×

จีนพลิกโฉมขนานใหญ่ ทนเจ็บระยะสั้น เพื่อความแข็งแกร่งระยะยาว

24.07.2024
  • LOADING...

คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 ได้จัดการประชุมใหญ่ที่เรียกว่า 3rd Plenum ซึ่งจัดขึ้นทุก 5 ปี เพื่อวางแผนกำหนดทิศทางจีน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่อึมครึมซึมเซาในประเทศจีน หลายคนอาจคาดหวังว่า การประชุมสำคัญในรอบนี้ จีนจะออกมาตรการขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ถ้าเป็นเพียงแค่การคาดหวังผลระยะสั้น อาจดูเหมือนไม่มีอะไรใหม่ที่เป็นข่าวดี เนื่องจากการประชุม 3rd Plenum เน้นวางแผนระยะยาวเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่เพียงการซื้อเวลาไปวันๆ ด้วยการทุ่มละเลงงบกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

 

บทความนี้วิเคราะห์ทิศทางจีนในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนขนานใหญ่จากเอกสารสำคัญที่เรียกว่า 3rd Plenum Communique อีก 5 ปีจากนี้ จีนจะไปทางไหน และจะมีผลกระทบอย่างไร ใครบ้างที่ต้องทนเจ็บในระยะสั้น ใครบ้างจะได้รับประโยชน์ในระยะยาว

 

ประเด็นแรก จีนจะไปทางไหน เอกสาร Communique จากการประชุม 3rd Plenum ครั้งนี้ เน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนอย่างครอบคลุมและสร้างความทันสมัยแบบจีน โดยใช้คำว่า Comprehensive Reform และ Chinese Modernization และมีแผนการใหญ่เพื่อปรับโครงสร้างเชิงระบบ ตั้งเป้าหมายให้สำเร็จภายใน 5 ปี สะท้อนทิศทางจีนและเป้าหมายสำคัญ 6 ด้าน ดังนี้ 

 

(1) มุ่งเน้น ‘พลังการผลิตที่มีคุณภาพใหม่’ (New Quality Productive Forces) สร้างภาคการผลิตที่มี ‘สามสูง’ คือ มีคุณภาพสูง, มีเทคโนโลยีระดับสูง และมีประสิทธิภาพในระดับสูง (High Quality, High Technology, High Efficiency) ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตสินค้าเชิงปริมาณที่ไร้คุณภาพเหมือนในอดีต สร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และอัปเกรดอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้มีความทันสมัย โดยมีอุตสาหกรรม ‘สามใหม่’ (New Three Industries) เป็นเป้าหมายหลัก ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Photovoltaic)

 

(2) เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ ปรับโมเดลใหม่ ใช้พลังการบริโภคขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน (Consumption-Driven Economy) อย่างจริงจัง ส่งเสริมให้ชาวจีนใช้จ่ายมากขึ้น และช่วยสร้างงานใหม่ เพื่อให้ชาวจีนมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งภาครัฐจะปฏิรูประบบประกันสังคม ปรับโครงสร้างภาษี และผ่อนคลายด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของครัวเรือน

 

(3) เน้นการพึ่งพาตนเอง (Self-Reliance) ลดการพึ่งพาต่างประเทศ จากการกีดกันจีนในรูปแบบต่างๆ ของประเทศตะวันตก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ทำให้จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีของจีนเอง เน้นเทคโนโลยีแห่งอนาคตและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

 

(4) ปรับสมดุลการลงทุนภาครัฐ ลดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มากเกินไป เพื่อปรับไปลงทุนด้านสังคมให้มากขึ้น เช่น ด้านสวัสดิการสังคม, การศึกษา, การวิจัยและพัฒนา และสร้างแรงงานทักษะสูง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 

 

(5) ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจีน (SOE) ปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจขนานใหญ่ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่เป็นซอมบี้หรือมีการผลิตแบบดั้งเดิมจะถูกกดดันให้ต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น จำเป็นต้องแปรรูป นำกลไกตลาดมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจจีนที่ล้าหลังเหล่านั้น

 

