ตกลงจีนคิดอะไรอยู่กันแน่ เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในภาวะซบเซามากที่สุดช่วงหนึ่ง มังกรจีนยังมีเขี้ยวเล็บซ่อนอยู่หรือไม่ และซ่อนอะไรไว้
จีนมีแผนการใหญ่สามขั้นที่จะนำไปสู่การทะยานรอบใหม่ จะสำเร็จไม่สำเร็จนั้นไม่มีใครรู้ แต่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจภาพยุทธศาสตร์ระยะยาวของจีน เพราะจะมีผลกว้างไกลต่อไทยและภูมิภาคต่อจากนี้
ที่ผ่านมาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเกิดวิกฤต ภาคอสังหาของจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 15-30 ของ GDP จีน ภาคเศรษฐกิจนี้ไม่ฟื้นคืนชีพ คำถามที่ทุกคนถามคือ เศรษฐกิจจีนจะไปต่อได้อย่างไร
แถมรัฐบาลจีนเองก็ตั้งใจแน่วแน่ว่าภาคอสังหาที่ผ่านมาเป็นฟองสบู่ก้อนมหึมา รัฐบาลจีนจะไม่เอาเงินดีไปอุ้มหรือฟื้นชีพบริษัทอสังหาซอมบี้ที่หนี้ท่วมอีก แล้วทางออกของจีนคืออะไร
การจะกระตุ้นเศรษฐกิจแบบสมัยก่อนที่เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะจีนสร้างครบหมดแล้วทั้งรถไฟความเร็วสูง, ถนน, สะพาน, ท่าเรือ สร้างอีกก็จะมีแต่โครงการที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
ส่วนนักวิเคราะห์ฝรั่งอยากให้จีนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยแจกเงินเข้ากระเป๋าผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและเพิ่มสัดส่วนการบริโภคใน GDP แต่จีนมองว่าการแจกเงินผู้บริโภคจะได้ผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น ไม่ยั่งยืน หากไม่นำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน
ทางเดียวของการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่เหลืออยู่จึงเป็นการลงทุนในภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคการผลิตใหม่ที่เรียกว่า Three New ได้แก่ โซลาร์เซลล์, รถยนต์อีวี และอุตสาหกรรมแบตเตอรี่
จะเห็นว่าทั้งสามเรื่องเป็นภาคพลังงานสะอาด ซึ่งจีนมองว่ามีศักยภาพที่ตลาดจะโตต่อไปได้อีกมหาศาล ฝรั่งชอบบอกว่าจีนผลิตเกินตัว (Overcapacity) แต่จีนมักตอบโต้ว่าจะเรียกผลิตเกินตัวได้อย่างไร ในเมื่อในอนาคตข้างหน้าทุกคนต่างจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ตลาดมีแต่จะเติบโตไปได้อีกมาก ตอนนี้ยังผลิตได้ห่างไกลจากดีมานด์ที่จะมีขึ้นในอนาคต
จึงเป็นที่มาของแผนการใหญ่สามขั้นของรัฐบาลจีน
ขั้นแรกคือ ทุ่มทุนสุดตัวให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีในภาคพลังงานสะอาด นี่เป็นแนวคิดทางยุทธศาสตร์ของจีนที่ต้องการผันเงินทุนจากเดิมที่จมอยู่ในภาคอสังหาให้ถ่ายมาสู่ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมใหม่แทน
สิ่งนี้ทำให้จีนแตกต่างจาก Lost Decade ของญี่ปุ่น เพราะในช่วงที่ฟองสบู่อสังหาของญี่ปุ่นแตกโพละ นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาและทศวรรษที่สูญหายนั้น บริษัทของญี่ปุ่นไม่มีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ และตกขบวนภาคเทคโนโลยีดิจิทัลที่บูมต่อมา แต่ตอนนี้ที่จีนกลายมาเป็นวาระแห่งชาติว่าจะต้องทุ่มให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะพลังงานสะอาด
แต่ทางฝรั่งจะยอมให้บริษัทจีนครองตลาดในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเหล่านี้ได้อย่างไร ยุทธศาสตร์ของทางฝั่งตะวันตกตอนนี้จึงมีสองข้อ ข้อแรกคือต้องตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าเหล่านี้จากจีน เพราะขืนปล่อยให้เข้าตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปโดยไม่มีกำแพงกั้น ด้วยต้นทุนที่ถูกของบริษัทจีน บริษัทในอุตสาหกรรมเหล่านี้ของฝรั่งก็คงเจ๊งกันหมด ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอุตสาหกรรมเหล็กและโซลาร์เซลล์ และกำลังจะเกิดขึ้นตามมาในอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีและแบตเตอรี่ ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป จึงต้องใช้มาตรการภาษีเพื่อคุ้มครองบริษัทเหล่านี้ของตนให้อยู่รอด
นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังกลับมาใช้นโยบายอุตสาหกรรม (Industrial Policy) เต็มสูบในการสนับสนุนการลงทุนและส่งเสริม R&D ในอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ ด้วยหวังว่าความคิดสร้างสรรค์และสังคมที่เปิดกว้างของสหรัฐฯ จะทำให้เกิด Breakthrough ทางเทคโนโลยี สุดท้ายจะทำให้สหรัฐฯ สามารถเปลี่ยนยุคเทคโนโลยีในเรื่องเหล่านี้ได้ก่อนจีนและทิ้งห่างจีนอีกครั้ง
ส่วนจีนเมื่อถูกตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ปิดทางเข้า แต่จีนยังต้องการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ต่อไป จึงนำมาสู่แผนขั้นที่สองของจีนคือ ต้องเดินหน้าบุกตลาดประเทศกำลังพัฒนาแทน ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน, ตะวันออกกลาง, แอฟริกา, ลาตินอเมริกา โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายตลาดและกำลังการผลิต เมื่อสเกลการผลิตใหญ่โตมโหฬารขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง และจะทำให้มีเม็ดเงินมหาศาลที่ขายของได้ไหลกลับมาพัฒนา R&D ให้ก้าวหน้าขึ้นไป การมีตลาดใหม่ที่ใหญ่และรองรับการเพิ่มกำลังการผลิตจึงสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเหล่านี้ของจีน
ส่วนแผนขั้นสุดท้ายของจีนก็คือ หากจีนทำได้สำเร็จ ด้วยสเกลการผลิตมหาศาลและตลาดที่ใหญ่โต จนสามารถขึ้นเป็นผู้นำในเทคโนโลยีเหล่านี้แบบทิ้งห่างฝรั่งได้จริงในอนาคต สุดท้ายถึงเวลาหนึ่งกลไกตลาดก็จะกดดันให้ฝรั่งต้องยอมรับความจริงและยอมเปิดทางให้สินค้าจีน เมื่อฝรั่งเองก็ต้องเผชิญแรงกดดันที่จะต้องเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด หรือเมื่อกลับกลายเป็นว่าประเทศกำลังพัฒนาจะนำหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดได้เร็วกว่าทางฝั่งตะวันตกด้วยโซลาร์เซลล์, รถยนต์อีวี และแบตเตอรี่ราคาถูกคุณภาพดีจากจีน
ถึงจุดนั้นจีนก็จะกลายเป็นเหมือนสหรัฐฯ ของโลกยุคใหม่ เหมือนที่สหรัฐฯ เคยเป็นเจ้าตลาดและผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุคก่อนหน้านี้มาแล้ว
และนี่จึงเป็นสาเหตุที่สำหรับจีน ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วภาคพลังงานสะอาดจึงสำคัญและมีศักยภาพกว่าภาคเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะอย่างมากแล้วในภาคเทคโนโลยีดิจิทัลบริษัทจีนก็คงประสบความสำเร็จเพียงการครองตลาดภายในของจีน แต่ยากที่จะบุกตลาดตะวันตกหรือตลาดโลก ด้วยข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งด้วยศักยภาพที่สูงกว่าและเงินทุนที่ยังหนากว่าของบริษัทฝรั่งยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล แต่ภาคพลังงานสะอาดนั้นยังเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ที่ยังมีพื้นที่และโอกาสให้จีนยึดครองตลาดโลกให้สำเร็จได้อยู่
เศรษฐกิจจีนจึงไม่มีวันจะกลับไปโตหวือหวาแบบในอดีตอีกแล้ว ภาคอสังหาของจีนก็จะไม่ฟื้นกลับมาฟู่ฟ่าอีก เพราะจีนกำลังเล่นเกมยาวในเชิงยุทธศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งทำให้จำเป็นต้องทนเจ็บและยอมรับสภาพซบเซาในช่วงเปลี่ยนผ่าน แน่นอนว่าภาพฝันดูดี แต่ในโลกความเป็นจริงก็ยังมีคำถามว่าจีนจะทนเจ็บได้แค่ไหน เพียงใด จะไม่ลามจนเป็นวิกฤตสังคมใช่ไหม และภาคอุตสาหกรรมใหม่สุดท้ายจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ (และจะไม่ถูกฝรั่งคิดอะไรใหม่ได้ก่อนและแซงทิ้งห่างจีนอีกครั้งแน่ใช่ไหม)
หากเราเข้าใจภาพยุทธศาสตร์ใหญ่ของรัฐบาลจีนทั้งหมดนี้ ย่อมจะทำให้เรามองเห็นเทรนด์ระยะยาวต่อจากนี้ชัดเจนขึ้น
การแข่งขันทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดระหว่างมหาอำนาจและการทุ่มทุนมหาศาลให้กับการวิจัยและพัฒนา จะนำไปสู่การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากในอุตสาหกรรมเหล่านี้
การบุกของทุนและสินค้าจีนเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาจะมาแรงและเร็วมาก เป็นคลื่นระยะยาว ไม่ใช่เพียงคลื่นระยะสั้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนช่วงนี้เท่านั้น
โจทย์ทางนโยบายสำหรับโอกาสของไทยจะอยู่ที่เราจะร่วมแบ่งเค้กก้อนโตในภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร ด้วยการพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งเกาะไปกับการผลิตบางชิ้นส่วนเชื่อมโยงกับห่วงโซ่ซัพพลายเชนทั้งของฝั่งจีนและฝั่งตะวันตก ที่ต่างทุ่มทุนขยายอุตสาหกรรมใหม่และยังไม่รู้ผลแพ้-ชนะ
ภาพ: Costfoto / NurPhoto via Getty Images