×

ประท้วงโควิดจีน เสียงสะท้อนคนรุ่นใหม่บางกลุ่มที่อยากได้สิทธิเสรีภาพพื้นฐาน

02.12.2022
  • LOADING...
ประท้วงโควิดจีน

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวจีนหลายพันคนได้รวมตัวกันประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศ เพื่อแสดงความไม่พอใจภาครัฐที่ใช้นโยบายสกัดโควิดที่เข้มงวดตลอดช่วง 3 ปีเต็ม ในขณะที่ชาติอื่นๆ ทั่วโลกได้ปรับมาใช้นโยบายการอยู่ร่วมกับโรคระบาดกันนานแล้ว 

 

แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ เสียงที่ดังกระหึ่มในการประท้วงระลอกนี้ หลักๆ แล้วเป็นเสียงของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นโจทย์อันท้าทายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและตัวประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เพราะภาพที่เกิดขึ้นนี้แทบไม่เคยปรากฏให้เห็นในสังคมจีน ซึ่งปกครองในลักษณะของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

 

ผู้สื่อข่าวของ BBC และ CNN ได้ร่วมลงถนนไปกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมสัมภาษณ์ความคิดเห็นที่น่าสนใจจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น THE STANDARD ถอดความและนำมาถ่ายทอดให้ได้อ่านกัน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึง ‘เสียงที่เปลี่ยนไปแล้ว’ ในกลุ่มคนบางรุ่นในจีน

  • คนรุ่นใหม่ไม่ยอมจำนน

ย้อนกลับไปเมื่อวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน ภาพที่เกิดขึ้นในนครเซี่ยงไฮ้นั้น ในช่วงแรกผู้คนออกมารวมตัวกันอย่างสงบ เพื่อไว้อาลัยให้กับเหยื่อจากเหตุไฟไหม้ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในเมืองอุรุมชีในซินเจียง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า มาตรการล็อกดาวน์ทำให้ประชาชนไม่กล้าออกจากที่พัก รวมถึงยังอาจสร้างข้อจำกัดในการเข้าดับไฟของเจ้าหน้าที่และหน่วยกู้ภัย จนทำให้เกิดเหตุสลด สร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนในพื้นที่อย่างมาก

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นจึงเป็นภาพของชาวจีนที่กำลังเศร้าโศกเสียใจกันอย่างเงียบๆ บ้างก็ชูกระดาษเปล่าเพื่อแสดงออกถึงการประท้วง และวางดอกไม้ให้กับผู้วายชนม์ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่วางกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา

 

แต่ในท้ายที่สุด ก็มีเสียงตะโกนทำลายความเงียบขึ้นมาว่า “เสรีภาพ! เราต้องการเสรีภาพ! เลิกล็อกดาวน์ได้แล้ว!”

 

ยิ่งราตรีคืบคลานมากเท่าไร ถนนในนครเซี่ยงไฮ้ก็ยิ่งคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนที่หนาแน่นมากขึ้นเท่านั้น และในช่วงกลางดึก ที่สุดฝูงชนก็เริ่มตะโกนโห่ร้องว่า “สีจิ้นผิง ลงจากตำแหน่ง! สีจิ้นผิง ลงจากตำแหน่ง!”

 

เวลาล่วงเลยมาสู่ช่วงเย็นของวันที่ 27 พฤศจิกายน การประท้วงก็เริ่มเข้มข้นมากขึ้น ผู้ประท้วงเบียดปะทะเข้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พยายามจะเข้าสลายการชุมนุม ผู้ประท้วงรายหนึ่งกล่าวว่า “เราต้องการแค่สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เราไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้หากไม่ตรวจหาเชื้อ และอุบัติเหตุในซินเจียงก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้จีนมาถึงจุดนี้” 

 

ขณะผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกตัวให้ประชาชนหลายสิบคนขึ้นรถบัส ก่อนที่จะขับออกไป

 

ผู้ประท้วงรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “ผมมาที่นี่เพราะผมรักประเทศ แต่ผมไม่ได้รักรัฐบาล…ผมต้องการที่จะใช้ชีวิตอย่างอิสระ แต่ผมก็ทำไม่ได้ นโยบายโควิดของเราเป็นเกม มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักวิทยาศาสตร์หรือความเป็นจริงเลย”

 

หนึ่งในผู้ประท้วงเป็นชายอายุราว 20 ต้นๆ กล่าวว่า เขาตัดสินใจออกมาลงถนน หลังเสียงผู้ชุมนุมที่ตะโกนออกมานั้นดังไปถึงห้องของเขา

 

ชายผู้นี้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า “ผมเห็นหลายคนมากๆ ที่แสดงความรู้สึกโกรธแค้นบนโลกออนไลน์ แต่ผมไม่เคยเห็นใครลงถนนประท้วงแบบนี้มาก่อน” พร้อมกล่าวว่า สำหรับตัวเขาแล้ว นี่ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับสังคมจีน “ผมเห็นผู้คนมากมาย ตำรวจ นักเรียน คนแก่ ชาวต่างชาติ พวกเขามีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ในที่สุดพวกเขาก็สามารถเปล่งเสียงของตัวเอง

 

“การชุมนุมครั้งนี้มีความหมาย ผมรู้สึกว่านี่จะเป็นความทรงจำที่มีค่ามากสำหรับผม”

 

หลายคนคงรู้สึกไม่ต่างกันว่า โควิดได้พรากเวลาอันมีค่าจากชีวิตของพวกเราไปถึง 3 ปีเต็ม หลายครอบครัวขาดรายได้ ญาติพี่น้องไม่ได้พบปะหน้า ขณะที่คุณภาพชีวิตก็ลดน้อยถอยลง เด็กหลายคนขาดโอกาสทางการศึกษา หลายคนไม่สามารถออกเดินทางได้อย่างใจฝัน

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวจีน ซึ่งอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดแบบสุดขีด หลายพื้นที่ของประเทศถูกล็อกดาวน์นานหลายเดือนหลายต่อหลายครั้ง สิ่งที่กัดกินใจของพวกเขาคือความรู้สึกโกรธ เศร้า และหมดหวัง

  • นักศึกษารวมตัวประท้วง

นอกจากนครเซี่ยงไฮ้แล้ว ยังมีอีกหลายเมืองที่ผู้คนพร้อมใจออกมาแสดงความไม่พอใจที่อัดอั้นมานาน หนึ่งในภาพที่เด่นชัด คือการรวมตัวประท้วงของเหล่านักศึกษาจากหลายๆ มหาวิทยาลัย รวมถึงสถาบันดังอย่างมหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่งที่ซึ่งสีจิ้นผิงเคยร่ำเรียนมา

 

นักศึกษากลุ่มนี้ตัดสินใจออกมาร่วมประท้วง หลังจากโพสต์ที่ปรากฏทางโลกออนไลน์เผยให้เห็นคนจำนวนมากในหลายเมืองทั่วประเทศพร้อมใจกันออกมาแสดงพลังของตนเอง

 

วิดีโอที่กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ เผยให้เห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังพูดใส่เครื่องขยายเสียงทั้งน้ำตาด้วยเสียงที่สั่นเครือ แต่ฝูงชนก็พยายามโอบอุ้มเธอไว้ด้วยถ้อยคำที่ให้กำลังใจว่า “อย่ากลัว! จงพูดต่อไป!”

 

เธอกล่าวด้วยความเข้มแข็งว่า “หากพวกเราไม่ยอมพูด เพราะกลัวว่าจะเสียชื่อเสียง ฉันคิดว่าชาวจีนคงจะผิดหวังในตัวเราอย่างมาก ในฐานะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยชิงหัว ฉันคงต้องเสียใจไปตลอดชีวิต”

 

อย่างไรก็ตาม ในภายหลังมีรายงานว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ส่งตัวให้นักศึกษากลับบ้าน รวมถึงจัดการเรียนการสอนและการสอบในรูปแบบออนไลน์ เพราะเกรงว่าจะมีการประท้วงในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

 

  • คนรุ่นเก่ามองอย่างไร

สำหรับคนที่มีอายุมากสักหน่อย การที่ชาวจีนออกมาเดินขบวนประท้วงเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เห็นมาเนิ่นนานหลายทศวรรษ กระตุ้นเตือนความทรงจำให้นึกย้อนไปถึงเหตุประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ซึ่งนำโดยคณะนักศึกษาที่เรียกร้องให้จีนมีเสรีภาพมากขึ้น

 

แต่บางคนก็กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย ว่าการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินนั้นท้ายที่สุดแล้วจบลงอย่างไร

 

หวังย่าฉิว นักวิจัยชาวจีนจากองค์กร Human Rights Watch กล่าวว่า “ความเชื่อในอุดมคติของคนรุ่นใหม่ บวกกับความกล้าหาญเนื่องจากไม่เคยมีความทรงจำที่เจ็บปวดมาก่อน ทำให้คนหนุ่มสาวตัดสินใจลงถนนและเรียกร้องสิทธิของพวกเขา”

 

เวนตี ซัง นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า เขารู้สึกประหลาดใจกับ ‘ความหลักแหลมเชิงกลยุทธ์’ ของเด็กๆ กลุ่มนี้ เพราะผู้ประท้วงที่เป็นคนรุ่นใหม่นั้นเป็น ‘กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดีที่สุดเท่าที่จีนเคยมีมา

 

“พวกเขารู้ดีกว่าเส้นตายอยู่ตรงไหน แต่พวกเขาพยายามดันเพดานโดยไม่ใช้วิธีการที่นำไปสู่จุดแตกหัก”

 

แม้การประท้วงในเซี่ยงไฮ้จะมีเสียงเรียกร้องให้สีจิ้นผิงลงจากตำแหน่ง แต่ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศนั้น ผู้ประท้วงได้พยายามไม่สร้างข้อเรียกร้องที่มีนัยทางการเมืองมากเกินไป

 

ขณะเดียวกัน ‘กระดาษเปล่า’ กลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางการเรียกร้องที่สำคัญ เมื่อได้รับคำสั่งจากตำรวจให้ยุติการเรียกร้องการยกเลิกนโยบายโควิด ผู้ประท้วงก็จะตอบโต้อย่างประชดประชัน โดยเรียกร้องให้มีการตรวจเชื้อเพิ่มเติมและออกข้อจำกัดมากขึ้น ซึ่งในจุดนี้ ซังกล่าวว่า “ลองดูว่าพวกเขาพยายามปกปิดหลักฐานทั้งหมดอย่างระมัดระวังเพียงใด เพื่อลดข้อกล่าวหาที่รัฐบาลจีนจะสามารถเล่นงานพวกเขาได้” 

 

ผู้ประท้วงรายหนึ่งในกรุงปักกิ่งเปิดเผยกับสำนักข่าว CNN ว่า “ไม่มีใครควรถูกดำเนินคดีเพียงเพราะคำพูด สังคมเราไม่ควรมีเสียงแค่เพียงหนึ่งเสียง เราต้องการรับฟังเสียงที่หลากหลาย

 

“ผมหวังว่าในอนาคต ผมจะไม่ต้องถือกระดาษเปล่าเพื่อสื่อสารในสิ่งที่ผมอยากจะพูดออกไป”

 

ภาพ: HECTOR RETAMAL / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising