วันนี้ (17 มิถุนายน) จีนประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม ‘เสินโจว-12’ (Shenzhou-12) ซึ่งจะนำพานักบินอวกาศ 3 คน ไปยังโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนเหอ (Tianhe) เพื่อปฏิบัติภารกิจต่างๆ เป็นเวลา 3 เดือน
ความสำเร็จนี้นับเป็นภารกิจส่งมนุษย์สู่อวกาศครั้งที่ 7 ของจีน และภารกิจที่มีมนุษย์ควบคุมครั้งแรกในการก่อสร้างสถานีอวกาศจีน รวมถึงยังเป็นภารกิจที่มีมนุษย์ควบคุมครั้งแรกของจีนในช่วงเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา
องค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (CMSA) รายงานว่ายานเสินโจว-12 ซึ่งอยู่บนจรวดขนส่งลองมาร์ช-2เอฟ (Long March-2F) ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนในทะเลทรายโกบีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อเวลา 09.22 น. ตามเวลาปักกิ่ง
นักบินอวกาศ 3 คน ได้แก่ เนี่ยไห่เซิ่ง ผู้บัญชาการวัย 56 ปี ที่เคยปฏิบัติภารกิจเสินโจว-6 และเสินโจว-10, หลิวโป๋หมิง วัย 54 ปี ผู้เคยปฏิบัติภารกิจเสินโจว-7 และทังหงโป วัย 45 ปี ซึ่งปฏิบัติภารกิจอวกาศเป็นครั้งแรก
มีการคาดการณ์ว่านักบินอวกาศทั้งสามจะสร้างสถิติใหม่ในแง่ระยะเวลาปฏิบัติภารกิจอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีนที่นานที่สุด โดยทำลายสถิติเดิมที่ 33 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ทีมนักบินอวกาศเสินโจว-11 เคยทำไว้ในปี 2016
ยานอวกาศเสินโจว-12 จะดำเนินการนัดพบและการเชื่อมต่อโดยอัตโนมัติอย่างรวดเร็วกับโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนเหอในวงโคจร ซึ่งประกอบด้วยโมดูลหลักและยานขนส่งสัมภาระเทียนโจว-2 (Tianzhou-2) โดยทีมนักบินอวกาศจะประจำการอยู่ในโมดูลหลัก
ห่าวฉุน ผู้อำนวยการ CMSA กล่าวว่า ภารกิจครั้งนี้จะมีความซับซ้อนและท้าทายมากกว่าภารกิจที่มีมนุษย์ควบคุมหลายครั้งก่อนหน้านี้ โดยจี้ฉี่หมิง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ CMSA แถลงข่าวเมื่อวานนี้ว่า ทีมนักบินอวกาศเสินโจว-12 จะดำเนินภารกิจหลัก 4 ประการในวงโคจร
ประการแรก พวกเขาจะดำเนินงานเกี่ยวกับสถานีอวกาศ ซึ่งครอบคลุมการทดสอบในวงโคจรของโมดูลเทียนเหอ การตรวจสอบระบบรีไซเคิลและช่วยชีวิต การทดสอบและฝึกฝนการทำงานของแขนหุ่นยนต์ ตลอดจนการจัดการวัสดุต่างๆ และขยะ
ประการที่สอง พวกเขาจะเคลื่อนย้าย ประกอบ และทดสอบชุดอวกาศนอกยาน รวมถึงทำกิจกรรมนอกยาน 2 ครั้ง ซึ่งครอบคลุมการประกอบกล่องเครื่องมือนอกยาน การยกกล้องพาโนรามา และการติดตั้งชุดปั๊มแบบขยาย โดยชุดอวกาศนอกยาน 2 ชุด ถูกปรับปรุงให้สามารถปฏิบัติงานอันซับซ้อนและใช้ระยะเวลานานยิ่งขึ้นราว 7-8 ชั่วโมง
ประการที่สาม พวกเขาจะดำเนินการทดลองทางวิทยาศาสตร์และการทดลองทางเทคโนโลยีในอวกาศ รวมถึงกิจกรรมการสื่อสารกับสาธารณชนบนพื้นโลก
ประการที่สี่ พวกเขาจะจัดการดูแลสุขภาพของตนเองผ่านการดูแลชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย และการติดตามและประเมินสถานะสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
จีนส่งโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนเหอขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา และส่งยานบรรทุกสัมภาระเทียนโจว-2 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม โดยทั้งสองส่วนดำเนินการนัดพบและเชื่อมต่อผ่านการควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม และรอปฏิบัติการครั้งแรกของทีมนักบินอวกาศในการเปิดกล่องสัมภาระที่บรรทุกขึ้นไป
สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน (CAST) รายงานว่า มีบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กใหญ่กว่า 160 ชิ้น รวมถึงเสบียงสำหรับนักบินอวกาศและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์อวกาศ ถูกส่งขึ้นไปโดยเทียนโจว-2 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม
CMSA ระบุว่า ยานขนส่งสัมภาระเทียนโจว-3 และยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม เสินโจว-13 จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศภายในปีนี้ เพื่อเชื่อมต่อกับเทียนเหอ พร้อมนักบินอวกาศอีก 3 คน ที่จะอยู่ในวงโคจรเป็นเวลานานถึง 6 เดือน
อนึ่ง จีนวางแผนจะดำเนินภารกิจเพิ่มอีก 6 รายการ ซึ่งรวมถึงการส่งโมดูลห้องปฏิบัติการเวิ่นเทียน (Wentian) และเมิ่งเทียน (Mengtian) ยานขนส่งสัมภาระ 2 ลำ และยานอวกาศแบบมีมนุษย์ควบคุม 2 ลำ ในปี 2022 เพื่อก่อสร้างสถานีอวกาศให้แล้วเสร็จ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว