

 

มุมมองของชาตรี สอดคล้องกับ ถิงลู่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งบริษัทลงทุนโนมูระ (Nomura) ในญี่ปุ่น ที่ให้ทัศนะกับ CNN ว่า แบงก์ชาติจีนอาจพิจารณาลดดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และคาดว่าอาจผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดในภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น

 

ดังนั้นชาตรีจึงมองว่า จีนอาจยังไม่เดือดร้อนมาก หากการเจรจากับสหรัฐฯ ยังไม่ลุล่วง แต่คนที่เดือดร้อนมากกว่าน่าจะเป็นสหรัฐฯ 

 

ตัวเลขเศรษฐกิจจีน

 

เมื่อวันอังคาร (17 กันยายน) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แย้มว่า สหรัฐฯ กับจีนมีโอกาสทำข้อตกลงการค้ากันได้ในเร็วๆ นี้ ขณะที่สองฝ่ายเตรียมเจรจาระดับรัฐมนตรีที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ช่วงต้นเดือนตุลาคม

 

อย่างไรก็ตาม ชาตรีมองว่า ถึงแม้การเจรจารอบนี้อาจมีความคืบหน้าที่สำคัญตามที่ฝ่ายจีนคาดหวัง แต่คิดว่าสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติสงครามการค้ากันได้ในปีนี้ 

 

สำหรับทรัมป์แล้ว เขายังไม่สามารถประกาศได้เต็มปากว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายชนะในสงครามการค้า ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้ากำลังใกล้เข้ามา ซึ่งทรัมป์อาจต้องแข่งขันชิงเก้าอี้กับเบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ดังนั้นเขาจึงคาดหวังให้การเจรจากับจีนมีความคืบหน้าเพื่อใช้เป็นผลงานในการหาเสียง

 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ทรัมป์ขู่จีนว่า หากไม่รีบทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง เงื่อนไขในข้อตกลงฉบับใหม่อาจเลวร้ายสำหรับจีนมากกว่าข้อตกลงในตอนนี้เสียอีก

 

คำเตือนดังกล่าวเป็นการกดดันจีนให้เร่งเจรจา แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความกระตือรือร้นและแรงกดดันที่สหรัฐฯ ต้องการทำข้อตกลงให้ลุล่วงโดยเร็ว ถึงแม้ทรัมป์เชื่อว่าเขาจะชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 2020 ก็ตาม

 

แม้ทรัมป์อ้างว่า ลึกๆ แล้วรัฐบาลจีนเชื่อว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งในปีหน้า แต่จีนก็ยังต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน เพราะหากเลือกได้ จีนอาจต้องการทำข้อตกลงกับประธานาธิบดีคนอื่นมากกว่าทรัมป์ ดังนั้นเราอาจเห็นภาพที่ชัดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งระดับไพรมารีของแต่ละพรรคว่า ทรัมป์จะยังได้เป็นตัวแทนของรีพับลิกันหรือไม่

 

ชาตรีมองว่า หากทรัมป์แพ้การเลือกตั้งไพรมารี หรือชนะเฉียดฉิวด้วยคะแนนเสียงปริ่มน้ำ ก็อาจทำให้จีนยังไม่เร่งเจรจา และรอไปจนกระทั่งทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ก็ได้ ถึงแม้ทรัมป์จะเตือนไว้ก่อนว่า การทำข้อตกลงหลังวันที่ 3 พฤศจิกายนจะแตกต่างออกไป หากทรัมป์ชนะ

 

แต่ในทางกลับกัน หากทรัมป์ได้รับชัยชนะแบบถล่มทลายในการเลือกตั้งชิงชัยตัวแทนพรรครีพับลิกัน ก็อาจทำให้จีนยอมถอย และประนีประนอมมากขึ้น เพราะหากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีก 4 ปี ย่อมส่งผลเสียต่อจีน หากยังไม่มีการทำข้อตกลงเพื่อเป็นหลักประกัน

 

ด้วยเหตุนี้การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนจึงต้องรอดูกันยาวๆ ถึงแม้จีนถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจในระยะหลัง แต่เมื่อมองถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯ ต้องกระตือรือร้นมากกว่าแล้ว อาจทำให้จีนรอดูสถานการณ์เพื่อความชัดเจนไปก่อน

 

เพราะพวกเขายังมีทางเลือกอีกมากในการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้หลุดกรอบทิศทางที่กำหนดไว้   

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising