×

‘จีน’ เร่งกระตุ้นจ้างงาน อุ้มผู้ประกอบการรายเล็ก หลังพิษโควิดทำเศรษฐกิจโตสะดุด

10.05.2022
  • LOADING...
จีน

นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงของจีน ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานในจีนว่ากำลังอยู่ในภาวะที่ซับซ้อนและรุนแรง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด ที่ทำให้ทางการจีนต้องบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ จนส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนมีอันต้องสะดุด

 

ทั้งนี้ ในฐานะผู้นำหมายเลข 2 ของประเทศ ซึ่งรับหน้าที่ดูแลด้านเศรษฐกิจของจีนได้ออกแถลงการณ์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทุกระดับให้น้ำหนักความสำคัญกับการกระตุ้นการจ้างงาน และรักษาเสถียรภาพของตลาดงานภายในประเทศ โดยหมายรวมถึงมาตรการที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กอยู่รอด ให้การสนับสนุนเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต (Internet Economy) การมอบแรงจูงใจที่หนุนให้คนอยากทำธุรกิจของตนเอง และเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการว่างงานให้กับแรงงานที่โดนไล่ออกหรือเลย์ออฟ

 

นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงกล่าวว่า เสถียรภาพของการจ้างงานมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คน และเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตต่อไปได้ในขอบเขตที่เหมาะสม โดยคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีจีนครั้งนี้มีขึ้นหลังมีรายงานว่า อัตราการว่างงานในจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี

 

ทั้งนี้ ในแต่ละปี ทางการจีนจำเป็นต้องเพิ่มตำแหน่งงานใหม่ให้ได้หลายล้านตำแหน่ง เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ซึ่งสำหรับปีนี้ รัฐบาลจีนตั้งเป้าสร้างตำแหน่งงานใหม่ไว้ที่อย่างน้อย 11 ล้านตำแหน่งครอบคลุมพื้นที่ในเมือง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหลี่คาดหวังว่าจีนจะสามารถสร้างงานได้มากกว่า 13 ล้านตำแหน่งในปีนี้ เพื่อให้สอดรับจำนวนแรงงานที่เพิ่มเข้ามาจากกลุ่มเด็กจบใหม่ และแรงงานที่อพยพเข้ามาจากชนบท

 

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำหมายเลข 2 ของจีนรายนี้ ต่างย้ำถึงความจำเป็นต้องการรักษาเสถียรภาพการจ้างงานอยู่เสมอ กระนั้น ความเห็นล่าสุดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นความเห็นที่ค่อนข้างดุดัน เพื่อหวังกระตุ้นให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาการจ้างงานซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดกั้นการระบาดของโควิด โดยจนถึงขณะนี้มีเมืองอย่างน้อย 31 แห่งในจีนที่โดนล็อกดาวน์ กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรมากถึง 214 ล้านคนทั่วประเทศ

 

แม้จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของมาตรการ Zero COVID แต่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนก็ยืนกรานเดินหน้ายกระดับการบังคับใช้มาตรการ Zero COVID แบบคุมเข้มขึ้นอีก 2 เท่า พร้อมประกาศสั่งลงโทษทุกคนที่แสดงความกังขากับมาตรการดังกล่าวของรัฐ

 

รายงานระบุว่า ความเชื่อมั่นในนโยบาย Zero COVID ของจีนค่อนข้างสวนทางกับนานาประเทศทั่วโลก ที่ส่วนใหญ่พยายามเรียนรู้ในการหาวิธีอยู่ร่วมกับโควิด โดยทีมนักวิเคราะห์ของ Société Générale กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์ทำให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกเกือบมาถึงจุดแตกหัก เพราะมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบรุนแรงโดยตรงต่อธุรกิจขนาดเล็ก แหล่งจ้างงานสำคัญของตลาดงานจีน

 

ทั้งนี้ แต่เดิมข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า อัตราการว่างงานของจีนพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 21 เดือนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่รัฐบาลจะใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายเมืองทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่าปัญหาการว่างงานในจีนค่อนข้างรุนแรงอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะในภาคส่วนเทคโนโลยีที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการจ้างงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากบรรดาบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งในจีนกำลังลดขนาดลงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ท่ามกลางการเดินหน้าจัดระเบียบบริษัทเอกชนของรัฐบาลจีน

 

ขณะที่ในส่วนของอุตสาหกรรมอื่นๆ ตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงภาคการศึกษา ต่างก็มีปัญหาคนตกงานอย่างหนักในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ หูชุนฮวา (Hu Chunhua) รองนายกรัฐมนตรีจีน ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่” เพื่อสร้างเสถียรภาพในการจ้างงาน

 

การเรียกร้องในครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณโตชะลอตัว โดยหนึ่งในสัญญาณสำคัญคือการอ่อนค่าของค่าเงินหยวนที่ล่าสุดอ่อนค่าลงแตะระดับเลวร้ายสุดในรอบ 18 เดือน

 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

 

ขณะที่เมื่อวานนี้ ก่อนหน้าที่จะเปิดตลาด ทางธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้กำหนดค่ากลางของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนไว้ที่ 6.6899 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นอัตราที่อ่อนค่าที่สุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2022 ซึ่งในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศของจีนนั้น เงินหยวนได้รับอนุญาตให้ปรับตัวขึ้นหรือลงไม่เกิน 2% จากอัตราค่ากลางของการซื้อขายแต่ละวัน

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising