ตลาดหุ้นทั่วเอเชียและราคาน้ำมันปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการใช้มาตรการคุมเข้มการระบาดของรัฐบาลจีนระลอกใหม่จะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
สื่อต่างประเทศหลายสำนัก รวมถึง CNN และ AP รายงานความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย เมื่อวันอังคารที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งปิดตลาดปรับตัวในแดนลบ โดยมีเหตุปัจจัยสำคัญมาจากการที่รัฐบาลจีนสั่งล็อกดาวน์หลายเมือง ซึ่งรวมถึงกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศ และกว่างโจว เมืองทางตอนใต้ของประเทศ หลังพบรายงานการระบาดระลอกใหม่ของโควิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สรุป 5 ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ จากสุนทรพจน์ ‘สีจิ้นผิง’ เปิดประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
- สีจิ้นผิง ขึ้นเวที G20 เรียกร้องประชาคมโลกจับมือฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
โดยดัชนี Hang Seng ร่วงลงหนักในการซื้อขายช่วงเช้าที่ 3.4% ก่อนปิดตลาดในช่วงบ่ายในแดนลบที่ 1.9% ขณะที่ดัชนี Shanghai Composite ลดลง 0.4%
ด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดฟิวเจอร์สลดลงเช่นกัน โดยน้ำมันดิบ WTI ของสหรัฐฯ ลดลง 0.4% และน้ำมันดิบ Brent ลดลง 0.6%
รายงานระบุว่า กรุงปักกิ่งได้ประกาศปิดสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ หนึ่งวันหลังจากที่ทางการเมืองกว่างโจว หนึ่งในเมืองใหญ่ที่สุดของจีนที่มีประชากรเกือบ 19 ล้านคน ประกาศปิดเมืองเป็นเวลา 5 วันในเขตไป่หยุน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยทางการแนะนำให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน พร้อมสั่งปิดโรงเรียน และระงับบริการขนส่งมวลชนทั้งหมด
ขณะที่เมืองอีกหลายแห่งของจีนได้เริ่มกลับมาใช้มาตรการปูพรมตรวจโควิดขนานใหญ่ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดรอบใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ จนสร้างความวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) แถลงว่า จีนพบผู้ติดโควิดรายใหม่ทั่วประเทศจำนวน 28,127 รายในวันจันทร์ที่ 21 พฤจิกายน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 27,095 รายในวันอาทิตย์ ขณะเดียวกันจีนพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 รายในวันจันทร์ ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 5,231 ราย ส่วนกว่างโจวพบผู้ป่วย 8,181 รายในวันอาทิตย์
นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าการระบาดครั้งล่าสุดอาจทำให้จีนผ่อนคลายจากนโยบาย Zero-COVID ที่ดำเนินมาเกือบ 3 ปีได้ยากขึ้น ทั้งๆ ที่เพิ่งจะส่งสัญญาณบวกด้วยการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายคาดหวังว่าจีนจะยุติการใช้นโยบาย Zero-COVID ซึ่งทำลายเศรษฐกิจ และแยกประเทศจีนออกจากส่วนอื่นๆ ของโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า ตลาดปรับตัวขึ้นหลังจากที่รัฐบาลจีนออกประกาศผ่อนคลาย โดยดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงเพิ่มขึ้นรวมกัน 14% แต่การล็อกดาวน์ครั้งใหม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดในวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน
Stephen Innes หุ้นส่วนผู้จัดการของ SPI Asset Management กล่าวว่า ตัวขับเคลื่อนหลักของโมเมนตัมด้านลบที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคือ ความไม่สบายใจที่เพิ่มขึ้นในการที่จีนจะไม่ผ่อนคลายนโยบายล็อกดาวน์ เนื่องจากพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ขณะที่นักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs กล่าวว่าข่าวล่าสุดเกี่ยวกับการจัดการโควิดของจีนนั้นทำให้นักลงทุน ‘สับสน’
Fawad Razaqzada จาก StoneX กล่าวว่า นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ลดลง อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนที่เคลื่อนที่น้อยลง ท่ามกลางความกลัวว่าจะมีการล็อกดาวน์ที่เกี่ยวข้องกับโควิดมากขึ้น
จีนถือเป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นตลาดชั้นนำสำหรับเพื่อนบ้านในเอเชีย ความอ่อนแอของอุปสงค์ของผู้บริโภคหรือโรงงานสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตน้ำมันและวัตถุดิบอื่นๆ ชิปคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบอุตสาหกรรมอื่นๆ อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลก ข้อจำกัดที่ขัดขวางกิจกรรมที่ท่าเรือของจีนสามารถขัดขวางการค้าโลกได้
การเติบโตทางเศรษฐกิจดีดตัวขึ้นเป็น 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในช่วง 3 เดือนสิ้นสุดในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นจาก 2.2% ในครึ่งแรกของปี แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เริ่มส่งสัญญาณถดถอย โดยการใช้จ่ายด้านการค้าปลีกหดตัว 0.5% ในเดือนตุลาคม โดยลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเมืองต่างๆ บังคับใช้การควบคุมการป้องกันโควิดอีกครั้ง ขณะที่การนำเข้าลดลง 0.3% เนื่องมาจากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ลดลง จากที่เพิ่งเพิ่มขึ้น 6.7% ในเดือนกันยายน
ส่วนการส่งออกของจีนหดตัว 0.7% ในเดือนตุลาคม หลังจากอุปสงค์ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ และยุโรปถูกกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากผิดปกติของ Fed และธนาคารกลางอื่นๆ เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2022/11/21/economy/guangzhou-china-renewed-lockdowns-guangzhou-markets-intl-hnk/index.html
- https://apnews.com/article/health-business-china-united-states-beijing-2819ae1a607f8e59007c143c35637324