จีนส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายของเครือข่ายดาวเทียมนำทาง ‘เป่ยโต่ว’ (BeiDou Navigation Satellite System หรือ BDS) ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศสำเร็จ ส่งผลให้ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลกที่จีนพัฒนาขึ้นเองมีความครอบคลุมสมบูรณ์ หลังใช้เวลารวมกว่า 2 ทศวรรษ
การปล่อยดาวเทียมดวงสุดท้ายนี้มีขึ้นที่ศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง มณฑลเสฉวน โดยใช้จรวดขนส่ง Long March-3B ซึ่งสำเร็จลุล่วงเมื่อเวลาประมาณ 10.15 น. วันนี้ (23 มิถุนายน) ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง โดยภารกิจดังกล่าวมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ CGTN ของทางการจีน
ความสำเร็จครั้งนี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของจีนในการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอวกาศ และจะทำให้จีนสามารถลดการพึ่งพาระบบดาวเทียมนำทาง GPS ของสหรัฐฯ ได้อย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ตัวระบบเป่ยโต่วเองก็ถูกจับตาว่าจะขึ้นมาเป็นคู่แข่งของ GPS ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในขณะนี้ด้วย
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังเคยให้ความเห็นกับ CNBC ว่า เป่ยโต่วจะช่วยให้กองทัพจีนไม่ถูกตัดขาดจากระบบดาวเทียมนำทาง หากเกิดปัญหาขัดแย้งกับสหรัฐฯ ขณะที่ทั่วโลกมีระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลกจากดาวเทียมที่สำคัญอีก 2 ค่าย คือ GLONASS ของรัสเซีย และ Galileo ของยุโรป
จีนเริ่มพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางของตนเองตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 และประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมเวอร์ชันแรก (เป่ยโต่ว 1) ขึ้นสู่วงโคจรในปี 2000 สำหรับใช้งานในจีนเอง โดยเป่ยโต่วเป็นคำในภาษาจีน หมายถึงกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ (Big Dipper)
สำหรับระบบเป่ยโต่วที่ใช้งานในปัจจุบันประกอบด้วยกลุ่มดาวเทียม 2 กลุ่ม ได้แก่ เป่ยโต่ว 2 และเป่ยโต่ว 3 โดยกลุ่มดาวเทียมเป่ยโต่ว 2 เสร็จสมบูรณ์ในปี 2012 ซึ่งให้บริการครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและใช้งานแทนที่เป่ยโต่ว 1 ที่ปลดประจำการในปีเดียวกัน ส่วนระบบเป่ยโต่ว 3 ซึ่งอยู่บนวงโคจรครบสมบูรณ์ในวันนี้ ประกอบด้วยดาวเทียมจำนวน 30 ดวง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: