จีนกับ ‘สายลมอุ่น’ สู่ยุโรป
ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นโอกาสที่จีนใช้ในการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อยุโรป หวังอี้ ได้พบปะกับผู้นำระดับสูงของยุโรป เช่น โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี และ ฌ็อง-โนเอล บาร์โรต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส โดยเน้นย้ำว่าจีนไม่ใช่ศัตรูของยุโรป แต่เป็นพันธมิตรที่สามารถร่วมมือกันได้เพื่อเสถียรภาพของโลกหลายขั้ว
จีนพยายามเจรจากับยุโรปมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องการค้า ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และบทบาทในการสร้างสันติภาพ อย่างไรก็ตาม ในการประชุม MSC ครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีความสั่นคลอน ท่าทีของเหล่าผู้นำยุโรปที่มีต่อสหรัฐฯ สะท้อนความไม่พอใจในหลายประเด็น เช่น การที่สหรัฐฯ ไม่ดำเนินมาตรการใดๆ อย่างจริงจังต่อเศรษฐกิจยุโรป อีกทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังมีแนวคิดตั้งกำแพงภาษีอีกด้วย ขณะที่จีนกลับแสดงจุดยืนสนับสนุนการค้าเสรีและพหุภาคีนิยม พร้อมให้ยุโรปเป็นพันธมิตรในระดับที่เท่าเทียมกัน
อ.ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า จีนศึกษาและเข้าใจจุดอ่อนของยุโรปมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะแนวโน้มของยุโรปที่ต้องการลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่สงครามการค้ารอบแรก และยิ่งเด่นชัดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 สหรัฐฯ มองยุโรปเป็นพันธมิตรที่ต้องให้ผลประโยชน์ตอบแทน แต่จีนกลับเสนอแนวทางความร่วมมือแบบ ‘Win-Win’ ที่สร้างโอกาสให้ยุโรปสามารถเลือกขยายความสัมพันธ์กับจีนโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐฯ
รัสเซีย-ยูเครน: จุดเปลี่ยนและบทบาทของจีน
อ.ภากร มองว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามรัสเซีย-ยูเครนคือการที่ยุโรปพยายามมีบทบาทในกระบวนการทางการทูต แต่กลับถูกลดบทบาทลงเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์มีแนวโน้มเข้าไปเจรจาโดยตรงกับรัสเซีย ซึ่งมีรายงานว่าอาจมีการหารือในซาอุดีอาระเบีย เรื่องนี้ส่งผลให้ยุโรปต้องเผชิญกับคำถามว่า จุดยืนของตนเองบนเวทีระหว่างประเทศอยู่ที่ไหน
กระนั้นแม้ว่ายุโรปอาจมองว่าจีนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย แต่จีนพยายามใช้แนวทางประนีประนอมและสนับสนุนการเจรจาเพื่อสันติภาพ หวังอี้ได้พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน แสดงให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการเป็นสื่อกลางและยังคงมุ่งเน้นการค้าเป็นหลัก เช่น การเสริมความร่วมมือด้านยานยนต์ไฟฟ้ากับเยอรมนี
ทั้งนี้ ในสายตาของสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกบางแห่ง การดำเนินนโยบายของจีนอาจถูกมองว่าเป็น Sharp Power หรือการใช้พลังอำนาจที่แหลมคมเพื่อขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ในมุมมองของจีนนี่คือ Soft Power ที่มุ่งเน้นความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่า
G20 และการขยายบทบาทของจีนบนเวทีโลก
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G20 ที่จะจัดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่จีนกำลังขยายบทบาท ล่าสุดหวังอี้ได้ตอบรับเข้าร่วม ขณะที่ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่เข้าร่วม ซึ่งอาจเป็นสัญญาณถึงช่องว่างที่จีนสามารถเข้าไปเติมเต็มได้ อ.ภากร มองว่านโยบายของสหรัฐฯ ที่ยกเลิกความช่วยเหลือแอฟริกาใต้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จีนสามารถใช้เป็นโอกาสในการขยายอิทธิพลในภูมิภาคแอฟริกา
อนาคตความสัมพันธ์จีน-ยุโรป
เมื่อมองไปข้างหน้า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและยุโรปยังคงเป็นปัจจัยที่จีนให้ความสำคัญมากกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากยุโรปเป็นการรวมตัวของประเทศที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพสูง แม้ว่าในปัจจุบันจะยังมีความไม่แน่นอนในนโยบายต่อจีน แต่จีนยังคงให้ความสำคัญกับยุโรปอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น นโยบายการเปิดฟรีวีซ่าสำหรับพลเมืองยุโรป ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ระดับบุคคลและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระหว่างจีนและยุโรป อาจเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสมดุลในระเบียบโลกใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ภาพ: Sven Hoppe / Pool via Reuters
อ้างอิง: