×

จีนเผยส่งออก-นำเข้าหดตัวในเดือน ธ.ค. เหตุดีมานด์ทั่วโลกชะลอตัว แต่ ‘การค้ากับรัสเซีย’ พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022

13.01.2023
  • LOADING...
การส่งออกของจีน

จีนเผยการส่งออกในเดือนธันวาคมหดตัว 9.9% เหตุความต้องการสินค้าจากทั่วโลกลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ร่วงลง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้น และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศอย่างมาก ขณะที่การค้ากับรัสเซียพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022

 

วันนี้ (13 มกราคม) หน่วยงานศุลกากรจีนเปิดเผยว่า การค้าของจีนกับรัสเซียในปี 2022 ซึ่งรวมทั้งการส่งออกและนำเข้า ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 1.28 ล้านล้านหยวน โดยการค้ากับรัสเซีย คิดเป็น 3% ของการค้าจีนทั้งหมดในปี 2022

 

ขณะที่การส่งออกในรูปเงินดอลลาร์เดือนธันวาคม ลดลง 9.9% จากปีก่อนหน้า สูงกว่าประมาณการของนักเศรษฐศาสตร์ที่ลดลง 11.1% และลดลงหนักขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 8.7% ขณะที่การนำเข้าหดตัว 7.5% ต่ำกว่าประมาณการว่าจะลดลง 10%

 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของจีนตลอดทั้งปี 2022 เพิ่มขึ้น 7% สู่ระดับประวัติการณ์ที่ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ตลอดทั้งปี จีนยังคงเกินดุลการค้าอยู่ที่ 8.78 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์

 

Zhang Zhiwei ประธานและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Pinpoint Asset Management กล่าวว่า อุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอและการระบาดของโควิดน่าจะส่งผลให้การส่งออกของจีนในเดือนธันวาคมลดลง โดยการส่งออกที่อ่อนแอได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศในฐานะตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับเศรษฐกิจในปี 2023

 

แม้การส่งออกของจีนเติบโตอย่างแข็งแกร่งเกือบตลอดปี 2022 ซึ่งได้ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก อย่างไรก็ตาม โมเมนตัมดังกล่าวเริ่มหายไปตั้งแต่เดือนตุลาคม เนื่องจากการระบาดใหญ่ทำให้อุปสงค์ลดลง และธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ การหยุดชะงักจากเหตุการระบาดในจีนยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการส่งออกด้วย

 

โดยแนวโน้มการชะลอตัวคาดว่าจะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2023 โดยการส่งออกสุทธิอาจจะคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับการเติบโตของ GDP จีนในปีนี้ หรืออาจกลายเป็นตัวฉุดก็เป็นไปได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising