×

จีนย้ำ ‘เอกราชของไต้หวัน’ เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ

โดย THE STANDARD TEAM
28.01.2024
  • LOADING...
หวังอี้

หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เน้นย้ำกับสหรัฐอเมริกาว่า ‘เอกราชของไต้หวัน’ ถือเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงที่สุดต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ 

 

คำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนมีขึ้นในระหว่างการประชุมหารือร่วมกับ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 มกราคม) ซึ่งเกิดขึ้นราว 2 เดือนหลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน พบกันนอกรอบการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ซานฟรานซิสโกเมื่อเดือนพฤศจิกายน

 

“ทั้งสองมีการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ที่ตรงไปตรงมา มีสาระสำคัญ และเกิดผล ทั้งการดำเนินการเพื่อบรรลุฉันทมติในการประชุมที่ซานฟรานซิสโก และการจัดการความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ในประเด็นที่สำคัญและละเอียดอ่อนได้อย่างเหมาะสม” กระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุในแถลงการณ์

 

ด้านทำเนียบขาวแถลงว่า การประชุมระหว่างหวังและซัลลิแวนเป็น “ส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง” ระหว่างทั้งสองประเทศ พร้อมกับเสริมว่า “ซัลลิแวนเน้นย้ำว่า แม้สหรัฐฯ และจีนจะแข่งขันกัน แต่ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์หันเหเข้าสู่ความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้ากัน”

 

 

  • ย้ำ “ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน”

 

หวังเน้นย้ำในระหว่างการประชุมร่วมกับซัลลิแวนว่า ไต้หวันเป็น “กิจการภายในของจีน และการเลือกตั้ง ‘ระดับภูมิภาค’ ในไต้หวันไม่สามารถเปลี่ยนความเป็นจริงพื้นฐานที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน” กระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุ

 

“ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดต่อสันติภาพและเสถียรภาพข้ามช่องแคบไต้หวันคือสิ่งที่เรียกว่าขบวนการ ‘ประกาศเอกราชของไต้หวัน’ และความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ก็คือขบวนการ ‘ประกาศเอกราชของไต้หวัน’ เช่นกัน” กระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุเพิ่มเติมในแถลงการณ์

 

ด้านทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ซัลลิแวน “เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพข้ามช่องแคบไต้หวัน” แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

 

ที่ผ่านมาไต้หวันมองตนเองว่ามีอธิปไตย ถึงแม้ไม่เคยประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการก็ตาม ขณะที่ไล่ชิงเต๋อ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน เคยหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งว่า ไต้หวันจะรักษาสถานภาพที่เป็นอยู่บนช่องแคบไต้หวัน (Status Quo) และเคยกล่าวไว้ว่าไต้หวันมีอิสระในการปกครองตนเอง ไม่จำเป็นต้องประกาศเอกราชหรือเปลี่ยนชื่อจากสาธารณรัฐจีนอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

 

ขณะที่สหรัฐฯ แม้ยอมรับในหลักการจีนเดียว แต่ก็มีกฎหมายที่เรียกว่า Taiwan Relations Act ซึ่งเปิดช่องให้สหรัฐฯ สามารถส่งกำลังปกป้องไต้หวันหากถูกรุกรานได้ และที่ผ่านมาสหรัฐฯ ก็มักดำเนินนโยบายที่ดูกำกวมและคลุมเครือในความสัมพันธ์กับจีนและไต้หวัน โดยด้านหนึ่งยอมรับว่ามีจีนเดียวในเวทีโลก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ปิดโอกาสที่จะส่งทหารเข้าปกป้องไต้หวัน

 

 

  • การทูตระดับสูง

 

นอกเหนือจากประเด็นข้ามช่องแคบไต้หวันแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังหารือในประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น สงครามรัสเซียกับยูเครน อิหร่านและตะวันออกกลาง เกาหลีเหนือ ทะเลจีนใต้ และเมียนมา จากการเปิดเผยของทำเนียบขาว

 

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศจะติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้คำชี้แนะเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคี และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในด้านและระดับต่างๆ

 

ทำเนียบขาวระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายจะจัดเตรียมการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีสีและประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทางการทูตระดับสูง

 

รวมทั้งจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านความร่วมมือต่อต้านยาเสพติด และริเริ่มการเจรจาระหว่างรัฐบาลในเรื่องปัญญาประดิษฐ์

 

ซัลลิแวนและหวัง “ยอมรับความคืบหน้าล่าสุดในการกลับมาติดต่อสื่อสารระหว่างกองทัพกับกองทัพ และรับทราบถึงความสำคัญของการรักษาช่องทางเหล่านี้” ทำเนียบขาวกล่าวเสริม

 

ภาพ: Tunisian Presidency / Handout / Anadolu via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X