×

ทำไมจีนไม่ยอมถูกบูลลี่ และไม่ยอมหมอบให้สหรัฐฯ

28.05.2025
  • LOADING...
ภาพแผนที่ตลาดส่งออกของจีนสู่ประเทศโลกขั้วใต้ และกราฟเทียบการพึ่งพาสหรัฐฯ

การเจรจาพักรบสงครามภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีนออกไปอีก 90 วัน เป็นแค่ ‘เกมซื้อเวลา’ ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังคงหวาดระแวงการเติบใหญ่ของจีน ศึกระหว่างสองมหาอำนาจย่อมไม่จบง่ายๆ เพราะปมขัดแย้งที่แท้จริงไม่ใช่มีเพียงแค่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ประเด็นสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมูลค่ามหาศาล  

 

บทความนี้จะวิเคราะห์ว่า ปมขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจคืออะไรกันแน่ และทำไมสีจิ้นผิงกล้าชน ไม่ยอมหมอบ ไม่ยอมจำนนให้ทรัมป์

 

ดิฉันเพิ่งบินกลับมาจากการไปเข้าอบรมหลักสูตร CICG ที่จัดโดยกระทรวงพาณิชย์จีนในกรุงปักกิ่งนาน 2 สัปดาห์ พบว่า นักศึกษาจีนและคนจีนที่พูดคุยด้วยส่วนใหญ่เชียร์ผู้นำของตัวเอง คนจีนส่วนใหญ่ร่วมเชียร์ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ในการสู้ศึกครั้งนี้  อย่าไปยอมจำนนให้ชาติอื่นมาบูลลี่จีน ในขณะที่คนอเมริกันไม่ใช่ทุกคนจะเชียร์ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คนอเมริกันนับแสนคนเคยออกมาร่วมประท้วงใหญ่ต่อต้านนโยบายสุดโต่งของทรัมป์ 

 

ความเห็นของศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนและผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจีน ตลอดจนสื่อใหญ่หลายสำนักของจีนที่มาเป็นวิทยากรในหลักสูตรนี้ (เช่น CGTN,  China Daily, Xinhua รวมทั้ง CMG) ต่างก็สนับสนุนท่าทีผู้นำจีนที่จะไม่ยอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ ฝ่ายจีนประกาศชัดเจน “ไม่มีใครชนะ ในสงครามการค้า” และจีนไม่ได้เป็นฝ่ายเปิดศึกทำสงครามใดๆ กับสหรัฐฯ แต่ในเมื่อ ‘จีนถูกบูลลี่ก่อน จีนจึงไม่ยอมสยบ จีนพร้อมสู้กลับ’ รวมทั้งการโพสต์ประกาศออกสื่ออย่างแข็งกร้าวของสถานทูตจีนในวอชิงตัน ดี.ซี. “หากสหรัฐฯ ต้องการสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามภาษี สงครามการค้า หรือสงครามในรูปแบบใดก็ตาม จีนก็พร้อมที่จะสู้จนถึงที่สุด” จากการจับสัญญาณท่าทีของฝ่ายจีน มีหลายประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

 

ประเด็นแรก อะไรคือปมขัดแย้งที่แท้จริงระหว่างสองมหาอำนาจ 

 

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าสองมหาอำนาจนี้จะขัดแย้งกันไปทำไม ในเมื่อทั้งสหรัฐฯ และจีนไม่ได้มีใครต้องการไปแย่งดินแดนของอีกฝ่าย จีนไม่ได้ต้องการไปยึดเกาะฮาวายหรือดินแดนใดๆ ของสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ต้องการไปบุกยึดดินแดนของจีนมาเป็นของตนเช่นกัน (แม้ว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนไต้หวัน) แล้วสองประเทศนี้จะทะเลาะกันไปทำไม จนทำให้ทั้งโลกต้องสะเทือนและปั่นป่วนตามไปด้วย

 

หากศึกษาแนวคิดเรื่อง Thucydides Trap หรือ ‘กับดักธูสิดีดิส’ น่าจะช่วยเป็นคำตอบที่ทำให้เข้าใจปมขัดแย้งสหรัฐฯ และจีนได้ชัดเจนขึ้น เนื้อหาในหนังสือ ‘Destined for War’ เขียนโดย ศ.เกรแฮม อัลลิสัน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้อธิบายในประเด็นนี้ว่า “มหาอำนาจเดิมมักจะหวั่นไหวและหวาดระแวงการเติบใหญ่ของมหาอำนาจใหม่ จนทำให้เกิดความไม่ไว้ใจกัน” และยังได้วิเคราะห์ด้วยว่า หากสองมหาอำนาจติดอยู่ใน ‘กับดักธูสิดีดิส’* ก็อาจนำไปสู่สงครามระหว่างกัน แล้วทั้งสหรัฐฯ และจีนจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ติดกับดักแห่งอำนาจนี้ได้หรือไม่? 

 

ดังนั้นปมขัดแย้งหลักของสองมหาอำนาจก็คือศึกแห่งศักดิ์ศรี มหาอำนาจเดิมคือสหรัฐฯ เกิดความกลัวและหวั่นไหวกับการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่อย่างจีน  การเติบใหญ่อย่างรวดเร็วของจีน ยิ่งทำให้สหรัฐฯ หวาดระแวง โดยเฉพาะในยุคสีจิ้นผิง จีนกล้าประกาศความแข็งแกร่งในหลายด้าน ไม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ ยังรวมไปถึงบทบาทและอิทธิพลจีนในระดับโลก ทั้งด้านการเมืองระหว่างประเทศและด้านความมั่นคง จีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กองทัพจีนมีการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไฮเทคทันสมัย รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีนที่ล้ำหน้าอย่างก้าวกระโดด เป็นต้น

 

 

ประการที่สอง ทำไมจีนพร้อมสู้กลับ ไม่กลัวการบูลลี่ของสหรัฐฯ ที่ทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว (Unilateralism)

 

ในการสู้ศึกใหญ่รอบนี้ จีนค่อนข้างมีความพร้อมและเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เคยถูกบีบให้ต้องทำสงครามการค้าในยุคทรัมป์สมัยแรก ในปี 2018 สีจิ้นผิงเคยใช้คำว่า ‘แรดเทา’ ในการพูดเตือนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า “จีนต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอกที่ไม่คาดคิด งานหนักของทุกคนคือการรักษาเสถียรภาพ ต้องเฝ้าระวังอย่างสุดชีวิต เพื่อมุ่งสกัด ‘แรดเทา’ ภัยคุกคามที่มีความเป็นไปได้สูง” ทุกคนต้องไม่ชะล่าใจ จีนต้องวางแผนรับมือกับภัยคุกคามคือศึกใหญ่หลวงจากสหรัฐฯ ดังนั้นในรอบนี้ เมื่อทรัมป์ชนะเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง จีนจึงพร้อมรับมือ/สู้ศึก จีนมีประสบการณ์แล้ว และพร้อมปะทะ/โต้กลับ (หากสนใจประเด็น ‘ทำไมทรัมป์ 2.0 คือแรดเทา แล้วจีนจะสู้กลับอย่างไร?’ สามารถคลิกไปอ่านบทความในเรื่องนี้ของดิฉันได้ที่ https://thestandard.co/trump-china-trade-tensions/)

 

ที่สำคัญจีนไม่ได้พึ่งพารายได้จากการส่งออกไปสหรัฐฯ สูงมากเหมือนในอดีต ในยุคสีจิ้นผิง จีนปรับสู่โมเดล Xinomics หันมาเน้นขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศ (consumption-driven economy) เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ จีนพยายามปรับโมเดลลดการพึ่งพาภาคส่งออกลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในขณะนี้ จีนมี Export to GDP ratio ลดเหลือ 19.7%  

 

นอกจากนี้ จีนได้ซุ่มกระจายการส่งออกไปตลาดในโลกขั้วใต้ (Global South) มานานแล้ว โดยผ่านกลไกข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) หรือ ‘อี้ไต้อี้ลู่’ มาตั้งแต่ปี 2013 ส่งผลให้จีนสามารถกระจายการส่งออกยังตลาดใหม่ๆ ทดแทนตลาดสหรัฐฯ และจีนยังได้ออกไปลงทุนในประเทศโลกขั้วใต้เพิ่มสูงขึ้น เกิดกระแสทุนจีนบุกโลก พร้อมๆ ไปกับการแสวงหาพรรคพวกเข้าร่วมกลุ่ม BRI ที่มากขึ้น 

 

จีนยังได้สร้างแนวร่วมในกลุ่ม BRICS ที่ตอนนี้มีสมาชิก 10 ประเทศ และมีประเทศหุ้นส่วนอีก 13 ประเทศ (รวมทั้งไทย) ตลอดจนกลไกอื่นๆ ที่จีนผลักดันเพื่อสร้างพรรคพวก ทั้งด้านการค้าและการลงทุน เช่น กลไก Forum on China–Africa Cooperation (FOCAC) ในการจับมือกับ 53 ประเทศในทวีปแอฟริกา ในขณะที่ ฝ่ายสหรัฐฯ ขึ้นภาษีโหดทั่วโลก แต่ฝ่ายจีนกลับประกาศลดภาษีเหลือศูนย์ให้กับประเทศกำลังพัฒนาน้อยกว่า เพื่อจูงใจให้ประเทศที่ระดับการพัฒนาต่ำเหล่านั้น โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา ได้รับประโยชน์จากการมาเป็นพรรคพวกให้ความร่วมมือกับจีน (ทำนองว่า มาคบกับจีนแล้วคุณจะอยู่ดีกินดีขึ้นนะครับ) 

 

จีนยังมีกลไก China-CELAC Forum ในการจับมือกับ 33 ประเทศในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน เพื่อให้มาเป็นพรรคพวกของจีน โดยจีนเพิ่งประกาศขยายวงเงินเครดิตให้กลุ่มนี้สูงถึง 9.2 พันล้านดอลลาร์

 

แน่นอนว่ายังคงมีบางประเทศในโลกขั้วใต้ (เช่น บางประเทศในลาตินอเมริกา) ที่ยังระแวงจีนอยู่บ้าง แต่ในยุคทรัมป์ที่ไม่แคร์เพื่อน และชอบบูลลี่คนอื่น ก็ยิ่งผลักให้ประเทศที่โดนเทมาจากสหรัฐฯ เหล่านั้น สนใจจะมาจับมือกับจีนมากขึ้น ซึ่งฝ่ายจีนก็แสดงความพร้อมที่จะโอบรับและจับมือ/ร่วมมือกับประเทศเหล่านั้นเสมอ จีนประกาศว่า จะร่วมต่อต้าน ‘ลัทธิทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว’ (Unilateralism) ของรัฐบาลทรัมป์ และจะร่วมมือกันสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี (Multilateralism) ภายใต้องค์การการค้าโลก WTO

 

พฤติกรรมของสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ป่วนโลกและไม่แคร์เพื่อน จะกลายเป็นโอกาสของจีน เข้าทางจีนในการดึงประเทศโลกขั้วใต้เหล่านี้มาเป็นพรรคพวกของจีนให้มากขึ้น  ล่าสุด นิตยสาร The Economist ฉบับต้นเดือนเมษายน พาดหัวขึ้นปกด้วยข้อความว่า “ทรัมป์จะทำให้จีนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make China Great Again) และจะกลายเป็นโอกาสที่สวยงามของจีน” (A Big and Beautiful Opportunity for China)  ในการดึงประเทศอื่นมาเป็นพรรคพวก เพื่อสร้างอาณาจักรที่จะทำให้จีนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งนั่นเอง

 

กลไกสร้างพรรคพวกและแสวงหาความร่วมมือในโลกขั้วใต้ทั้งหลายนี้ ล้วนมีส่วนทำให้จีนสามารถกระจายความเสี่ยง (diversify) ลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ผ่านการกระจายตลาดส่งออกจีนไปยังประเทศโลกขั้วใต้อย่างต่อเนื่อง จากสถิติในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของจีนไปยังโลกขั้วใต้มีการขยายตัวมากกว่าและมีมูลค่าสูงกว่าการส่งออกไปตลาดดั้งเดิม เช่น ตลาดสหรัฐฯ ดังแสดงในรูปประกอบ 

 

จากข้อมูลปี 2024 การส่งออกของจีนไปตลาดสหรัฐฯ มีสัดส่วนลดลงเหลือ 14.7% ของการส่งออกทั้งหมดของจีน (จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนสูงมากกว่า 20% ของการส่งออกจีน) เนื่องจากจีนตั้งใจปรับโมเดลลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง 

 

อ้างอิง: https://asiatimes.com/2024/05/2-words-explain-china-export-surge-global-south/

 

เส้นสีฟ้าคือตลาดส่งออกของจีนในแถบโลกขั้วใต้ ได้แก่ อาเซียน เอเชียใต้ เอเชียกลาง ลาตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตอนเหนือ รวมทั้งรัสเซีย

 

เส้นสีส้มคือตลาดส่งออกดั้งเดิมของจีนที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

 

ในแง่ทิศทางในอนาคตของภูมิภาคเอเชีย เมื่อประเทศต่างๆ ต้องเผชิญกับมาตรการภาษีสูงลิ่วของทรัมป์ จึงคาดว่า ประเทศในเอเชียเหล่านี้จะหันมาค้าขายกันเองมากขึ้น  โดยเฉพาะญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ล้วนต้องเผชิญกับภาษีโหดของทรัมป์ และเริ่มสนใจจะร่วมมือกับจีนมากขึ้น จึงเข้าทางจีนที่ต้องการผลักดันให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรี FTA แบบไตรภาคีระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ โดยฝ่ายจีนคาดหวังว่า ภายในปลายปีนี้ในระหว่างการประชุม APEC Summit ที่กรุงโซล น่าจะมีการลงนาม FTA ไตรภาคีฉบับนี้ได้สำเร็จ

 

ประการที่สาม ภาคเอกชนจีนมุ่งมั่นที่จะ Disrupt ตัวเอง คือจุดแข็งของเศรษฐกิจจีน  

 

สีจิ้นผิงเชิดชูและชื่นชมภาคเอกชนจีนที่มีคุณูปการช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างแข็งแกร่งในหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะบทบาทของสตาร์ทอัพจีนที่มีการ disrupt ตัวเองอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อคิดค้นและต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง 

 

จากกรณีการเปิดตัว AI ของสตาร์ทอัพจีนคือ DeepSeek แล้วทำให้มูลค่าหุ้นบิ๊กเทค 7 นางฟ้าของสหรัฐฯ ต้องร่วงระนาว เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่า สตาร์ทอัพจีนในวัย 40 ปีและทีมงานทุกคนที่ไม่เคยไปเรียนต่อเมืองนอก จะใช้เวลาไม่นานในการทำ AI ต้นทุนต่ำออกมาให้ทุกคนได้ใช้งานฟรี และใช้ได้ดีไม่น้อยหน้า AI ต้นทุนสูงลิ่วของฝรั่ง จนกลายเป็นปรากฏการณ์ ‘DeepSeek moment’ เทียบเคียงกับเหตุการณ์ Sputnik moment ในปี 1957 เมื่อสหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ชื่อ Sputnik ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ ทำให้คนอเมริกันต้องตะลึง เพราะสหภาพโซเวียตไม่ได้ล้าหลังเหมือนที่พวกคนอเมริกันเหล่านั้นเคยถูกทำให้เข้าใจผิดมาโดยตลอด 

