×

จีนเลือก ‘จู้หรง’ ชื่อยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรก ตั้งตามชื่อเทพแห่งไฟ

โดย THE STANDARD TEAM
25.04.2021
  • LOADING...
จีนเลือก ‘จู้หรง’ ชื่อยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรก ตั้งตามชื่อเทพแห่งไฟ

เมื่อวานนี้ (24 เมษายน) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ประกาศว่า ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนได้รับการตั้งชื่อว่า ‘จู้หรง’ (Zhurong) ตามชื่อเทพแห่งไฟในตำนานจีนโบราณ ซึ่งพ้องกับ ‘หั่วซิง’ (Huoxing) ชื่อดาวอังคารในภาษาจีนที่แปลว่าดาวเคราะห์แห่งไฟ โดยการประกาศมีขึ้นในวันที่ 24 เมษายน ซึ่งตรงกับวันอวกาศ (Space Day) ของจีน

 

อู๋เหยี่ยนหัว รองผู้อำนวยการ CNSA ระบุว่า ไฟนำพาความอบอุ่นและความสว่างมาสู่บรรพบุรุษของมนุษยชาติ และไฟเป็นสิ่งที่จุดประกายอารยธรรมมนุษย์ การตั้งชื่อยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนตามเทพเจ้าแห่งไฟ จึงหมายถึงการจุดไฟแห่งการสำรวจดาวเคราะห์ของจีน

 

‘จู้’ ซึ่งแปลว่าความปรารถนาในภาษาจีน หมายถึงความปรารถนาดีต่อการสำรวจจักรวาลของมวลมนุษยชาติ ส่วน ‘หรง’ ซึ่งแปลว่าการบูรณาการและความร่วมมือในภาษาจีน สะท้อนวิสัยทัศน์ของจีนในการใช้อวกาศอย่างสันติ และการสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน

 

อู๋ระบุว่า ชื่อดังกล่าวเป็นอีกตัวอย่างของความใฝ่ฝันทางวิทยาศาสตร์ของคณะผู้ทำงานด้านการบินและอวกาศของจีน หลังจากพวกเขาได้ตั้งชื่อยานอวกาศหลายลำ ซึ่งรวมถึง เทียนเวิ่น (Tianwen), ฉางเอ๋อ (Chang’e), และเป่ยโต่ว (Beidou) ตามวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม สะท้อนจิตวิญญาณการสำรวจและความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรมของชาวจีน

 

ทั้งนี้จีนปล่อยยานสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น-1 เมื่อวันที่ 23 กรกฤฎาคม 2020 โดยยานดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด และยานสำรวจพื้นผิว เข้าสู่วงโคจรลงจอดของดาวอังคาร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ส่วนที่ท้าทายที่สุดของภารกิจสำรวจดาวอังคารจะเป็นการลงจอดแบบนุ่มนวลในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นขั้นตอนอัตโนมัติที่ใช้เวลานาน 7-8 นาที โดยยานลงจอดจะใช้รูปทรงตามหลักอากาศพลศาสตร์ การปล่อยร่ม และจรวดถอยหลัง (Retrorocket) เพื่อชะลอความเร็วและรับน้ำหนักกระแทกในการลงจอด

 

เหล่าวิศวกรอวกาศและนักวิทยาศาตร์ของจีนได้เลือกให้ยานลงจอดในภูมิภาคที่ค่อนข้างราบเรียบทางตอนใต้ของยูโทเปีย พลานิเทีย (Utopia Planitia) ซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่ และเป็นพื้นที่ที่คาดว่ายานจะสามารถลงจอดได้สำเร็จ

 

การวิจัยก่อนหน้าพบว่าพื้นที่ข้างต้นอาจเป็นขอบของมหาสมุทรหรือทะเลสาบโบราณในประวัติศาสตร์ยุคแรกของดาวอังคาร โดยคณะนักวิทยาศาสตร์จีนคาดหวังว่าจะพบหลักฐานการมีอยู่ของน้ำ-น้ำแข็งบนดาวอังคารเพิ่มขึ้น

 

ด้านเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ของยานเทียนเวิ่น-1 ประกอบด้วยการทำแผนที่สัณฐานวิทยาและโครงสร้างทางธรณีวิทยา การตรวจสอบลักษณะของดินบนพื้นผิวและการกระจายตัวของน้ำ-น้ำแข็ง การวิเคราะห์องค์ประกอบทางวัตถุของพื้นผิว การวัดชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์และลักษณะของสภาพภูมิอากาศบนดาวอังคารและสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นผิว ตลอดจนการทำความเข้าใจพื้นที่ทางกายภาพและโครงสร้างภายในของดาวอังคาร

 

ยานโคจรมีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ติดตั้ง 7 ชนิด ได้แก่ กล้องสำรวจระยะไกล 2 ตัว เรดาร์สำรวจชั้นดินจากวงโคจรดาวอังคาร สเปกโตรมิเตอร์วัดแร่ธาตุดาวอังคาร เครื่องวัดความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กของดาวอังคาร เครื่องวัดอนุภาคที่เป็นกลางและไอออนของดาวอังคาร และเครื่องวัดอนุภาคพลังงานของดาวอังคาร

 

อนึ่ง โครงการตั้งชื่อระดับโลกของยานสำรวจพื้นผิวลำดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งในจีนและต่างประเทศถูกเชิญให้มาร่วมลงคะแนนชื่อที่ชอบจาก 10 ชื่อที่ถูกเสนอระหว่างวันที่ 20 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และ ‘จู้หรง’ เป็น 1 ใน 3 ชื่อที่มีคนลงคะแนนให้มากที่สุด

 

จีนกำหนดให้วันที่ 24 เมษายนเป็นวันอวกาศของจีน ตั้งแต่ปี 2016 เพื่อรำลึกถึงการส่ง ‘ตงฟางหง-1’ (Dongfanghong-1) ดาวเทียมดวงแรกของประเทศขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 เมษายน 1970

 

นครหนานจิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน รับหน้าที่จัดงานหลักเพื่อรำลึกวันอวกาศในปีนี้ โดยกิจกรรมอันหลากหลายกลายเป็นหน้าต่างบานใหญ่ให้สาธารณชนจีนและโลกได้ทำความเข้าใจความก้าวหน้าด้านการบินและอวกาศของจีน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • สำนักข่าวซินหัว
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X