×

เปิดเบื้องลึกปมจีนแบนนำเข้าน้ำเชื่อมไทย ขบวนการทุนจีนใช้เลี่ยงภาษีส่งน้ำตาลเข้าจีน

06.01.2025
  • LOADING...
ภาษีส่งน้ำตาล

กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อจีนระงับการนำเข้าน้ำเชื่อมจากไทย 2 รายการ ได้แก่ Syrup และ Premixed Powder โดยอ้างว่าพบความเสี่ยงด้านความปลอดภัย หลังหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารส่งออก-นำเข้าของจีน (The Food Safety Bureau of The General Administration of Customs of The People’s Republic of China: GACC) ได้รับการร้องเรียนว่าโรงงานผู้ผลิต ‘บางแห่ง’ มีสุขอนามัยไม่ได้ตามเกณฑ์

 

จึงระงับการขอขึ้นทะเบียนโรงงานผู้ผลิตส่งออกน้ำเชื่อม/น้ำตาลผสมรายใหม่ของไทย และระงับการนำเข้าสินค้าทั้ง 2 รายการ คือน้ำเชื่อม (Syrup) พิกัด 170290110 กับน้ำตาลผสมล่วงหน้า (Premixed Powder) พิกัด 1702901200

 

หลังจากนั้นแนะนำฝ่ายไทยให้ดำเนินการประเมินและตรวจสอบระบบบริหารและจัดการความปลอดภัยของโรงงานไทย

 

โดยคำสั่งของ GACC จะมีผลบังคับใช้ 2 ประการ คือ

 

  1. จีนจะระงับการยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนโรงงานผู้ผลิตส่งออกน้ำเชื่อม/น้ำตาลผสมรายใหม่จากประเทศไทย

 

  1. โรงงานผู้ส่งออกไทยที่ขึ้นทะเบียนกับ GACC ไว้ก่อนหน้านี้และมีการส่งออกสินค้าน้ำเชื่อม/น้ำตาลผสมออกจากประเทศไทย ‘ก่อน’ วันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา จะได้รับการผ่อนผันให้นำเข้าได้ ส่วนน้ำเชื่อม/น้ำตาลผสมที่ส่งออกจากประเทศไทย ‘หลัง’ วันที่ 10 ธันวาคม จะถูกระงับการนำเข้าจีนเช่นกัน

 

 

 

ล่าสุด นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) รวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการที่มีการส่งออกสินค้าดังกล่าวในช่วงคาบเกี่ยวกับการประกาศระงับนำเข้าของจีน โดยมีหนังสือถึงสำนักงานศุลกากรแห่งประเทศจีน ผ่านสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง เพื่อขอผ่อนผันการอนุญาตนำเข้าสินค้า

 

โดย มกอช. ร่วมประชุมหารือแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นให้ข้อมูลว่าจีนใช้มาตรการ Non-Tariff Barriers เพื่อปกป้องธุรกิจในประเทศ แต่อาจมีสินค้าที่ด้อยคุณภาพบางส่วนจากไทยที่เข้าสู่จีนโดยโรงงานผลิตบางราย สำหรับสินค้า Premix Sugar ที่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว

 

ขณะเดียวกัน น.สพ.ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงาน มกอช. ให้ข้อมูลว่า “ขณะนี้ มกอช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างเร่งจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขอยกเลิกการระงับนำเข้า โดยจะจัดส่งแนวทางการควบคุมความปลอดภัยอาหารในระบบการผลิตอาหารของไทย ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับ 420 ที่กำกับดูแลโดย อย. พร้อมทั้งส่งรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองจาก อย. แล้ว เพื่อขอให้จีนพิจารณายกเลิกระงับนำเข้า

 

น้ำเชื่อมในไทยเป็นขบวนการทุนจีนเลี่ยงภาษีส่งน้ำตาลเข้าจีน

 

ถกล ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นที่จีนสั่งแบนน้ำเชื่อมหรือไซรัปที่ผลิตจากประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันบริษัทไม่ได้ผลิตน้ำเชื่อมหรือไซรัป อีกทั้งไม่มีการขายน้ำตาลทรายให้กับลูกค้าผู้ประกอบการจีนที่ตั้งโรงงานในไทยเพื่อผลิตน้ำเชื่อมส่งออกไปจีน

 

โดยปัจจุบันการจำหน่ายและส่งออกน้ำตาลของบริษัททำผ่านเทรดเดอร์น้ำตาลรายใหญ่ทั้งหมด

 

“อย่างไรก็ดี ปัญหาที่จีนสั่งระงับการนำเข้าน้ำเชื่อมจากประเทศไทยชั่วคราวนั้น ต้นเหตุของปัญหามาจากผู้ประกอบการชาวจีนที่มาตั้งโรงงานผลิตน้ำเชื่อมหรือไซรัปในประเทศไทย โดยมีการดำเนินการเป็นขบวนการเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายของจีนที่มีการจัดเก็บที่สูง เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าผู้ผลิตในต่างประเทศ”

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจีนจึงเห็นช่องทางดังกล่าว โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตน้ำเชื่อมส่งกลับเข้าไปขายในจีนซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าน้ำเชื่อม หลังจากนั้นก็จะมีการนำน้ำเชื่อมที่นำเข้าไปแปรรูปกลับไปเป็นน้ำตาลทรายและจำหน่ายได้ราคาที่สูงในจีน

 

เป้าแบนคือผู้ประกอบการจีนรายย่อยที่กระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน

 

 

 

ขณะที่ ชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่าการแบนน้ำเชื่อมดังกล่าวเกิดจากผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึง SMEs ของจีนที่มีโรงงานขนาดเล็กในไทย ผลิตน้ำเชื่อมเพื่อส่งออกไปจีน ซึ่งมีการซื้อน้ำตาลทรายเม็ดจากผู้ประกอบการไทยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นน้ำเชื่อมส่งออกไปจำหน่าย แต่กลับมีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้

 

“ตอนนี้จำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบน่าจะเกือบ 100 รายแล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจีนเกือบทั้งหมด คงต้องรอดูบทสรุปก่อนว่าต่อไปน้ำเชื่อมที่จะนำเข้าไปจีนต้องมีมาตรฐานชัดเจนจึงมีการหยุดนำเข้าชั่วคราว ส่วนผู้ประกอบการไทยยืนยันว่าน้ำตาลทรายที่ผลิตออกมาขายนั้นไม่ได้ผลกระทบ เพราะกระบวนการผลิตกับสินค้าได้มาตรฐาน มอก. และ ISO” ชลัชกล่าว

 

อีกทั้งยืนยันว่าน้ำตาลทรายที่ผลิตจากโรงงานของผู้ประกอบการไทยได้มาตรฐานสากล ปัจจุบันยังสามารถผลิตเพื่อส่งออกได้ และทำการค้าส่งออกไปยังแนวชายแดนได้ปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ด้าน ประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าน้ำตาลที่ส่งออกไปจีนนั้นเป็นตลาดสากล กรณีที่เกิดขึ้นต้องมีการตรวจสอบ แต่เบื้องต้นไม่น่ากระทบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในไทยมาก เพราะหากไม่สามารถส่งไปจีนได้ก็ส่งไปตลาดใหม่ แต่ที่น่าเสียดายคือมูลค่าส่งออกที่อาจจะหายไปบ้างและกระทบราคาในช่วงระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหน่วยงานราชการพยายามเต็มที่ในการกำกับดูแล ซึ่งการขอประสานให้ผ่อนปรนก็ต้องยอมรับว่าการประสานงานราชการต่อราชการต้องใช้เวลาอย่างมาก โดยเฉพาะจีนที่มีความเข้มงวด

 

สำหรับแนวโน้มราคา ประพันธ์กล่าวว่า ปีนี้ราคาตลาดน่าจะไม่ถึงกับพีคอย่างปีที่แล้ว แต่ถือว่าโรงงาน ชาวไร่ ยังพอไปได้ ที่น่าเป็นห่วงคืออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลต้องพึ่งพาฝนฟ้าเป็นหลัก จึงอยากฝากรัฐบาลให้วางแผนในเรื่องของการบริหารจัดการ ‘น้ำ’ เพราะจะมีผลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

 

ไทยครองแชมป์ส่งออกน้ำตาลแปรรูปในตลาดจีน

 

THE STANDARD WEALTH สำรวจข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของไทย โดยครองสัดส่วนประมาณ 42% ของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งสินค้าน้ำตาลแปรรูป (ไม่รวมถึงน้ำตาลทรายดิบ) เช่น น้ำเชื่อม น้ำผึ้งเทียม คาราเมล หรือสารให้ความหวานอื่นๆ ที่สามารถนำไปปรุงแต่งอาหาร เครื่องดื่ม และยา ถือเป็นสินค้าไทยที่โดดเด่นและมีความต้องการสูงมากในตลาดจีน

 

ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าน้ำตาลแปรรูปมูลค่า 982.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 31,358.58 ล้านบาท) โดยไทยครองตลาดนำเข้าอันดับ 1 มูลค่า 853.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 29,807.32 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 86.88% ของปริมาณที่จีนนำเข้าจากทั่วโลก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 103.14% และจากสถิติการนำเข้าน้ำตาลแปรรูปย้อนหลัง 10 ปี พบว่า จีนนำเข้าจากไทยในอัตราเติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 144.84%

 

โดยสินค้าน้ำตาลแปรรูปของไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% จากอัตราภาษีปกติ (MFN Rate) อยู่ระหว่าง 3-15% ของตลาดที่มีศักยภาพสูงในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ เมียนมา และอินโดนีเซีย

 

 

 

โรงงานน้ำตาลรายใหญ่ของไทยมีใครบ้าง

ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรีระบุอีกว่า ที่ผ่านมาผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกอยู่ที่ 180.7 ล้านตัน (ในรูปน้ำตาลทรายดิบ) ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่

  1. อินเดีย (20.4% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก)
  2. บราซิล (19.6%)
  3. สหภาพยุโรป (9.2%)
  4. ไทย (5.6%)
  5. จีน (5.3%)
  6. สหรัฐฯ (4.6%)

 

ขณะที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้แก่ บราซิล มีส่วนแบ่งตลาด 40.1% ของปริมาณการส่งออกน้ำตาลทั่วโลก รองลงมาคืออินเดีย (18.4%) และไทย (10.8%) โดยไทยมีโรงงานน้ำตาลมากถึง 57 แห่ง

 

ไทยมีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ เช่น

  • Mitr Phol Group
  • Thai Roong Ruang Sugar Group
  • Khon Kaen Sugar Industry Public Company Limited
  • Thai Sugar Millers Corporation Limited (TSMC)
  • Thai Nong Hak Sugar Group
  • Kaset Thai International Sugar Corporation (KTIS)
  • Wangkanai Group
  • TPC Sugar Group
  • Mitr Kalasin Sugar Group
  • Thai Central Sugar Group
  • Krung Thai Sugar Industry Public Company Limited
  • Taweechoke Panich Group
  • Chaiyaporn Sugar Company Limited
  • The Siam Sugar Group
  • Thai Cane Paper Public Company Limited
  • Ratchaburi Sugar Group
  • Kasetphand Industry Company Limited
  • Tapioca Development Corporation Limited (TDC)
  • Chaiyapruek Sugar Group
  • Nakorn Luang Sugar Group
  • Pornsak Sugar Group

 

ภาพ: Everyonephoto Studio / Shutterstock, Grzegorz Zdziarski / Getty Images, Brian Hagiwara, Cavan images / Getty Images

 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X