ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น (Japan Center for Economic Research: JCER) เตือนว่า หากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีนแตกจนทำให้เกิดวิกฤตการเงิน การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะโตอยู่เพียงประมาณ 1% เท่านั้น และทำให้เป้าหมายขนาดเศรษฐกิจ (Nominal GDP) เป็น 2 เท่าภายในปี 2035 ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นไปได้ยากขึ้น
ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ธันวาคม) JCER ได้จำลองฉากทัศน์ต่างๆ โดยให้ภาวะฟองสบู่ด้านอสังหาริมทรัพย์แตก (A Real Estate Bubble Burst) เป็นหนึ่งในสถานการณ์ความเสี่ยงที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2027 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดของการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง
โดย JCER คาดว่าโครงสร้างพื้นฐานและภาคการลงทุนอื่นๆ มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการชำระหนี้คืน ทำให้เงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว และจะทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงจากอัตราปัจจุบันที่ราว 7.1 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ระดับ 9 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ
ภายใต้สถานการณ์นี้ อัตราการเติบโตที่แท้จริง (Real Growth Rate) ของจีนจะเป็นศูนย์ในปี 2027 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติที่การเติบโตจะอยู่ที่ 3.2% และหลังจากปี 2029 การเติบโตจะอยู่ที่ต่ำกว่า 1.5%
การชะลอตัวของจีนนั้นยังส่งผลต่อการเติบโตในประเทศอื่นๆ มีการค้าที่ซบเซาลง อัตราการเติบโตที่แท้จริงของ 17 ประเทศและภูมิภาคนอกจีนในปี 2027 จะต่ำกว่าสถานการณ์ปกติประมาณ 0.7-0.9%
ทั้งนี้ สีจิ้นผิงตั้งเป้าว่า ภายในปี 2035 จะเพิ่ม Nominal GDP ของจีนเป็น 2 เท่า และเพิ่ม GDP ต่อหัวให้อยู่ในระดับประเทศที่พัฒนาแล้วในระดับปานกลาง (Moderately Developed Countries) ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 20,000-30,000 ดอลลาร์
ในรายงานประมาณการว่า ในกรณีของวิกฤตการณ์ทางการเงินขนาดใหญ่ Nominal GDP ของจีนในรูปสกุลเงินหยวนในปี 2035 จะอยู่ที่ 1.9 เท่าของปี 2020 เท่านั้น (ไม่ถึง 2 เท่า) โดยรายได้ต่อหัว (Per Capita GDP) จะสูงกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
โดยแม้แต่ในสถานการณ์ปกติ ซึ่งไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตที่แท้จริงของจีนก็จะยังคงชะลอตัวลงต่อไป โดยลดลงต่ำกว่า 3% ในปี 2029 และต่ำกว่า 2% ในปี 2035
อ้างอิง: