ช่วงเวลาเมื่อเดือนก่อนถือเป็นเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยจดบันทึกกันมาตลอด 174 ปี หลังจากที่อุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม ข้อมูลจาก US National Centers for Environment Information ระบุว่า ปีนี้จะเป็น 1 ใน 10 ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์
อุณหภูมิที่สูงขึ้นนำไปสู่ปัญหาเรื่องคลื่นความร้อนที่ก่อให้เกิดความแห้งแล้งและภัยพิบัติ อาทิ ไฟป่าอย่างที่เคยเกิดขึ้นรุนแรงในแคนาดา ขณะที่อุณหภูมิในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุของการก่อตัวของพายุเฮอริเคนมากกว่าปกติ
เมืองอย่างลาสเวกัสในสหรัฐอเมริกาเผชิญกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ที่ระดับ 47.2 องศาเซลเซียสในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ขณะที่เมืองใกล้เคียง อย่างเช่น เนวาดา, แอริโซนา และแคลิฟอร์เนีย คาดว่าจะมีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 48.8 องศาเซลเซียสในบริเวณทะเลทราย
อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้สองประเทศเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน และยังเป็นสองประเทศที่ปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลกรวมกันถึง 45.5% ของทั้งโลก ต้องหาทางร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ล่าสุด จอห์น เคอร์รี ผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ เดินทางเยือนจีนในวันนี้ (16 กรกฎาคม) เพื่อหารือร่วมกับทางการจีนเป็นเวลา 3 วันเต็ม
เคอร์รีระบุว่า ต้องการที่จะพูดคุยกับจีนอย่างตรงไปตรงมา และหวังว่าจะมีความคืบหน้าอย่างมากสำหรับการช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเร่งมือในการลดการใช้ถ่านหิน และหันไปใช้พลังงานทดแทน
หลี่ซัว ที่ปรึกษาด้านนโยบายของ Greenpeace East Asia กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่ต้องติดตามสำหรับการพบปะกันของผู้แทนสหรัฐฯ และจีน ในครั้งนี้คือ แนวทางในการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคืออะไร และทั้งสองประเทศจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร การหารือครั้งนี้คงไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ในทันที แต่คงจะเป็นจุดตั้งต้นหรือคำมั่นสัญญาสำหรับอนาคต”
ทั้งนี้ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน เคยกล่าวไว้ว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจีนจะถึงจุดพีคก่อนสิ้นทศวรรษนี้ ขณะเดียวกันเขาได้กล่าวว่า จะระงับการให้เงินทุนสนับสนุนธุรกิจถ่านหินนอกประเทศ แต่สำหรับในประเทศจีนเองเมื่อปีก่อนยังคงเห็นการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินมากที่สุดในรอบ 7 ปี
ขณะเดียวกันผู้แทนจากพรรครีพับลิกัน อาทิ ไมเคิล แมคคอล ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐเท็กซัส กล่าวว่า “ทั้งสหรัฐฯ และจีน คือสองประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก และไม่ได้แสดงออกถึงการที่จะบรรเทาปัญหาให้ได้จริง พวกเขาต่างมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไปจากพวกเรา”
ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า เมื่อปี 2021 จีนเป็นประเทศที่ปล่อยมลพิษมากที่สุด 32.9% รองลงมาคือสหรัฐฯ 12.6%, สหภาพยุโรป 7.3%, อินเดีย 7.0%, รัสเซีย 5.1% และประเทศอื่นๆ ที่เหลืออีก 35.1%
อ้างอิง: