×

มองปัจจัยเสี่ยงจีนเผชิญหายนะ ‘ผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง-ยอดตายนับล้าน’ หลังยกเลิกคุมเข้มการระบาด

09.12.2022
  • LOADING...
โควิดจีน

ที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียว ที่ยังคงบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดที่เข้มงวดตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ Zero-COVID 

 

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ก็ตั้งใจที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างสิ้นเชิงในช่วงต้นของการแพร่ระบาด แต่ในท้ายที่สุดก็ต้องละทิ้งแนวทางนี้ เนื่องจากต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และตระหนักได้ว่า การกำจัดการระบาดของโควิดในท้องถิ่นให้หายไปทั้งหมด ส่วนใหญ่ไร้ประโยชน์และไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน

 

ยุทธศาสตร์ของจีนในนโยบาย Zero-COVID ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการเข้มงวดต่างๆ ตั้งแต่การตรวจเชื้อหมู่ประชาชนจำนวนมาก การล็อกดาวน์ปิดทั้งเมืองหรือมณฑล ตลอดจนการกักตัวใครก็ตามที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรืออาจสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เริ่มกลายเป็นแนวทางที่ไม่สามารถป้องกันการระบาดได้มากขึ้น ขณะที่การบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดตามอำเภอใจบ่อยครั้ง กระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนมากขึ้น และนำไปสู่การประท้วงใหญ่ในหลายเมืองช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของจีนนั้น ต้องเผชิญกับขีดจำกัด เมื่อเจอกับเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีระยะฟักเชื้อที่สั้นและระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า อีกทั้งยังเล็ดลอดภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนดั้งเดิมของจีน ทำให้มาตรการที่แม้จะเข้มงวดอย่างมาก ก็ไม่อาจหยุดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ได้

 

ขณะที่ผลจากการประท้วงที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ทางการจีนตัดสินใจปรับเปลี่ยนท่าที ด้วยการยอมยกเลิกมาตรการเข้มงวด ทั้งการบังคับแสดงผลตรวจเชื้อเป็นลบเพื่อเข้าสถานที่สาธารณะ และการบังคับกลุ่มเสี่ยงที่มีหรือไม่มีอาการให้กักตัวในสถานที่ของทางการ 

 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านจากนโยบาย Zero-COVID นั้นสร้างความเจ็บปวดให้กับทุกประเทศที่ดำเนินการ ขณะที่จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เหมือนใครในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้

 

จำนวนประชากรมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับต่ำ

 

ย้อนไปในช่วงต้นปี 2020 จีนได้รับการชื่นชมจากความสำเร็จในการดำเนินนโยบายที่สามารถยับยั้งการระบาดของโควิด โดยมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับต่ำ แม้ว่าตัวเลขตามที่มีรายงานจะแตกต่างกันไปตามแหล่งที่มา แต่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามีรายงานกรณีผู้ติดเชื้อในจีนเกือบ 10 ล้านราย นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2020

 

ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรในประเทศที่มีจำนวน 1.4 พันล้านคน ทำให้จนถึงปัจจุบัน มีประชากรจีนจำนวนไม่มากที่ได้รับภูมิคุ้มกันโควิดผ่านการติดเชื้อ

 

สำหรับอัตราฉีดวัคซีนในประเทศจีน ส่วนใหญ่สอดคล้องกับรายงานในประเทศตะวันตก แต่ลักษณะที่ผิดปกติของอัตราการฉีดวัคซีนในจีน คือลดลงตามกลุ่มอายุ

 

โดยผู้สูงอายุนั้นเป็นประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อโควิด แต่ประชาชนจีนอายุเกิน 80 ปี ที่ได้รับการฉีดวัคซีนถึง 3 โดสนั้น มีจำนวนเพียงประมาณ 40%

 

ขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการแพร่เชื้อ ได้มีการทดสอบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ที่โอมิครอนเริ่มระบาดในช่วงปลายปี 2021 ซึ่งผลที่ได้ชี้ว่า การป้องกันอาการป่วยหนักและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด สำหรับวัคซีน mRNA ที่ใช้แพร่หลายในประเทศตะวันตกนั้นก็ยังคงสูงอยู่

 

แต่จีนใช้วัคซีนที่แตกต่างกัน โดยหลักๆ เป็นวัคซีนเชื้อตาย ที่ผลิตจากบริษัท Sinovac และ Sinopharm

 

โดยทั่วไปวัคซีนเชื้อตายนั้นมีความปลอดภัย แต่มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่ำกว่าเทคโนโลยีวัคซีนใหม่ๆ อย่าง mRNA อาทิ Pfizer-BioNTech และ Moderna หรือวัคซีนที่ใช้เวกเตอร์ของอะดีโนไวรัส (Adenovirus) อาทิ AstraZeneca และ Johnson & Johnson

 

ขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตายที่ผลิตในจีน ตามรายงานการทดลองทางคลินิกที่ได้รับในหลายประเทศนั้นแตกต่างกันไป เช่น ในชิลี ผู้ได้รับวัคซีน Sinovac จำนวน 2 โดส จะลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ 86% แต่ผลทดลองในสิงคโปร์บ่งชี้ว่า วัคซีนให้การป้องกันการเกิดอาการป่วยหนักได้แย่กว่าเมื่อเทียบกับวัคซีน mRNA 

 

หวั่นยอดตายโควิดถึง 1 ล้าน

 

เป็นเรื่องจริงที่เชื้อโอมิครอน ซึ่งเป็นโควิดสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก มีอัตราการป่วยหนักหรือเสียชีวิตที่ต่ำกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าอย่างเดลตา 

 

อย่างไรก็ตาม โอมิครอนยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญสำหรับประชากรที่มีภูมิต้านทานน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ

 

ขณะที่ฮ่องกงนั้นเผชิญปัญหาที่คล้ายคลึงกับจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราผู้ติดเชื้อในระดับต่ำ แต่ก็มีอัตราฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุที่ย่ำแย่กว่าจีนตอนนี้ ถึงแม้ว่าจะมีระบบรักษาพยาบาลที่แข็งแกร่งกว่าก็ตาม

 

การระบาดที่รวดเร็วของโอมิครอนในฮ่องกงตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากรเพิ่มขึ้นในเวลาไม่กี่วัน และมากกว่าที่หลายๆ ประเทศเคยเผชิญนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่

 

สำหรับสถานการณ์ในจีน ณ ตอนนี้ มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยรายใหม่สูงทะลุสถิติมากกว่า 30,000 รายต่อวัน ทำให้เมื่อทางการตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการป้องกัน จึงมีคำถามเกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงระดับภูมิคุ้มกันของประชากรในจีนที่ยังค่อนข้างต่ำ ทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลันของจำนวนผู้ติดเชื้อ อาจส่งผลให้ผู้ที่มีอาการป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

และหากตั้งสมมติฐานว่า ประชากรจีน 70% กลายเป็นผู้ติดเชื้อในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และมีผู้เสียชีวิตในกลุ่มผู้ติดเชื้อเหล่านี้ประมาณ 0.1% เราอาจจะได้เห็นผู้เสียชีวิตที่สูงถึงประมาณ 1 ล้านคน (เป็นตัวเลขที่ประเมินจากอัตราการเสียชีวิตของโอมิครอน ในหมู่ประชากรที่แทบจะไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน) 

 

แนวทางในการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงสถานการณ์เลวร้ายตามที่กล่าวมา อาจจะมีไม่มากนัก โดยตัวเลือกที่เหลือไม่มากของทางการจีน อย่างหนึ่งคือการมุ่งเน้นฉีดวัคซีนแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งอาจช่วยได้ไม่มากก็น้อย

 

ขณะที่ระบบดูแลสุขภาพของจีนนั้นค่อนข้างเปราะบาง และการขาดแคลนเตียงผู้ป่วยวิกฤต ยิ่งแสดงถึงความเปราะบางที่มีอยู่

 

โดยการวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการทำให้แน่ใจว่า มีเฉพาะผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องการการดูแลมากที่สุดเท่านั้น ที่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จะช่วยลดการเสียชีวิตได้ หากเกิดกรณีที่การแพร่ระบาดรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้

 

ภาพ: Noel Celis / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X