 

ตัวอย่างพัฒนาการที่น่าทึ่งของจีนอีกด้านที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และถูกพูดกันมากในขณะนี้คือการพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนและรถบินได้ ตลอดจนอุปกรณ์อัจฉริยะที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่เรียกโดยรวมว่าเป็น ‘เศรษฐกิจในเขตน่านฟ้าระดับต่ำ’ (Low Altitude Economy) โดยจีนใช้คำเรียกย่อๆ ว่า ‘Di Kong Jingji’ คำว่า Di Kong (ตีคง) คือเขตน่านฟ้าในระดับต่ำ ส่วนคำว่า Jingji (จิงจี้) คือเศรษฐกิจ 

 

ในการประชุม 2 สภาของจีน (Two Sessions หรือ Liang Hui) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็มีการพูดถึงเศรษฐกิจในเขตน่านฟ้าระดับต่ำฯ อย่างกว้างขวาง ซึ่งมีมูลค่าตลาดฯ ที่สูงมากกว่า 5 แสนล้านหยวน (ปี 2023) ภาครัฐของจีนให้การส่งเสริมเศรษฐกิจในเขตน่านฟ้าระดับต่ำฯ อย่างเต็มที่ และตั้งเป้าหมายในปี 2030 ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 2 ล้านล้านหยวน ส่งผลให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของจีนต่างกระตือรือร้น เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจในเขตน่านฟ้าต่ำฯ กลายเป็นพระเอกของภาคการผลิตใหม่ และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในยุค AI+ ให้เติบโตต่อไป

 

โดยสรุป จีนสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามจากสหรัฐฯ ในทุกรูปแบบ ในยุคที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งสองมหาอำนาจไม่มีใครยอมใคร แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ก็คือการแยกขั้วของสหรัฐฯ และจีนแบบ ‘ต่างคน ต่างอยู่’ และประเทศต่างๆ จะถูกบีบให้ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น จะทำให้การลงทุน FDI เปลี่ยนทิศ หลายประเทศจะถูกบีบให้ตัดขาดจากห่วงโซ่อุปทานของจีน กระแสโลกาภิวัตน์ถูกหั่นเป็นชิ้นๆ การค้าโลกจะเล็กลง ทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างไทยที่พึ่งพาภาคต่างประเทศเป็นอย่างมาก (overdependence) ก็จะถูกกระทบอย่างหนัก ไทยต้องเผชิญแรงกดดันจากภายนอก ต้องเจอกับการแข่งขันอย่างเข้มข้น ไทยต้องเจอศึกรอบด้าน แล้ววันนี้ ไทยมีความพร้อมแค่ไหนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงระดับพายุหมุนในรอบนี้?

 

สำหรับบทความในตอนต่อไป จะมาวิเคราะห์ว่า จีนมีหมัดเด็ดอะไรที่จะใช้สู้กลับและตอบโต้สหรัฐฯ และในแง่ข้อจำกัด เศรษฐกิจจีนมีจุดอ่อนที่น่ากังวลอะไรบ้างที่ยังสะสางและแก้ไขไม่สำเร็จ

 

ภาพ: REUTERS / Ken Cedeno,​ Sieges ueber Nazideutschland. Foto:The Kremlin Moscow via SVEN SIMON Fotoagentur GmbH & Co., Memory Stockphoto via ShutterStock

FYI

ธูสิดีดิส คือ นักประวัติศาสตร์ในยุคกรีกโบราณที่เคยวิเคราะห์สงครามที่เกิดขึ้นในอดีตว่า “ทำไมมหาอำนาจเดิมอย่างสปาร์ตา จึงทำสงครามรบกับมหาอำนาจเกิดใหม่อย่างเอเธนส์” คำตอบคือ ต้นเหตุที่ทำให้สงครามเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากการผงาดขึ้นมาเชิงอำนาจของเอเธนส์ได้สร้างความหวาดกลัวให้แก่สปาร์ตา

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising