×

รัฐบาลจีนคลอดระเบียบใหม่ มุ่งกำกับดูแล Private Equity Funds หวังดึงมือเอกชนสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

10.07.2023
  • LOADING...
Private Equity Funds

เว็บไซต์ Global Times รายงานเมื่อวันอาทิตย์ (9 กรกฎาคม) ว่าทางการจีนได้ประกาศลงในกฤษฎีกาของสภาแห่งรัฐเกี่ยวกับกฎระเบียบกำกับดูแลและการบริหารกองทุนหุ้นเอกชน ซึ่งเป็นกฎระเบียบการบริหารประเภทแรกของจีน โดยมีข้อบังคับทั้งหมด 7 บท รวม 62 ประการ ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป

   

เจ้าหน้าที่ผู้เป็นตัวแทนของกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์ของจีน (Ministry of Justice and China Securities Regulatory Commission: CSRC) กล่าวว่า การบังคับใช้กฎดังกล่าวจะเอื้อต่อการปรับปรุงระบบการกำกับดูแลของกองทุนหุ้นเอกชน และส่งเสริมการพัฒนาที่ดีของอุตสาหกรรมโดยรวม รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคส่วนกองทุนหุ้นเอกชนดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการให้บริการเศรษฐกิจกายภาพ และส่งเสริมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ทั้งนี้ กองทุนหุ้นเอกชน หรือ Private Equity Funds เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้นนอกตลาด หรือหุ้นของบริษัทที่ยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ลงทุนคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาว

 

แถลงการณ์เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ CSRC ระบุว่า การพัฒนาที่ดีของอุตสาหกรรมกองทุนรวมเพื่อการลงทุนภาคเอกชนจะส่งเสริมการก่อตัวของทุนตราสารทุนให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพต่อเศรษฐกิจทางกายภาพ (Physical Economy) สาขาเศรษฐกิจหลัก และอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ ภาคการลงทุนจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และการจ้างงาน

 

ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกองทุนรวมเพื่อการลงทุนส่วนบุคคลของจีนได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม 2023 มีผู้จัดการกองทุน Private Equity 22,000 รายแล้วที่ลงทะเบียนในสมาคมบริหารสินทรัพย์แห่งประเทศจีน (AMAC) ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนภายใต้การจัดการ 153,000 กองทุน รวมมูลค่า 21 ล้านล้านหยวน (2.9 ล้านล้านดอลลาร์)

 

เจ้าหน้าที่ของ CSRC ย้ำว่า กองทุนหุ้นเอกชนมีบทบาทสำคัญและเป็นไปในทางบวกในการสนับสนุนผู้ประกอบการและนวัตกรรม เพิ่มสัดส่วนของการจัดหาเงินทุนโดยตรง และให้บริการจัดการความมั่งคั่งแก่บรรดานักลงทุน 

 

ขณะเดียวกัน อ้างอิงจากข้อมูลของทาง CSRC ระบุว่า ณ ไตรมาส 1 ปี 2023 กองทุนหุ้นเอกชนได้ลงทุนในตราสารทุนเกือบ 200,000 ตราสารทุนของวิสาหกิจที่จดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียน วิสาหกิจ New Third Board และโครงการรีไฟแนนซ์ ก่อให้เกิดทุนจดทะเบียนมากกว่า 11.6 ล้านล้านหยวน

 

นอกจากนี้ กองทุนการลงทุนในภาคเอกชนก็ให้การสนับสนุนด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญและยุทธศาสตร์ระดับชาติ เช่น ภาคส่วนคอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ เวชภัณฑ์ และชีววิทยา ซึ่งในไตรมาส 1 ปี 2023 ทางกองทุนการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment) ได้ลงทุนเกือบ 5 ล้านล้านหยวนในบริษัทเหล่านี้

 

ขณะนี้บรรดาผู้จัดการของกองทุนหุ้นเอกชนในกรุงปักกิ่งยอมรับว่า บริษัทของตนกำลังศึกษารายละเอียดของกฎระเบียบ

 

ด้าน Dong Dengxin ผู้อำนวยการสถาบันการเงินและหลักทรัพย์ของ Wuhan University of Science and Technology กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนหุ้นเอกชนของจีนบางแห่งดำเนินการลงทุนเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งคิดเป็นประมาณ 80-90% ของส่วนแบ่งการตลาดของกองทุนหุ้นส่วนบุคคล

 

Dong กล่าวอีกว่า ตัวกฎระเบียบใหม่จะชี้แจงบทบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับกองทุนร่วมลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการชี้นำกองทุนหุ้นเอกชนให้ลงทุนในนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงและการยกระดับเศรษฐกิจของจีน

 

Dong กล่าวต่อว่า กฎระเบียบในการจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้รับการออกแบบมาเป็นหลักสำหรับการพัฒนาและการเติบโตของตลาดกองทุนของจีน ในขณะที่การลดค่าธรรมเนียมที่ประกาศโดยกลุ่มกองทุนตราสารทุนเมื่อวันเสาร์ (8 กรกฎาคม) จะช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

 

ก่อนหน้าที่ทางการจีนออกประกาศเกี่ยวกับกฎระเบียบดังกล่าว บริษัทจัดการกองทุนหลายแห่งในจีนได้ประกาศลดค่าธรรมเนียมการจัดการของผลิตภัณฑ์กองทุนตราสารทุนลงเหลือไม่เกิน 1.2% และค่าธรรมเนียมผู้ดูแลทรัพย์สินเหลือ 0.2 %

 

ทั้งนี้ สินทรัพย์ภายใต้การจัดการโดยกองทุนรวมสาธารณะของจีนมีมูลค่ารวม 27.77 ล้านล้านหยวน (3.97 ล้านล้านดอลลาร์) ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ในขณะเดียวกันกองทุนรวมสาธารณะทั้งหมด 10,890 กองทุน ดำเนินการโดยบริษัทจัดการกองทุน 143 แห่ง ซึ่งตามสถิติของ AMAC พบว่า จากบริษัทจัดการกองทุน 143 แห่ง มี 47 แห่งเป็นบริษัทที่ได้รับทุนจากต่างประเทศ

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X