นโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ Zero-COVID ของทางการจีนกำลังสร้างผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าทั้งทางทะเลและทางอากาศในเมืองใหญ่หลายแห่งของจีน โดยทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตาดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากกังวลว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาซัพพลายเชน ดิสรัปชันขึ้นมาอีกครั้ง
Atul Vashistha ผู้ก่อตั้งและประธานของ Supply Wisdom บริษัทที่ปรึกษาด้านซัพพลายเชน ระบุว่า แม้ท่าเรือขนาดใหญ่ในจีนยังคงเปิดให้บริการอยู่ แต่ข้อจำกัดทางสาธารณสุข เช่น การกักตัวและการตรวจโควิดที่เข้มงวด ได้ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการขนถ่ายและขนส่งสินค้า
“สินค้าจำนวนมากถูกกองทิ้งไว้ เพราะเรือไม่สามารถเข้ามาขนถ่ายสินค้าได้จากมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดของจีนในช่วงก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน และการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว” Vashistha กล่าว
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายเมืองของจีน เช่น เซินเจิ้น เทียนจิน หนิงโบ และซีอาน ทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
โดยการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเมืองหนิงโบเมื่อเดือนธันวาคม ยังส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือหนิงโบ-โจวซาน จนทำให้เรือจำนวนมากต้องหันหัวไปที่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้แทน แม้ว่าปัจจุบันท่าเรือหนิงโบ-โจวซานจะกลับมาให้บริการแล้ว แต่ปัญหาการจราจรทางทะเลติดขัด และการขนส่งสินค้าที่ล่าช้ายังคงมีอยู่
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นส่งผลให้ Spot Rate ของการขนส่งทางเรือในเส้นทางจากเอเชียไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4% ขณะที่อัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน
โดยข้อมูลจากดัชนี Freightos Air Index ชี้ให้เห็นว่าค่าขนส่งสินค้าจากจีนไปยุโรปเหนือปรับเพิ่มขึ้นจาก 6 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็น 9.59 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมในช่วงกลางเดือน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 50%
Paul Gruenwald หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Ratings กล่าวว่า การระบาดของโควิดในจีนเสี่ยงที่จะทำให้พัฒนาการในการกลับสู่ภาวะปกติของต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ทยอยปรับตัวลดลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต้องล่าช้าออกไป และยังเพิ่มความเปราะบางให้กับซัพพลายเชนต่างๆ ด้วย
อ้างอิง: