บรรดานักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักออกโรงเตือนจีนว่าอาจเสี่ยงเผชิญกับการเติบโตติดลบ เนื่องจากมาตรการ Zero-COVID ที่ทำให้เมืองหลายแห่งทั่วประเทศจีนต้องล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดเพื่อสกัดกั้นการระบาดของไวรัสโควิด ทำให้โรงงานผลิตหลายแห่ง รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำระหว่างประเทศต้องปิดตัวลง
โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหลักในการวัดสุขภาพของภาคการผลิต ลดลงเหลือ 49.5% ในเดือนมีนาคม และลดลงแตะ 47.4% ในเดือนเมษายน โดยค่าที่อ่านได้ต่ำกว่า 50 หมายถึงภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ในเซี่ยงไฮ้ เมืองที่มีประชากรมากที่สุด ยอดค้าปลีกในไตรมาสแรกลดลง 3.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
Shehzad Qazi กรรมการผู้จัดการของ China Beige Book ซึ่งสำรวจธุรกิจราว 1,000 แห่งในจีนในแต่ละไตรมาส กล่าวกับ Al Jazeera ว่าสิ่งที่เห็นในจีนตอนนี้คือตัวเลขที่แย่ที่สุดที่เคยเห็นมาในแง่ของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การตกต่ำครั้งแรกในปี 2020
ขณะเดียวกัน Qazi ระบุว่า ไม่มีสิ่งใดที่เป็นลางดีสำหรับเป้าหมายการเติบโตของ GDP จีนในปีนี้ที่ 5.5% เพราะมาตรการ Zero-COVID ทำให้เครื่องมือทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม เช่น มาตรการกระตุ้นทางการเงิน ส่วนใหญ่ไม่ได้ผล
ขณะที่ Gary Ng นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Natixis ธนาคารเพื่อการลงทุนและองค์กรของฝรั่งเศส กล่าวว่า แม้จะไม่มีภาวะถดถอยอย่างเต็มรูปแบบ แต่การล็อกดาวน์อาจสร้างการเติบโตที่ไม่สม่ำเสมอระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ของจีน ตลอดจนอุตสาหกรรมต่างๆ
ส่วน Tommy Wu หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Oxford Economics ในฮ่องกง กล่าวว่า Zero-COVID กระทบต่อการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานอย่างชัดเจน เห็นได้จากข้อมูลความเคลื่อนไหวของรถบรรทุกที่อยู่ที่ประมาณ 30% จากระดับปกติ
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเห็นตรงกันว่า รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ไม่น่าจะล้มเลิกมาตรการ Zero-COVID ง่ายๆ และอาจจะยอมแลกบางอย่างเพื่อประคองให้เศรษฐกิจจีนอยู่รอด เพียงแต่ไม่ได้เติบโตตามเป้าที่ตั้งไว้
ด้าน Tesla ในจีน เปิดเผยว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทในเดือนเมษายนที่ผ่านมาลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 98% โดยเป็นผลพวงจากมาตรการล็อกดาวน์
ข้อมูลจากสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของจีนระบุว่า เมื่อเดือนที่แล้ว Tesla สามารถขายรถยนต์ EV ได้เพียง 1,512 คันในจีนแผ่นดินใหญ่ ลดลงถึง 98% จากเดือนมีนาคม ขณะที่การผลิตของ Tesla ในจีนก็ลดลง 81% เป็น 10,757 คันในเดือนเมษายน เทียบกับ 55,462 ในเดือนมีนาคม
นอกจากนี้ Tesla ไม่ได้ส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในเซี่ยงไฮ้ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่ส่งออกไป 60 คัน
ยอดขายที่ลดลงในครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเมืองอย่างน้อย 31 แห่งอย่างเข้มงวด จนทำให้เกิดภาวะหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทาน และกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
อ้างอิง: