×
SCB Omnibus Fund 2024

จีนเผยผลสำรวจระเบียบการค้าโลก พบเกือบ 80% เห็นว่าไม่เป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้ปฏิรูปและปรับปรุงระเบียบโลกใหม่

29.12.2022
  • LOADING...

โพลจากจีนเผยเกือบ 80% ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าระเบียบการค้าโลกปัจจุบันไม่เป็นธรรม ส่วนอีก 54% ชี้กระแสโลกาภิวัตน์ของตะวันตกกำลังก่อปัญหา พร้อมเรียกร้องให้ปฏิรูปและปรับปรุงระเบียบโลกใหม่

 

เว็บไซต์ข่าว Global Times ของทางการจีนได้เปิดเผยผลส่วนที่ 2 ของการสำรวจประจำปี ซึ่งครอบคลุมผู้เข้าร่วมจาก 33 ประเทศทั่วโลก เมื่อวันพุธที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเกือบ 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นตรงกันว่าระเบียบการค้าโลกในปัจจุบันยังคงขาดความเป็นธรรมอยู่มาก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


การสำรวจแสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ทั่วโลกพบว่า ‘ระเบียบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันไม่ยุติธรรม’ (78%) และ ‘โลกาภิวัตน์ที่ตะวันตกริเริ่มก่อให้เกิดปัญหามากมาย’ ( 54%) โดยโลกกำลังเรียกร้องการปฏิรูปและปรับปรุงระเบียบโลกและโลกาภิวัตน์ และ 47% ของผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั่วโลกเชื่อว่า ‘ตรรกะหลักที่อยู่เบื้องหลัง ‘ระเบียบระหว่างประเทศตามกฎ’ ที่กล่าวถึงโดยฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน’ แท้จริงแล้วเป็นคำสั่งที่รับใช้ความเป็นเจ้าโลกของสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ ผลโพลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่จากประเทศตะวันตกไม่พอใจกับการพัฒนาในปัจจุบันของประเทศของตน ในขณะที่ผู้มาจากจีนและประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกหรือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวนมาก มีความพึงพอใจและมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคตของตนมากขึ้น และผู้เข้าร่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มาจากประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก เชื่อว่าจีนสามารถเป็นแบบอย่างในการพัฒนาและสามารถมีบทบาทเป็นผู้นำเพื่อชี้นำการพัฒนาทั่วโลกได้

 

สำหรับแบบสำรวจที่จัดทำโดย Global Times Research Center  ซึ่งเผยแพร่เป็นประจำทุกปี ได้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 6 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยแบบสำรวจซึ่งรวมคำถาม 30 ข้อที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ความมั่นคงทั่วโลก และการพัฒนา มีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 36,000 คนจาก 33 ประเทศ รวมถึงจีน, สหรัฐฯ, รัสเซีย, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ซาอุดีอาระเบีย, ตุรกี, อียิปต์, ไนจีเรีย, เคนยา, ปากีสถาน, อินเดีย, บราซิล, อาร์เจนตินา, เม็กซิโก, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้

 

การสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมประมาณ 30% พอใจกับการพัฒนาประเทศของตนในปัจจุบัน ในขณะที่มากกว่า 40% ไม่พอใจ และส่วนที่เหลือมีทัศนคติที่เป็นกลาง ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มาจากประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก ได้แก่ จีน (72%), ซาอุดีอาระเบีย (75%), สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (69%), สิงคโปร์ (67%), เวียดนาม (57%) และอินเดีย (58%) มีความพึงพอใจ ขณะที่ผู้เข้าร่วมจากประเทศในยุโรป รวมทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่พอใจ

 

นักวิเคราะห์มองว่าการสำรวจครั้งนี้สามารถสะท้อนให้เห็นปัจจัยได้หลายอย่าง เช่น วิธีคิดของผู้คนเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ เป็นตัวบ่งชี้ที่สะท้อนถึงวิธีการปกครองโดยรวมของประเทศ 

 

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า จากการสำรวจครั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าครึ่งจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน มีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์การพัฒนาของประเทศตน โดยมุมมองในแง่ร้ายจากสาธารณชนในหมู่ประเทศตะวันตกทุนนิยมเก่าที่มีต่อประเทศของตนมาจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากนโยบายและกลยุทธ์ทางการเงินของสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มต่างๆ 

 

Gao Lingyun ผู้เชี่ยวชาญจาก Chinese Academy of Social Sciences ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า นโยบายทางการเงินที่ขาดความรับผิดชอบและเห็นแก่ตัวของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก และในขณะเดียวกันรัฐบาลกรุงวอชิงตันยังคงโหมกระพือความตึงเครียดและความขัดแย้งในยุโรปและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อหันเหเงินทุนจากทั่วโลกให้ไหลเข้าสู่สหรัฐฯ ยุโรปยังรู้สึกช็อกอย่างมากจากค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นหลังวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

 

Gao ยังชี้ว่า ตามทิศทางแนวโน้มของ ‘ตะวันออกกำลังรุ่งและตะวันตกกำลังถดถอย’ (The East is rising and the West is declining) การพัฒนาของจีนกำลังนำพาโอกาสที่ยิ่งใหญ่มาสู่โลก ดังนั้นประเทศในเอเชียที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างใกล้ชิดกับจีนจะตั้งใจเชื่อว่าพวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของตนได้ผ่านการร่วมมือกับจีน ตลอดจนสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืน ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนโดยจีนในภูมิภาคของตน 

 

Gao กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากกฎหมายเศรษฐกิจแล้ว การเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาเริ่มชะลอตัวลง แต่ผลกำไรจากการลงทุนในประเทศเอเชีย เช่น จีน ยังคงสูง ซึ่งหมายความว่าโอกาสสำหรับประเทศในเอเชียนั้นสูงกว่าประเทศจากทวีปอื่นๆ มาก เป็นแหล่งความเชื่อมั่นที่สำคัญของสาธารณชนในเอเชีย

 

เมื่อถูกถามว่าใครมีบทบาทเชิงบวกและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาระดับโลกในการสำรวจ ผู้เข้าร่วม 43% เลือกสหรัฐฯ, 38% เลือกจีน ตามด้วยเยอรมนี 27% และญี่ปุ่น 26%

 

ในประเทศแถบแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ (55%), เคนยา (64%) และไนจีเรีย (57%) รวมถึงประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก เช่น จีน (84%), รัสเซีย (67%), คาซัคสถาน (52%), ปากีสถาน (74%) และอินโดนีเซีย (53%) โดยผู้เข้าร่วมมากกว่า 50% มองว่าจีนไม่ใช่สหรัฐฯ อีกทั้งจีนกำลังมีบทบาทเชิงบวกและมีความสำคัญมากขึ้นในการส่งเสริมการพัฒนาทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ว่า ‘ตะวันออกกำลังรุ่งและตะวันตกกำลังถดถอย’ เป็นแนวโน้ม แต่ ‘ตะวันตกยังคงพัฒนามากกว่าตะวันออก’ เป็นข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงสมเหตุสมผลที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นทั่วโลกจะรับรู้โดยตรงถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

 

ด้าน Zhang Shengjun ศาสตราจารย์แห่ง School of Government, Beijing Normal University กล่าวว่า ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นสองประเทศหลักที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจโลกมากที่สุด แต่ควรสรุปให้ถูกต้องกว่านี้ จีนมีส่วนร่วมอย่างมากต่อเสถียรภาพของโลกและการพัฒนาเศรษฐกิจในขณะที่โลกกำลังปั่นป่วน

 

ขณะเดียวกัน Zhang กล่าวว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์มีเปอร์เซ็นต์เชื่อว่าสหรัฐฯ มีบทบาทเชิงบวกมากขึ้นในการพัฒนาโลกสูงขึ้น เป็นเพราะความประทับใจ ‘เชิงบวก’ ที่มีต่อสื่อและรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พยายามจะเสริมสวยหล่อหลอมภาพลักษณ์ที่สวยงามของบทบาทสหรัฐฯ ในวิกฤตยูเครน และการโฆษณาชวนเชื่อที่ตีตราภาพลักษณ์เชิงลบต่อจีน 

 

กระนั้นผู้เชี่ยวชาญมองว่าภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวยังมีผู้คนเกือบ 40% ที่เห็นว่าจีนมีบทบาทเชิงบวกและมีความสำคัญต่อการพัฒนาโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่จีนเสนอ ตลอดจนพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบของจีน และการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมในเวทีระหว่างประเทศ ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างความประทับใจในเชิงบวกที่หยั่งรากลึกให้กับผู้คนจำนวนมากทั่วโลก 

 

นอกจากนี้ เมื่อถามว่า “หากต้องการผู้นำในการพัฒนาระดับโลก คุณอยากให้ผู้นำประเทศใดเป็นผู้นำ” เมื่อตอบคำถามในแบบสำรวจ 5 ประเทศต่อไปนี้ได้รับการโหวตมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ (33%), จีน (23%), ญี่ปุ่น (20%), สหราชอาณาจักร (20%) และเยอรมนี (20%) ในขณะที่บางคนก็เลือกฝรั่งเศสและรัสเซีย

 

คนส่วนใหญ่ที่เลือกจีนมาจากรัสเซีย คาซัคสถาน เซอร์เบีย และปากีสถาน รวมถึงอีกหลายประเทศในแอฟริกา เช่น อียิปต์, ไนจีเรีย, เคนยา และแอฟริกาใต้ ตลอดจนผู้ตอบแบบสอบถามจากจีนแผ่นดินใหญ่เอง 

 

Wang Yiwei ผู้อำนวยการสถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีน กล่าวว่า หลายประเทศฝากความหวังไว้กับจีนในการพัฒนา ประสบการณ์ด้านการพัฒนาของจีนไม่เพียงเป็นประโยชน์สำหรับประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ยังเสนอทางออกสำหรับประเทศเหล่านั้นที่ต้องการการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นอิสระในการต่อต้านการแทรกแซงจากความเป็นเจ้าโลกของสหรัฐฯ และความเป็นตะวันตกที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงและความไม่สงบภายใน 

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า กลยุทธ์หลักของจีนในขั้นตอนนี้คือการพัฒนาตัวเองและสร้างโอกาสในการพัฒนาสำหรับประเทศอื่นๆ เพื่อแบ่งปันเงินที่ได้รับจากการปรับปรุงให้ทันสมัยของจีนเอง และจีนไม่เคยปรารถนาที่จะเป็นเจ้าโลกที่โดดเด่นเช่นสหรัฐฯ เพื่อกำหนดอิทธิพลทางโลกต่อผู้อื่น หรือแม้กระทั่งแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นด้วยการปฏิวัติและการแทรกแซงทางทหาร

 

สำหรับข้อซักถามที่ว่า “คุณคิดว่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งหรือเริ่มสงครามในจุดไหนในอีก 5 ปีข้างหน้า” คนส่วนใหญ่เลือกตะวันออกกลาง (24%), ยุโรปกลางและตะวันออก (21%) และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (15%)

 

Song Zhongping ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของจีน กล่าวว่า ความขัดแย้งทางทหารเกิดขึ้นในภูมิภาคที่ดุลแห่งอำนาจถูกทำลายลง และจากนั้นมหาอำนาจภายนอกก็มีโอกาสที่จะเข้ามาแทรกแซง ในขณะที่สันติภาพในภูมิภาคจะเกิดขึ้นหลังจากมีดุลแห่งอำนาจระหว่างประเทศในภูมิภาค พร้อมอธิบายว่า เมื่อดุลอำนาจระหว่างกลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกกับรัสเซียพังทลายลง สหรัฐฯ และ NATO ก็สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ ซึ่งท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเผชิญหน้าในระดับภูมิภาค

 

Song กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ผู้คนคิดว่าสงครามและความวุ่นวายไม่น่าจะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนั้นเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของจีนในฐานะมหาอำนาจในภูมิภาค ดังนั้นในฐานะกำลังสำคัญในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ยิ่งจีนแข็งแกร่งมากเท่าใด ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกก็จะยิ่งมีความสงบสุขมากขึ้นเท่านั้น

 

ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ยังคงปรับปรุงขีดความสามารถทางทหาร เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศและกฎของเกมที่ตัวเองครอบงำ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในภูมิภาคอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ ผนึกกับพันธมิตรมากขึ้น เพื่อเผชิญหน้ากับประเทศใดประเทศหนึ่ง

 

ในมุมมองของ Song จีนต้องเสริมสร้างความสามารถที่ครอบคลุมของตนเอง ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงผลักดันพันธมิตรของตนเพื่อต่อต้านจีน และกล่าวว่าการบรรลุสมดุลแห่งพลังพลวัตเท่านั้นที่จะทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกสามารถอยู่ในสภาพที่มั่นคงได้ พร้อมเตือนว่า เมื่อใดก็ตามที่สมดุลถูกทำลายลง ความเป็นไปได้ของความขัดแย้งทางทหารในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

วันเดียวกันมีรายงานว่าบริษัทจีนรายใหญ่ที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึง Pinduoduo และ Full Truck Alliance ได้หารือเกี่ยวกับการระงับการจดทะเบียนในฮ่องกงที่อาจเกิดขึ้น หลังหน่วยงานตรวจสอบบัญชีของสหรัฐฯ ระบุว่าบริษัทสามารถเข้าถึงการตรวจสอบและสอบสวนบริษัทในจีนได้อย่างเต็มที่เป็นครั้งแรก ซึ่งช่วยขจัดความเสี่ยงที่บริษัทจีนราว 200 แห่งอาจถูกขับออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างประเทศสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก

 

รายงานระบุว่า ในขณะที่บริษัทอีคอมเมิร์ซของจีนได้หยุดการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการเข้าจดทะเบียนในฮ่องกงชั่วคราว บริษัทขนส่งสินค้าอย่าง Full Truck Alliance ได้ล้มเลิกแผนการระยะยาว

 

ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทต่างๆ เช่น Alibaba Group Holding และ JD.com ได้ย้ายไปจดทะเบียนในฮ่องกง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจถูกเพิกถอนในสหรัฐฯ เนื่องจากข้อพิพาททางการเมืองกับจีน แต่มาตรการล่าสุดในการเข้าถึงข้อมูลของทางการสหรัฐฯ ทำให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนต้องคิดทบทวนอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ทาง Pinduoduo และ Full Truck Alliance ยังไม่มีการออกมาแสดงความเห็นใดๆ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising