ประเทศ จีน ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ที่สุดในโลก ปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เนื่องจากการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดใหญ่และวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จีนจะหันมาใช้ถ่านหินเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าในประเทศท่ามกลางภัยแล้งที่รุนแรง
ตามรายงานของ Carbon Brief ผู้ให้บริการวิจัยสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า การปล่อยคาร์บอนของจีนลดลงเกือบ 8% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ (เมษายน-มิถุนายน) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการลดลงหนักที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างมาก เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดใหญ่และวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้การปล่อยมลพิษในจีน ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ที่สุดในโลก ยังลดลงเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกันแล้วด้วย
ด้าน Lauri Myllyvirta นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นผู้รวบรวมข้อมูลให้แก่ Carbon Brief กล่าวว่า จำนวนโครงการก่อสร้างที่เริ่มสร้างไปแล้วลดลง 44% ขณะที่จำนวนโครงการก่อสร้างที่แล้วเสร็จก็ลดลง 33% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
“การปล่อยมลพิษที่ลดลงเป็นผลมาจากการลดลงของผลผลิตเหล็กและซีเมนต์ เนื่องจากการตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันสำหรับการขนส่งก็ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด การใช้ไฟฟ้าที่ชะลอตัว และการผลิตพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก” Lauri Myllyvirta กล่าว
ทั้งนี้ เหล็กคือวัตถุดิบที่ถูกใช้งานอย่างหนักในภาคการก่อสร้าง นอกจากนี้อุตสาหกรรมเหล็กยังเป็นภาคส่วนที่ปล่อยคาร์บอนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากการผลิตไฟฟ้า
โดยการลดลงครั้งก่อนหน้านี้ที่มีขนาดใกล้เคียงกันคือในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 โดยในตอนนั้นจีนปล่อยมลพิษลดลง 7% เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงแรกของการระบาดใหญ่
ขณะที่ในตอนนี้เศรษฐกิจจีนยังกำลังเผชิญกับปัญหา ‘หนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์’ ที่เพิ่มขึ้น หลังจากวิกฤตการณ์ผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปีที่แล้ว ตั้งแต่นั้นมาบริษัทอสังหาแห่งอื่นๆ ก็ผิดนัดชำระหนี้ตาม ทำให้การผลิตปูนซีเมนต์ของจีนในไตรมาสที่ 2 ลดลง 18% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามรายงานของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ โดยข้อมูลจากทางการจีนก็ระบุว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ (ไตรมาสที่ 2 ของปี 2022) GDP จีนขยายตัวเพียง 0.4%
ภัยแล้งอาจทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในจีนสูงขึ้น
ท่ามกลางคลื่นความร้อนและภัยแล้งทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในจีนต่ำกว่าระดับปกติมาก โดยนักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่าจีนจะหันมาใช้ถ่านหินเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าในประเทศ แม้ว่าจะทำให้การปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Lauri Myllyvirta เปิดเผยอีกว่า จีนพยายามเพิ่มกำลังการผลิตถ่านหิน โดยอนุมัติโครงการใหม่ 21 กิกะวัตต์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2016 อย่างไรก็ตาม ก็มีสัญญาณว่าการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากนโยบายด้านพลังงานก่อนหน้านี้ทำให้ราคาไฟฟ้าจากถ่านหินแพงเกินไป
อ้างอิง: