×

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเครื่องบินรบยุค 6 ของจีน

30.12.2024
  • LOADING...
เครื่องบิน

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของจีนเผยแพร่คลิปเครื่องบินทหารที่มีรูปร่างหน้าตาล้ำสมัยเหมือนหลุดมาจากภาพยนตร์บินคู่กับเครื่องบินขับไล่ J-20 แต่ไม่ใช่แค่ 1 ลำที่ปรากฏให้เห็นบนน่านฟ้าในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทว่ายังมีอีกลำที่หน้าตาต่างออกไปด้วย

 

หลายคนเชื่อว่านี่คือเครื่องบินต้นแบบในโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ของจีน

 

ในโลกของเรานั้นแบ่งเครื่องบินขับไล่ออกเป็นยุคๆ โดยเครื่องบินขับไล่ยุคที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันคือเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 4 หรือ 4.5 อย่าง Gripen E/F, F-16E/F, Su-35, Eurofighter Typhoon และ Rafale ซึ่งเครื่องบินยุคนี้จะทำได้หลายภารกิจ มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย เรดาร์ที่ทรงพลัง และเครือข่ายการสื่อสาร

 

ถัดจากเครื่องบินยุคนี้ก็จะเป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ที่ถือว่าทันสมัยที่สุดในโลกในปัจจุบันคือ F-22, F-35, Su-57 และ J-20 โดยเครื่องบินขับไล่ยุคนี้จะมีคุณสมบัติในการตรวจจับได้ยาก หรือที่เรารู้จักจากคำว่า Stealth หรือเครื่องบินล่องหนนั่นเอง

 

เมื่อเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 เข้าประจำการแล้ว หลายประเทศก็เริ่มพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ทันที โดยนอกจากจะขยายขีดความสามารถทุกมิติของเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 แล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติตรวจจับได้ยากแบบใหม่ เพื่อป้องกันการตรวจจับของเรดาร์ฝ่ายตรงข้าม ไปจนถึงการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถสูง สามารถทำภารกิจได้หลากหลาย รวมถึงการเป็นเครื่องบินแม่ที่ควบคุมโดรนลำอื่นๆ ให้ปฏิบัติภารกิจได้

 

ซึ่งโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 นั้นมีการดำเนินการอยู่ในหลายประเทศ เช่น โครงการ Next-Generation Air Dominance (NGAD) ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา, โครงการ F/A-XX ของกองทัพเรือสหรัฐฯ, โครงการ Future Combat Air System (FCAS) ของฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน รวมถึงโครงการ Global Combat Air Programme (GCAP) ของสหราชอาณาจักร อิตาลี และญี่ปุ่น

 

จีนเองก็เริ่มพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 แล้วเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะมี 2 โครงการ คือ J-36 ของบริษัท Chengdu Aerospace Corporation (CAC) ในเมืองเฉิงตู และ J-XX ของบริษัท Shenyang Aircraft Corporation (SAC) ในเมืองเฉิ่นหยาง

 

ตอนนี้เรายังมีข้อมูลไม่มากนักเกี่ยวกับ 2 โครงการนี้ แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าเครื่องบินทั้ง 2 ลำคือเครื่องบินที่ออกมาจากทั้ง 2 โครงการนี้ โดยลำแรกของโครงการ J-36 นั้นเป็นเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ มีปีกแบบ Delta ที่แผ่เต็มลำตัวเหมือนรูปสามเหลี่ยมบินได้ นอกจากนั้น ท่อไอพ่นยังเป็นท่อที่มีขนาดเล็กมาก 3 ท่อ ซึ่งเป็นการซ่อนเครื่องยนต์เอาไว้ในลำตัว คาดว่าเพื่อลดการแผ่รังสีอินฟราเรดที่จะทำให้ถูกตรวจจับได้ ลำตัวโดยรวมมีลักษณะค่อนข้างแบนราบ ซึ่งช่วยลดการถูกตรวจจับจากเรดาร์ฝ่ายตรงข้ามจากด้านข้าง สิ่งที่ทำให้เราค่อนข้างแน่ใจว่าเครื่องบินลำนี้คือเครื่องบินของบริษัท CAC เนื่องจากภาพที่ปรากฏคล้ายกับเครื่องบินลักษณะปีกสามเหลี่ยมที่ดาวเทียมถ่ายภาพได้เมื่อหลายปีก่อน

 

สำหรับเครื่องบินอีกลำมีการออกแบบที่ต่างกันออกไป โดยปีกมีลักษณะคล้ายปีก Lambda ซึ่งเราน่าจะเคยเห็นบนเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-2 ของสหรัฐฯ ลำตัวค่อนข้างมีเหลี่ยมมุมมากกว่า โดยเฉพาะส่วนหัวที่มีมิติบางส่วนคล้ายกับเครื่องบิน FC-31 ซึ่งเป็นเครื่องบินยุคที่ 5 ของบริษัท SAC เอง ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเครื่องบินลำนี้น่าจะเป็นเครื่องบินจากโครงการ J-XX ที่น่าจะมีขนาดเล็กกว่า J-36 และน่าจะใช้ในบทบาทเครื่องบินขับไล่มากกว่า J-36 ที่น่าจะใช้ในบทบาทของเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด แต่เครื่องบินลำนี้มีภาพปรากฏน้อยกว่า J-36 อีก ทำให้เรายังไม่มีข้อมูลวิเคราะห์มากนัก

 

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการมีจุดร่วมเดียวกันคือการออกแบบแบบ Tailless เป็นการตัดแพนหางดิ่งหรือ Vertical Stabilizer ออกไป ซึ่งเครื่องบินลักษณะนี้มีชื่อเล่นที่เรียกกันก็คือ Flying Wings อย่างที่เราเห็นในเครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 และ B-21 ของสหรัฐฯ การตัด Vertical Stabilizer แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการลดการถูกตรวจจับด้วยเรดาร์ เนื่องจาก Vertical Stabilizer เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่มักจะสะท้อนคลื่นเรดาร์กลับไปยังเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามและทำให้ถูกตรวจจับได้

 

แต่ในอดีตเทคโนโลยียังไม่สูงมากนัก ทำให้การตัด Vertical Stabilizer ส่งผลเสียค่อนข้างมากต่อความคล่องตัวและเสถียรภาพการบิน โดยเฉพาะบนเครื่องบินขับไล่ซึ่งต้องการความคล่องตัวสูง แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ทำให้เราเชื่อว่าตอนนี้ประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐฯ พร้อมแล้วในการนำการออกแบบแบบ Tailless มาใช้ในเครื่องบินขับไล่

 

ทำให้การออกแบบแบบ Tailless เป็นแนวคิดการออกแบบหลักของเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ของสหรัฐฯ อย่าง NGAD ที่มีการวิจัยมาหลายปีแล้ว ซึ่งจากภาพที่ปรากฏแปลว่าจีนเองก็จะมุ่งไปใช้การออกแบบแบบ Tailless เช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐฯ นั่นเอง

 

นี่คือทั้งหมดที่เรารู้ในตอนนี้เกี่ยวกับเครื่องบินทั้ง 2 แบบของจีน ที่เรายังไม่รู้แม้แต่ชื่อของมัน แต่การเลือกวันทดสอบการบินเป็นวันที่ 26 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิด เหมาเจ๋อตง ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็อาจแสดงให้เห็นว่าโครงการลับของจีนทั้ง 2 โครงการนี้มีความสำคัญสูงมาก และคาดว่าจะเป็นโครงการที่ผลิตเครื่องบินขับไล่หลักเข้าประจำการในกองทัพจีนภายในอีก 15 ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X