เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (11 สิงหาคม) รัฐบาลจีนได้เปิดเผยแผน 5 ปี เกี่ยวกับแนวทางยกระดับกฎเกณฑ์ควบคุมเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ซึ่งหน่วยงานกำกับของจีนจะเร่งออกกฎหมายในด้านต่างๆ ได้แก่ ความมั่นคงของชาติ เทคโนโลยี และการผูกขาด ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้จะครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม ไล่ตั้งแต่อาหาร ยา ไปจนถึงการใช้ข้อมูล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
ในมุมของนักลงทุนยังคงจับตาดูผลกระทบจากการเข้ามากำกับดูแลของรัฐบาลอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่หน่วยงานกำกับต้องการจะปรับให้ธุรกิจติวเตอร์กลายเป็นธุรกิจไม่แสวงหากำไร ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการผูกขาดทางธุรกิจซึ่งกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายราย เช่น Alibaba รวมถึงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งกระทบบริษัทอย่าง DiDi Global
สำหรับรายละเอียดที่เปิดเผยออกมาในครั้งนี้เป็นการอัปเดตจากแผนเดิมที่จบลงไปเมื่อปี 2563 ซึ่งแผนใหม่นี้มีส่วนสำคัญ ได้แก่
- การเร่งออกกฎหมายครอบคลุมในหลายส่วน ได้แก่ ความมั่นคงของชาติ นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี สาธารณสุข วัฒนธรรมและการศึกษา ศาสนา ชาติพันธุ์ ความปลอดภัยทางชีวภาพ อารยธรรมเชิงนิเวศน์ การป้องกันความเสี่ยง การป้องกันการผูกขาด และประเด็นระหว่างประเทศ
- การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ อาหารและยา สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ อารยธรรมเชิงนิเวศน์ กระบวนการผลิตที่ปลอดภัย ความปลอดภัยของแรงงาน การพัฒนาสังคมเมือง การขนส่ง การบริการทางการเงินร การศึกษา และการพัฒนาทักษะ
- การทำให้มั่นใจว่าการพัฒนาของธุรกิจใหม่ๆ จะให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ ภายใต้กฎหมายและหลักบรรษัทภิบาลที่ดี
- การใช้อินเทอร์เน็ตและข้อมูลสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย ผ่านการรวมรวมข้อมูลจากแพลตฟอร์มต่างๆ ภายในสิ้นปี 2565
- ส่งเสริมความโปร่งใสของรัฐบาล เพื่อสร้างความเข้าใจที่มากขึ้น
Gary Dugan ซีอีโอของ Global CIO Office มองว่าแผน 5 ปีของการกำกับอย่างเข้มงวดเป็นเหมือนช่วงเวลาของการยกเครื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม มันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานสำหรับนักลงทุนซึ่งกลัดกลุ้มกับการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่จบลง
ที่ผ่านมาเราได้เห็นนักลงทุนเทขายหุ้นในหลายอุตสาหกรรมซึ่งถูกพูดถึงบนหน้าสื่อ ไล่ตั้งแต่เกมออนไลน์ อสังหาริมทรัพย์ ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กทารก ขณะที่หุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลายเป็นอุตสาหกรรมล่าสุดที่ถูกเทขายออกมา เนื่องจากรัฐบาลจีนต้องการลดขนาดของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มลง หลังกรณีอดีตพนักงานของ Alibaba ถูกไล่ออกจากประเด็นคุกคามทางเพศ
อ้างอิง: