ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าทะลุระดับ 7.3 หยวนต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปี 2023 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของจีน และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ขยายกว้างขึ้นเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ การอ่อนค่าครั้งนี้เกิดขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางจีนจะยังคงสนับสนุนค่าเงินด้วยการกำหนดอัตราอ้างอิงรายวันในวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 มกราคม)
การอ่อนค่าครั้งนี้อาจบ่งชี้ว่าธนาคารกลางจีนกำลังเลือกที่จะผ่อนคลายแรงกดดันด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่าลง หลังจากที่พยายามควบคุมค่าเงินให้คงที่มานานกว่า 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การควบคุมดังกล่าวทำให้เงินหยวนแข็งค่าสุดเมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนของคู่ค้าตั้งแต่ปี 2022 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศ
“การที่เงินหยวนหลุดระดับ 7.3 ถือว่าเลี่ยงไม่ได้ เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ และการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในประเทศ” วี คูน ชอง นักยุทธศาสตร์ตลาด APAC จาก BNY กล่าว
เงินหยวนในประเทศอ่อนค่าลงสูงสุด 0.3% มาอยู่ที่ 7.3190 หยวนต่อดอลลาร์ในวันศุกร์ ก่อนที่จะแข็งค่ากลับเล็กน้อย การอ่อนค่าผ่านระดับ 7.3510 หยวนต่อดอลลาร์ จะทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2007 หรือในรอบกว่า 17 ปี
การลดค่าของหยวนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เช่น ดอลลาร์ไต้หวันอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016
ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของจีนชี้ให้เห็นถึงโอกาสการอ่อนค่าของหยวนเพิ่มเติม ความเชื่อมั่นยังคงอยู่ในระดับต่ำ ดัชนีหุ้นหลักปิดที่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนกันยายน โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนเผชิญกับการไหลออกของเงินทุนจากตลาดการเงินในระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
นักยุทธศาสตร์จาก BNP Paribas คาดการณ์ว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงถึง 7.45 หยวนต่อดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2025 ขณะที่ Nomura คาดการณ์ในเดือนธันวาคมว่าอาจอ่อนค่าลงถึง 7.6 หยวนต่อดอลลาร์ในการซื้อขายต่างประเทศภายในเดือนพฤษภาคม ส่วน JPMorganChase คาดว่าหยวนในต่างประเทศจะอ่อนค่าลงถึง 7.5 หยวนต่อดอลลาร์ในไตรมาสที่ 2
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีนอาจไม่ปล่อยให้เกิดการอ่อนค่าที่รวดเร็ว เนื่องจากอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางการเงิน ธนาคารยังสามารถใช้อัตราอ้างอิงรายวัน ซึ่งกำหนดกรอบการซื้อขายของค่าเงินหยวนในประเทศให้เคลื่อนไหวได้ในช่วงบวกลบ 2%
เครื่องมืออื่นๆ ที่ธนาคารกลางจีนสามารถใช้ได้ ได้แก่ การดูดซับสภาพคล่องของหยวนในตลาดต่างประเทศ และการแทรกแซงโดยตรงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา
อ้างอิง: