วานนี้ (9 มกราคม) ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า แบบจำลองปฏิบัติการบุกเข้ายึดครองไต้หวันของจีนมีแนวโน้มเจอกับความล้มเหลว หากสหรัฐฯ ตัดสินใจช่วยหนุนไต้หวันสู้ศึก แต่นั่นก็เป็นสถานการณ์ที่บั่นทอนกองกำลังของสหรัฐฯ อย่างหนักด้วยเช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจากศูนย์ยุทธศาสตร์ฯ ได้สร้างแบบจำลองทางทหารขึ้นมาและทดสอบกรณีที่จีนพยายามเข้ายึดครองไต้หวันในปี 2026 ด้วย 24 สถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดยผลออกมาว่าไต้หวันมีโอกาสชนะสงครามหากสหรัฐฯ ช่วยสนับสนุน แต่ทุกประเทศที่มีแนวโน้มเข้าร่วมในสงครามซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น จะเสียหายอย่างหนักหน่วงกันทุกฝ่าย
เอริก เฮกินบอทแธม ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่ง Massachusetts Institute of Technology กล่าวว่า จากการศึกษาดังกล่าวสามารถสรุปออกมาได้เป็น 2 ประเด็นหลักๆ ด้วยกัน ประการแรกคือภายใต้สถานการณ์ส่วนใหญ่ จีนมีแนวโน้มที่จะพ่ายแพ้ในปฏิบัติการยึดครองไต้หวัน และประการต่อมาคือสงครามที่เกิดขึ้นมีราคาที่ต้องจ่ายกันทุกฝ่าย รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย
รายงานระบุว่า หากสงครามเปิดฉากขึ้นจริง ขีปนาวุธของจีนจะทำลายฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น รวมไปถึงฐานทัพในเกาะกวมด้วย อีกทั้งยังมีโอกาสจมเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ อีกสองลำ และคาดว่าจะมีเรือพิฆาตและเรือลาดตระเวนอีกราว 10-20 ลำที่ถูกทำลายจนสิ้นซาก
แต่ถึงเช่นนั้น กองกำลังของจีนเองก็จะถูกทำลายล้างหนักจนไม่สามารถยึดครองพื้นที่สำคัญของไต้หวันได้ รวมถึงกรุงไทเปซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด นอกจากนี้ พื้นที่ในจีนแผ่นดินใหญ่อีกหลายส่วนก็จะได้รับความเสียหายจากการโต้กลับของไต้หวัน ซึ่งจะสั่นคลอนอำนาจการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตามไปด้วย
ตัวแปรสำคัญของสงครามคือสหรัฐฯ เพราะหากสหรัฐฯ ไม่ตัดสินใจเข้าร่วม ไต้หวันจะถูกกองทัพจีนเข้ายึดครองได้ในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
แบบจำลองสันนิษฐานว่า จีนจะเปิดฉากการรุกรานไต้หวันด้วยการกระหน่ำทิ้งระเบิดทำลายกองทัพเรือและกองทัพอากาศส่วนใหญ่ของไต้หวันในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง พร้อมส่งกองทัพเรือเข้าโอบล้อมเกาะไต้หวัน และยกพลขึ้นบกจู่โจมบริเวณช่องแคบ ขณะที่ฝั่งไต้หวันจะโต้กลับด้วยการไล่ต้อนทหารจีนตามแนวชายฝั่ง
ขณะเดียวกันเรือดำน้ำ เครื่องบินทิ้งระเบิด และเครื่องบินขับไล่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นร่วมหนุนด้วย จะตรงเข้าทำลายฝูงยานรบสะเทินน้ำสะเทินบกของจีนอย่างรวดเร็ว
แมทธิว แคนเชียน ผู้เชี่ยวชาญจาก U.S. Naval War College กล่าวว่า ตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้ฝั่งไต้หวันประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่สองอย่างด้วยกัน ประการแรกคือไต้หวันต้องตั้งกำลังพร้อมรบอย่างเต็มที่ และสองคือญี่ปุ่นต้องอนุญาตให้สหรัฐฯ เปิดฉากการโต้กลับจากฐานทัพที่อยู่ในดินแดนของญี่ปุ่น เพราะหากปราศจากปัจจัยทั้งสองอย่างนี้แล้ว แม้สหรัฐฯ จะยื่นมือเข้ามาก็ไม่อาจช่วยให้ไต้หวันรอดพ้นจากอิทธิพลจีนได้
ส่วนยอดผู้เสียชีวิตนั้นก็จะสูงมากด้วยเช่นกัน โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 10,000 คน
แบบจำลองดังกล่าวอาจเป็นภาพสะท้อนหนึ่งที่ในฝั่งของสหรัฐฯ จะต้องคิดทบทวนให้หนักก่อนร่วมสงครามนี้ เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจถึงขั้นทำลายศักยภาพของสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจโลกเป็นเวลาหลายปี
“สหรัฐฯ อาจได้รับชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ แต่ต้องทนทุกข์ในระยะยาวมากกว่าจีนที่เป็นผู้พ่ายแพ้” รายงานระบุ
ภาพ: Ceng Shou Yi/NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.france24.com/en/live-news/20230110-in-wargame-exercise-china-fails-to-take-taiwan-us-thinktank
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-01-09/taiwan-invasion-war-game-by-us-think-tank-sees-china-quickly-flopping?sref=CVqPBMVg
- https://edition.cnn.com/2023/01/09/politics/taiwan-invasion-war-game-intl-hnk-ml/index.html