×

มองการเดินเกมกรณีตาลีบัน จีนจะได้อะไรจากบทบาทในอัฟกานิสถาน

19.08.2021
  • LOADING...
จีน อัฟกานิสถาน

เพียงไม่ถึงสัปดาห์ หลังเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ บอกกับสำนักข่าว Reuters ตามการอ้างอิงจากการประเมินจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ว่า กลุ่มตาลีบันจะสามารถยึดกรุงคาบูลได้ภายใน 90 วันนั้น โลกก็ได้เห็นภาพการเข้าสู่กรุงคาบูล บุกยึดทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน และเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลใหม่พร้อมคำสัญญาจากกลุ่มตาลีบัน ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมความตระหนกในอนาคตที่ไม่แน่นอนของชาวอัฟกัน จนปรากฏภาพการพยายามหนีขึ้นเครื่องบินหวังหนีออกนอกประเทศ

 

แต่ในแง่ท่าทีจากต่างชาติ หนึ่งในประเทศที่ถูกจับตามากที่สุดนอกจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเผชิญคำถามไม่น้อยจากการยืนยันที่จะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานก็คือ ‘ประเทศจีน’ ซึ่งไม่ได้แค่มีปฏิกิริยาเฉพาะกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานหรือต่อกลุ่มตาลีบันเท่านั้น แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมไปถึงสหรัฐอเมริกาด้วย

 

เราลองไล่เรียงความเคลื่อนไหวสำคัญที่เกิดขึ้น เพื่อดูความหมายที่พอจะสังเกตได้จากความเคลื่อนไหวเหล่านี้ และอนาคตของจีนกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร

 

หวังให้ตาลีบันช่วยปราบปรามนักรบอุยกูร์ที่เคลื่อนไหวในชายแดนซินเจียง

เราได้เห็นความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับจีนตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม เมื่อมีการพบกันของคณะผู้แทนของตาลีบันและ หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน สำนักข่าว Xinhua ของจีน รายงานคำกล่าวของหวังในขณะนั้นว่า คาดว่ากลุ่มตาลีบันจะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติภาพ การปรองดอง และการฟื้นฟูของอัฟกานิสถาน เขาแสดงท่าทีว่าการถอนทหารของสหรัฐฯ และ NATO อย่างฉับพลัน ถือเป็น ‘ความล้มเหลวของนโยบายอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ’ และยืนยันหลักการ ‘ไม่แทรกแซงกิจการภายใน’ ของอัฟกานิสถาน

 

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนแสดงความหวังว่า ตาลีบันจะปราบปรามขบวนการอิสลามแห่งเตอร์กิสถานตะวันออก (ETIM) ที่จีนระบุว่า เคลื่อนไหวอยู่ในซินเจียง และจีนมองว่า เป็น ‘ภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงของชาติจีน’ ทั้งนี้ เว็บไซต์ The Financial Times ระบุว่า ETIM ประกอบด้วยนักรบอุยกูร์ที่ต่อต้านการปราบปรามของจีนในชายแดนซินเจียง ส่วนตาลีบันก็แสดงความหวังว่า จีนจะเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นในกระบวนการสันติภาพและการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน และบอกว่า กลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานจะไม่ยอมให้กองกำลังใดกระทำการใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อจีนในอาณาเขตของอัฟกานิสถานโดยเด็ดขาด

 

อย่างไรก็ดี คงต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า สหรัฐฯ ได้ถอด ETIM ออกจากบัญชีกลุ่มก่อการร้ายของรัฐบาลสหรัฐฯ ไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2020 โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า ETIM ยังคงมีอยู่ และกลายเป็นสิ่งที่จีนนำมาใช้กดขี่กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมต่างๆ รวมถึงอุยกูร์ นำมาซึ่งความไม่พอใจอย่างยิ่งและเสียงคัดค้านจากจีน ส่วนรายงานจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้วระบุไว้ว่า ‘รัฐสมาชิก’ ประเมินว่า ETIM ควบคุมนักรบอยู่ราว 1,100-3,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในซีเรีย และมีรายงานว่า บางส่วนพยายามเดินทางมายังตอนเหนือของอัฟกานิสถานเพื่อสมทบกับองค์กร ETIM

 

ซึ่งหากลองดูแผนที่จะพบว่า พรมแดนระหว่างจีนกับอัฟกานิสถานมีความยาวเพียงราว 80 กิโลเมตร ที่บริเวณซึ่งเรียกว่าฉนวนวาคาน แต่ก็เป็นจุดที่เชื่อมฝั่งอัฟกานิสถานกับเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน ซึ่ง CNN รายงานว่า จีนมีความกังวลว่าอัฟกานิสถานอาจถูกใช้เป็นฐานของกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มสุดโต่งที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของภูมิภาคซินเจียงส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันจีนก็ถูกกล่าวหาจากชาติตะวันตกและกลุ่มสิทธิมนุษยชนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมอุยกูร์จนถึงขั้นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้มาโดยตลอด

 

ปฏิกิริยาต่อมากลางเดือนสิงหาคม หลังจากกลุ่มตาลีบันล้มรัฐบาลเดิมได้สำเร็จ ในการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อ 16 สิงหาคม เกิง ชวง ทูตจีนประจำสหประชาชาติ ก็ได้แถลงต่อที่ประชุม โดยแม้ว่าตอนหนึ่งจะเน้นไปในการแสดงความหวังว่า ตาลีบันจะสามารถปฏิบัติตามที่แถลงไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในอัฟกานิสถานเป็นไปอย่างราบรื่น ป้องกันไม่ให้การก่อการร้ายและอาชญากรรมส่งผลกระทบ และหวังว่าตาลีบันจะสร้างความสามัคคีร่วมกับทุกฝ่ายและทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในอัฟกานิสถาน ตลอดจนสร้างโครงสร้างทางการเมืองที่กว้างขวางและครอบคลุม

 

ทว่า ในอีกส่วนหนึ่ง ทูตจีนประจำสหประชาชาติก็ยังกล่าวว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น “เกี่ยวข้องโดยตรงกับการถอนทหารต่างประเทศอย่างเร่งด่วน” และในเวทีนี้แม้จะไม่เอ่ยชื่อถึงโดยตรงถึงประเทศใดเลย แต่เขาก็เรียกร้องให้ ‘ประเทศที่เกี่ยวข้อง’ ควรยึดมั่นในความมุ่งมั่นในการสนับสนุนสันติภาพ การปรองดอง การฟื้นฟูในอัฟกานิสถานอย่างจริงจัง และมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในประเด็นอัฟกานิสถาน เขายังเอ่ยชื่อองค์กรที่เขาให้นิยามว่าเป็น ‘องค์กรก่อการร้าย’ ที่ “มีการรวมตัวและพัฒนาในอัฟกานิสถาน ก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค” ชื่อเหล่านี้ที่เขาเอ่ยออกมาก็ ได้แก่ กลุ่มรัฐอิสลาม กลุ่มอัลกออิดะห์ และ ETIM นั่นเอง ภายใต้การเน้นย้ำว่า ‘อัฟกานิสถานจะต้องไม่กลายเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้ก่อการร้ายอีกต่อไป’

 

ท่าทีในทำนองเดียวกันนี้ยังไปปรากฏระหว่างการยกหูโทรศัพท์หากันระหว่าง หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน และ แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน คราวนี้เอ่ยออกมาโดยตรงว่า การที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานอย่างเร่งด่วนได้ก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน เช่นเดียวกับที่ย้ำว่าเป็นสิ่งที่ ‘อันตรายและผิด’ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ถอนรายชื่อ ETIM ออกจากการเป็นองค์กรก่อการร้าย และใช้สิ่งที่เขานิยามว่าเป็น “สองมาตรฐานในการต่อต้านการก่อการร้าย” แต่ขณะเดียวกันการพูดคุยดังกล่าว จีนยังคงไว้ซึ่งท่าทีที่ ‘เปิด’ สำหรับการพูดคุยกับสหรัฐฯ ในประเด็นอัฟกานิสถาน

 

“จีนพร้อมที่จะมีการสื่อสารและการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อผลักดันให้เกิดทางออกที่ดีต่อปัญหาอัฟกานิสถาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหม่หรือภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถาน และอัฟกานิสถานจะไม่กลับเข้าสู่การเป็นแหล่งเพาะและการเป็นที่พักพิงสำหรับผู้ก่อการร้าย” แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุคำกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศจีน

 

ด้าน ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุผ่านรายการ THE STANDARD NOW ว่า นอกจากความกังวลถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธชาวอุยกูร์แล้ว ยังมีความกังวลถึงกรณีที่สมาชิกกลุ่มรัฐอิสลามเคยขู่จีน และกรณีที่หลังจากที่ไอเอสเสียที่มั่นในอิรักและซีเรียก็มีสมาชิกกลุ่มไอเอสเข้ามาเคลื่อนไหวในอัฟกานิสถานและมีการต่อสู้กับกลุ่มตาลีบัน ทำให้หลายประเทศรวมทั้งจีนกังวลว่า หากเกิดสงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถาน ไอเอสอาจจะ ‘ผงาด’ และเป็นภัยคุกคามจากจีนได้อีกด้วย

 

จากจุดนี้เราคงเห็นความ ‘เป็นกังวล’ ของจีน และท่าทีที่วิจารณ์การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ แต่ยังเปิดไว้ซึ่งช่องในการพูดคุยระหว่างสองประเทศแล้ว ประเด็นต่อมาก็คือ การแถลงข่าวของ จ้าวลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่อาจสะท้อนท่าทีที่จีนจะมีต่ออัฟกานิสถานนับจากนี้ไป

 

โดยเมื่อเขาถูกสื่อรัสเซียอย่าง RIA Novosti ถามว่า จีนจะมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอัฟกานิสถานหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขใด จ้าวระบุว่า “จีนรักษานโยบายที่เป็นมิตรต่อชาวอัฟกันทั้งหมด สิ่งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนแปลงในขณะนี้ และจะไม่เปลี่ยนแปลง” นอกจากจะแสดงท่าทีพร้อมสนับสนุนสันติภาพและการฟื้นฟูในอัฟกานิสถาน ยังส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะ “ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอัฟกานิสถานตามที่ความสามารถของเราเอื้ออำนวย” และต่อคำถามของสำนักข่าว AFP ที่ว่า จีนจะยอมรับรัฐบาลตาลีบันหรือไม่ และถ้าไม่ใช่ตอนนี้ จะยอมรับภายใต้เงื่อนไขใด จ้าวก็บอกว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสากลที่การยอมรับรัฐบาลเกิดขึ้นหลังจากการก่อตั้งรัฐบาล จุดยืนของจีนในประเด็นอัฟกานิสถานนั้นชัดเจนและสม่ำเสมอ

 

และอีกประโยคหนึ่งที่เราได้ยินการย้ำมาอย่างต่อเนื่องจากจีน ทั้งบนเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มาจนถึงการแถลงข่าวของโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน นั่นคือประโยคที่ว่า “เราเคารพเจตจำนงและตัวเลือกของชาวอัฟกัน”

 

‘สุสานจักรพรรดิ’ และเดิมพันของจีนในโครงการเส้นทางสายไหม

อย่างไรก็ตาม สื่อตะวันตกหลายรายชี้ว่า จีนเข้าใจดีถึงต้นทุนในการเข้าไปพัวพันกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงในอัฟกานิสถาน จากที่สื่อทางการจีนได้วิเคราะห์และเปรียบเปรยอัฟกานิสถานเอาไว้เป็นเสมือน ‘สุสานแห่งจักรวรรดิ’ ที่มหาอำนาจหลายประเทศมักพบว่าตัวเองติดกับอยู่บ่อยๆ จากบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ ตั้งแต่อังกฤษมาจนถึงสหภาพโซเวียต และล่าสุดคือสหรัฐอเมริกา

 

และเมื่อพูดถึงการ ‘ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม’ แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงในสื่อตะวันตกก็คือ มีแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนในอัฟกานิสถาน ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา จีนได้ขยายเส้นทางสายไหมของตนเองเข้ามาในอัฟกานิสถาน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ดังนั้นหากมีสงครามกลางเมืองโครงการนี้ก็จะสะดุด จีนจึงต้องเข้ามามีบทบาท

 

นอกจากนี้ ผศ.ดร.มาโนชญ์ วิเคราะห์ว่า หลังจากตาลีบันถูกโค่นโดยสหรัฐฯ ในปี 2001 สหรัฐฯ ก็ไปนำอินเดีย ซึ่งถือเป็น ‘คู่ปรับ’ ของจีน เข้ามามีบทบาทในอัฟกานิสถาน จึงทำให้หากจีน ‘คุย’ กับตาลีบันได้ ก็จะเป็นการลดอิทธิพลของทั้งสหรัฐอเมริกาและอินเดียในภูมิภาคเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน ยังถูกพูดถึงในสื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนอย่าง Global Times ในบทความเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งมีเนื้อหาอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิเสธว่า จีนไม่มีเจตนาจะส่งกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน โดยบอกว่า สิ่งที่จีนทำได้มากที่สุดคือ การอพยพชาวจีนหากเกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ การสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาหลังสงคราม ตลอดจนการผลักดันโครงการภายใต้ความริเริ่มดังกล่าวเมื่อความปลอดภัยและเสถียรภาพถูกฟื้นคืนมา

 

อย่างไรก็ตาม แอนดรูว์ สมอลล์ นักวิจัยอาวุโสผู้ที่ติดตามความสัมพันธ์ของจีนกับปากีสถานและอัฟกานิสถานมาหลายปีจาก German Marshall Fund องค์กรคลังสมองด้านนโยบายสาธารณะในสหรัฐฯ ระบุว่า มุมมองของจีนตอนนี้มองอัฟกานิสถานเป็นสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงมาก และความปรารถนาที่จะเปลี่ยนอัฟกานิสถานเป็นโอกาสใดๆ ถือเป็นการพิจารณา ‘ในระดับรอง’ สมอลล์ระบุว่า จีนนั้นเห็นว่าความสำเร็จของขบวนการอิสลามสุดโต่งในอัฟกานิสถานเป็นภัยคุกคามที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่อาจเปิดพรมแดนที่อันตรายอยู่แล้วให้มากยิ่งขึ้นไปอีก และต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เขาก็แสดงความเห็นไว้แล้วครั้งหนึ่งว่า จีนไม่ได้มีแนวโน้มที่จะคิดเกี่ยวกับอัฟกานิสถานผ่านมุมมองของโอกาส เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการภัยคุกคาม รวมทั้งอธิบายว่า จีนยังมีผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจไม่มากนักในอัฟกานิสถาน

 

ภาพ: Reuters

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X