×

จีนยังบอบช้ำ ดัชนีภาคการผลิตและบริการในเดือนเมษายนหดตัวหลังโควิดระบาดหนัก ทำเศรษฐกิจเป็นอัมพาต

30.04.2022
  • LOADING...
จีน

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคการผลิตจีนและภาคบริการของจีนในเดือนเมษายนปรับตัวลดลง สะท้อนความบอบช้ำทางเศรษฐกิจที่จีนต้องรับมือต่อเนื่องหลังจากโควิดกลับมาระบาดอีกระลอก ท่ามกลางนโยบาย Zero-COVID ของรัฐที่ยังถูกผลักดันอย่างแข็งแกร่ง 

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (30 เมษายน) บ่งชี้ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคการผลิตจีนอยู่ที่ 47.4 ในเดือนเมษายน ลดลงจาก 49.5 ในเดือนมีนาคม

 

โดยดัชนีย่อยสำหรับการผลิตอยู่ที่ 44.4 ในเดือนเมษายน ลดลง 5.1 จุดจากเดือนมีนาคม และดัชนีย่อยสำหรับยอดสั่งซื้อใหม่อยู่ที่ 42.6 ลดลง 6.2 จุดจากเดือนมีนาคม

 

ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการของจีนอยู่ที่ 41.9 ในเดือนเมษายน ลดลงจาก 48.4 ในเดือนมีนาคม

 

จ้าวฉิงเหอ (Zhao Qinghe) นักสถิติอาวุโสของ NBS กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิดอีกครั้งในประเทศ ได้ถ่วงกิจกรรมการผลิตของโรงงานและอุปสงค์ของตลาด

 

NBS กล่าวในแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงอย่างมากทั้งในด้านการผลิตและความต้องการ เกิดจากการระบาดล่าสุดของโควิดที่กำลังคุกคามไปในหลายพื้นที่ ส่งผลให้บางองค์กรต้องลดหรือหยุดการผลิต

 

โดยปัจจุบันกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นอีกเมืองที่สำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการระบาดของโควิดและข้อจำกัดในหลายเมือง ทำให้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศจีน อันเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ต้องเป็นอัมพาต

 

ผู้ผลิตหลายรายในปักกิ่งพยายามที่จะดำเนินกิจการต่อโดยการใช้ระบบปิด กล่าวคือ ให้คนงานอาศัยอยู่ที่เฉพาะในไซต์งานและได้รับตรวจหาเชื้อโควิดอยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตาม แผนรับมือดังกล่าวเริ่มไม่ได้ผลหลังจากที่การจำกัดการเดินทางเริ่มยืดเยื้อ 

 

ปัญหาคอขวดด้านโลจิสติกส์ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วน และทำให้การเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าภายในประเทศและข้ามพรมแดนทำได้ยาก การใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากผู้คนต้องอยู่บ้านทั้งโดยสมัครใจหรือไม่เต็มใจ

 

ทางด้านรัฐบาลจีนได้เพิ่มคำมั่นสัญญาว่าจะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในการประชุมผู้บริหาระดับสูงของประเทศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 เมษายน) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงสัญญาว่าจะใช้มาตรการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น และยังคงหมายมั่นจะผลักดันให้ GDP เติบโตตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็ยังคงนโยบาย Zero-COVID เอาไว้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่ากลยุทธ์นี้มีแต่จะเพิ่มความเสี่ยงให้แก่เศรษฐกิจจีน 

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X