(6) ปฏิรูประบบสวัสดิการด้านต่างๆ (Social Safety Net) เช่น เงินบำนาญและการดูแลสุขภาพ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวจีน และสร้างความมั่นใจให้ชาวจีนมากขึ้น ภาครัฐจะช่วยดูแลด้านสวัสดิการให้เต็มที่ คนจีนจะได้เก็บออมน้อยลงและกล้าใช้จ่ายมากขึ้น กล้าใช้เงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับโมเดลใหม่ที่ใช้พลังการบริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ​

 

โดยสรุป ทิศทางจีนในยุค สีจิ้นผิง อีก 5 ปีจากนี้ ยังคงยืนหยัดตามแนวทาง ‘โมเดลเศรษฐกิจสีจิ้นผิง’ (Xinomics) ที่มุ่งปรับโครงสร้างเชิงระบบ ขจัดจุดอ่อนของโมเดลจีนแบบเดิม เพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจจีนให้แข็งแกร่งและยั่งยืน ลดการพึ่งพาภาคต่างประเทศ และเติบโตในเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เชิงปริมาณเหมือนที่ผ่านมา แต่แน่นอนว่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลายภาคส่วนในจีนจะต้องยอมทนเจ็บในระยะสั้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และเพื่อสิ่งที่ดีกว่าในระยะยาว

 

ประเด็นที่สอง กลุ่มไหนต้องทนเจ็บในระยะสั้น? กลุ่มไหนจะได้รับประโยชน์ในระยะยาว?

 

(1) อุตสาหกรรมใดที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบและต้องปรับตัวขนานใหญ่จากการปรับโครงสร้างเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจจีน ตามเป้าหมายของผลการประชุม 3rd Plenum ของจีนในครั้งนี้

 

ทิศทางจีนมุ่งสร้างพลังการผลิตแบบใหม่ ‘New Quality Productive Forces’ เน้นการผลิตที่มีคุณภาพสูง ย่อมจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะการผลิตระดับล่างที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น เช่น โรงงานเสื้อผ้า, ของเล่น และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานราคาถูก รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตที่สร้างมลพิษสูง ทิศทางจีนมุ่งเพื่อ Green Transition เน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีกฎระเบียบในด้านนี้ที่เข้มงวดขึ้น ดังนั้น อุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน จะมีค่าใช้จ่ายในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้นจากการที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น

 

ในแง่ผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจจีน ถ้าหากเป็นรัฐวิสาหกิจซอมบี้ รัฐวิสาหกิจในอุตสาหกรรมแบบเก่าที่ไม่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพต่ำ หรือมีกำลังการผลิตล้นเกิน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักบางประเภท เช่น เหมืองถ่านหิน เหล็ก ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันให้ปรับโครงสร้างใหม่เพื่อความอยู่รอด หรืออาจถูกยุบรวม ปรับโครงสร้างขนานใหญ่

 

นอกจากนี้ หลายอุตสาหกรรมของจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่อาจต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้ามากขึ้น ผลจากการที่รัฐบาลปรับมาเน้นภาคการบริโภคมากขึ้น เป็นปัจจัยเอื้อให้สินค้านำเข้ามีโอกาสเข้ามาแข่งขันกับสินค้าของบริษัทจีนมากขึ้นเช่นกัน

 

สำหรับผลกระทบต่อภาคบริการในจีน เช่น ธุรกิจผู้ให้บริการต้นทุนต่ำ (Low-Cost Service Providers) จะถูกกดดันให้อัปเกรดปรับคุณภาพให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เช่น ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว, การศึกษา และการดูแลสุขภาพ

 

โดยสรุป ธุรกิจในหลายภาคส่วนของจีนจะต้องทนเจ็บ ต้องเผชิญกับความท้าทายในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำแบบดั้งเดิม จำเป็นต้องปรับตัวและวางตำแหน่งสินค้าของตัวเองใหม่ เน้นสินค้าคุณภาพระดับสูง ไม่ใช่เน้นเชิงปริมาณแบบเดิม เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโมเดลเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของจีน

 

(2) อุตสาหกรรมใดที่จะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการปรับโครงสร้างเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจจีน ตามเป้าหมายใหญ่ในรอบ 5 ปีครั้งนี้

 

ทิศทางจีนเน้นอุตสาหกรรมการผลิตที่มีคุณภาพสูง จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่สามารถสร้างสรรค์และผลิตสินค้าระดับไฮเอนด์ เช่น การผลิตเครื่องจักรอัจฉริยะ, การผลิตที่มีความแม่นยำ, การผลิตวัสดุขั้นสูง รวมทั้งด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ รวมถึงในแง่ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภาครัฐและเอกชนจีนจะทุ่มลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในสาขาต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์, หุ่นยนต์ และพลังงานสะอาด ดังนั้น บริษัทและสถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้จะมีโอกาสได้รับเงินทุนและโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ทิศทางจีนที่เน้นสร้างพลังการบริโภคภายในประเทศ จะสร้างโอกาสให้กับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ตอบสนองความต้องการของชาวจีนยุคใหม่ที่มีรายได้มากขึ้น เช่น สินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องแต่งกาย, เครื่องใช้ในบ้าน และผลิตภัณฑ์เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น 

 

สำหรับภาคบริการ หากจีนสามารถปรับโมเดลมาเน้นสร้างพลังการบริโภคได้สำเร็จ เศรษฐกิจจีนกลับมาคึกคักอีกครั้ง ผู้คนจะกล้าใช้จ่ายในภาคบริการมากขึ้นตามไปด้วย เช่น ด้านการท่องเที่ยวและความบันเทิงจะมีโอกาสได้รับประโยชน์ตามไปด้วย ทั้งธุรกิจโรงแรม, บริษัทตัวแทนท่องเที่ยว, สวนสนุก และแพลตฟอร์มความบันเทิงออนไลน์ รวมทั้งธุรกิจด้านสุขภาพและการศึกษา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม ภาครัฐและเอกชนจีนมีแนวโน้มเพิ่มการลงทุนเพื่อดูแลสุขภาพและการศึกษามากขึ้น เป็นโอกาสของบริษัทที่จัดหาอุปกรณ์ดูแลสุขภาพ, เภสัชภัณฑ์ และสินค้าทางการศึกษา

 

สำหรับภาคส่วนอื่นๆ ที่มีโอกาสจะได้รับผลประโยชน์ เช่น ด้านการเกษตรทันสมัย ชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นจะมีความต้องการอาหารที่คุณภาพสูงมากขึ้น เช่น สินค้าออร์แกนิกและสินค้าเกษตรที่ยั่งยืน รวมทั้งด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม การผลักดันเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของจีนจะสร้างโอกาสให้กับบริษัทต่างๆ ที่นำเสนอโซลูชันพลังงานสะอาด, เทคโนโลยีการควบคุมมลพิษ ตลอดจนบริการด้านการจัดการของเหลือทิ้ง (Waste Management)

 

โดยสรุป ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของจีนจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ใครต้องทนเจ็บ ใครจะได้ประโยชน์ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะและโครงสร้างของแต่ละอุตสาหกรรม และความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แน่นอนว่าภาคการผลิตดั้งเดิมต้องเจ็บตัวในระยะสั้น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจจีนที่เป็นซอมบี้ ต้องปรับโครงสร้างใหม่ให้มีประสิทธิภาพและแข่งขันได้มากขึ้น รวมทั้งผู้ผลิตระดับล่างต้องถูกกดดันให้เปลี่ยนไปผลิตสินค้าคุณภาพและสินค้าที่มีนวัตกรรม เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ และช่องทางใหม่ๆ สำหรับการเติบโต จากการพลิกโฉมเศรษฐกิจจีนตามเป้าหมายของการประชุม 3rd Plenum ในครั้งนี้ 

 

จากที่กล่าวมา สะท้อนกรอบทิศทางการเปลี่ยนแปลงของจีนที่เป็นผลจากการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในครั้งนี้ แต่จะสำเร็จได้จริงตามเป้าหมายภายใน 5 ปีที่วางไว้หรือไม่ จำเป็นต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการที่จะนำมาใช้และลำดับเวลาในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลจีนต่อไป

 

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศไทยและประเทศในอาเซียนจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในบทความตอนต่อไป

 

ภาพ: AFP 

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising