การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 เตรียมเปิดฉากขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว โดยประเด็นหนึ่งที่หลายคนจับตาคือ ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจีนคนใหม่แทนที่ หลี่เค่อเฉียง ที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งหลังการประชุมครั้งนี้เราจะได้เห็นภาพที่ค่อนข้างชัดเจนขึ้นแล้ว
เฉิงหลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจาก Brookings Institution ในสหรัฐอเมริกา ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูง 4 คนที่เป็นไปได้ว่าจะมาเข้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีน ได้แก่ หานเจิ้ง, หูชุนหัว, หลิวเฮ่อ และ วังหยาง
หานเจิ้ง และวังหยาง นั้นเป็น 2 ใน 7 ของคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ชุดปัจจุบัน ส่วน หูชุนหัว และ หลิวเฮ่อ อยู่ในคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo) 25 คน โดยทั้ง 4 คนนี้เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีจีนมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งตรงกับข้อกำหนดเบื้องต้นของจีนที่ระบุไว้ว่า บุคคลที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้จะต้องเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีมาก่อน
สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวของเฉิงหลี่ เขามองว่า หานเจิ้ง และหูชุนหัว มีภาษีมากที่สุดในบรรดา 4 คน และคาดว่าเป็น 2 ตัวเต็งที่จะชิงตำแหน่งนายกฯ คนใหม่ของประเทศ โดยหากหานเจิ้งได้เป็นนายกฯ คนใหม่ ก็จะสะท้อนถึงความต่อเนื่องของนโยบายปัจจุบัน แต่หากหูชุนหัวได้นั่งเก้าอี้ผู้นำ ก็อาจส่งสัญญาณถึงการสร้างความสามัคคีภายในพรรค เนื่องจากหูชุนหัวนั้นเป็นนักการเมืองจากกลุ่มสันนิบาต ที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มขั้วตรงข้าม สีจิ้นผิง
ส่วน ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ด้านกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า ตามที่หลายฝ่ายคาดหมายไว้นั้น ตัวเต็งมีอยู่ 2 คนคือ วังหยาง ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมือง และเป็นผู้นำเบอร์ 4 ในโปลิตบูโร ส่วนอีกคนคือ หูชุนหัว รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ดูแลการแก้ปัญหาความยากจน
สำหรับวังหยางนั้นเป็นนักการเมืองสายปฏิรูป ซึ่งที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญในการสร้างโมเดลการพัฒนามณฑลกวางตุ้ง โดยเน้นไปที่ภาคเอกชน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมบทบาทที่มากขึ้นของภาคประชาสังคม
ส่วนหูชุนหัวเคยทำงานในทิเบต ก่อนขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตปกครองตนเองมองโกเลียในในเวลาต่อมา ซึ่งเขาได้รับการยกย่องจากหลายคนว่าเป็นนักบริหารที่มีประสิทธิภาพ แต่จุดที่น่าสนใจคือ หูชุนหัวเป็นนักการเมืองจาก ‘กลุ่มสันนิบาต’ ที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มขั้วตรงข้ามสีจิ้นผิง
หากหูชุนหัวได้เป็นนายกฯ คนถัดไป ย่อมสะท้อนว่ามีการต่อรองอำนาจเพื่อรักษาสมดุลของคณะผู้นำที่อยู่บนสุด แต่หากท้ายที่สุดมีการเลือกนายกฯ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับสีจิ้นผิง ก็หมายความว่าเขาได้ฉีกธรรมเนียมปฏิบัติและพยายามรวบอำนาจมาอยู่ในมือ ซึ่งเราต้องรอดูกันต่อไปว่า ผลลัพธ์จะออกมาตรงกับที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้หรือไม่
ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร
อ้างอิง:
- https://www.asiafinancial.com/the-ccp-leadership-reshuffle-candidates-for-premier-politburo
- https://www.reuters.com/world/china/hu-chunhua-rural-roots-candidate-china-premiership-2022-10-11/
- https://www.reuters.com/world/china/chinas-liberal-wang-yang-seen-possible-premier-reshuffle-looms-2022-10-11/
- https://thediplomat.com/2020/08/who-will-be-chinas-next-premier/
- https://www.reuters.com/world/china/chinas-communist-party-leadership-reshuffle-what-look-2022-10-11/
- https://www.scmp.com/news/china/article/3194838/new-chinese-premier-pick-could-mean-more-continuity-change-economic