การซ้อมรบใหญ่รอบเกาะไต้หวันภายใต้รหัส ‘Joint Sword-2024B’ ของ จีน อาจไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก เพราะนักวิเคราะห์หรือผู้สันทัดกรณีคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า จีน จะส่งสัญญาณอะไรบางอย่างถึงผู้นำไต้หวันหลังมีถ้อยแถลงเนื่องในวันชาติสาธารณรัฐจีน (10 ตุลาคม) ที่สร้างความระแคะระคายและดูเป็นการยั่วยุสำหรับปักกิ่ง
สื่อทางการจีนอย่าง Global Times พาดหัวไว้ชัดเจนโดยอ้างคำพูดของกองทัพ จีน ว่า การซ้อมรบครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังกลุ่มคนไต้หวันที่พยายามแบ่งแยกดินแดน (Taiwan Independence Separatists)
เป็นการตอบโต้เจาะจงไปที่เนื้อหาในสปีชท่อนหนึ่งของ ไล่ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน ซึ่งกล่าวไว้ว่า “จีนและไต้หวัน ไม่มีใครอยู่ใต้อำนาจใคร และ จีน แผ่นดินใหญ่ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นตัวแทนของไต้หวันและประชาชน 23 ล้านคน”
คำกล่าวนี้สร้างความเดือดดาลให้กับ จีน เป็นอย่างมาก
สำหรับปักกิ่งแล้ว พวกเขาถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีนมาตลอด ไม่อาจเอาอะไรมาแลกหรือต่อรอง และจีนจะไม่ยอมถอยในเรื่องนี้แม้แต่ก้าวเดียว ที่ผ่านมาจีนยังแง้มประตูไว้บานหนึ่งเสมอ ว่าวันหนึ่งพวกเขาอาจใช้กำลังเข้ารวมชาติหากจำเป็น ขณะที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงย้ำในหลายโอกาสรวมถึงในวันชาติจีน (1 ตุลาคม) ที่ผ่านมาด้วยว่า ปลายทางของจีนกับไต้หวันจะต้องมาบรรจบโดยการรวมชาติ ซึ่งผู้นำหลายรุ่นก็หวังว่าจะเป็นการรวมชาติอย่างสันติ
แต่สำหรับไทเป พวกเขาถือว่ามีอธิปไตยปกครองตัวเองอย่างอิสระโดยปราศจากอำนาจแทรกแซงและครอบงำจากจีน และไม่จำเป็นต้องประกาศเอกราชแต่อย่างใด
ก่อนหน้าวันชาติ ผู้นำพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) ยังเน้นย้ำด้วยว่า ไต้หวันมีอธิปไตยเต็มที่ พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชนปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตยที่พวกเขาหวงแหน
ไล่ชิงเต๋อยังบอกอีกว่า หากคำนวณจากอายุแล้ว สาธารณรัฐจีนมีอายุมากกว่าจีนยุคคอมมิวนิสต์เสียอีก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่จีนจะมากล่าวอ้างเป็นแผ่นดินแม่ของไต้หวัน
ขนาดการซ้อมรบ
จีนเปิดฉากซ้อมรบเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม โดยไม่ได้บอกกรอบเวลาชัดเจนว่าการซ้อมรบจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
เหล่าทัพที่เข้าร่วมประกอบด้วยกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองกำลังจรวด และกองกำลังอื่นๆ
จีนบอกวัตถุประสงค์ว่าเพื่อทดสอบขีดความสามารถในการสู้รบร่วมกัน ขณะที่ หลี่ซี โฆษกกองบัญชาการภาคตะวันออกของกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ระบุด้วยว่า “นี่คือการยับยั้งที่ทรงพลังต่อกิจกรรมการแบ่งแยกดินแดนของขบวนการมุ่งแสวงเอกราชของไต้หวัน และเป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน”
สำหรับพื้นที่ซ้อมรบนั้น สื่อทางการจีนแสดงแผนที่ให้ดูว่า ปฏิบัติการนี้ครอบคลุม 6 พื้นที่รอบเกาะไต้หวัน ซึ่งหลี่ซีเผยว่า มีการฝึกซ้อมนำเครื่องบินและเรือเข้าใกล้ไต้หวันจากทิศทางต่างๆ และส่งทหารจากหน่วยต่างๆ ร่วมซ้อมรบโดยเน้นไปที่การลาดตระเวนเตรียมพร้อมสู้รบทั้งทางอากาศและทะเล การปิดล้อมท่าเรือและพื้นที่สำคัญ ไปจนถึงการโจมตีเป้าหมายในทะเลและบนบก
ส่วนไต้หวันเองก็ตอบโต้โดยการส่งทหารซ้อมรบและยกระดับการเตรียมพร้อมเช่นกัน โดยกระทรวงกลาโหมไต้หวันได้ประณามการซ้อมรบครั้งนี้อย่างรุนแรง ระบุว่าเป็นพฤติกรรมที่ไร้เหตุผลและยั่วยุให้เกิดความตึงเครียด
การซ้อมรบกับ ‘ความปกติใหม่’
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองการซ้อมรบครั้งนี้ว่า จีนพยายามสร้างความปกติใหม่ (New Normal) ต่อบริบทการเมืองใหม่ของไต้หวันที่นำโดยผู้นำคนใหม่อย่างไล่ชิงเต๋อ ซึ่งมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน
สำหรับการซ้อมรบรหัส Joint Sword-2024B เป็นภาคต่อของ Joint Sword-2024A ที่จีนจัดซ้อมรบ 2 วัน (23-24 พฤษภาคม) หลังไล่ชิงเต๋อสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ซึ่งครั้งนั้นก็เป็นการตอบโต้ต่อถ้อยแถลงที่แข็งกร้าวต่อปักกิ่งเช่นกัน
ดร.อาร์ม กล่าวต่อว่า หลังจากนี้เราคงจะเห็นการซ้อมรบบ่อยและเป็นปกติขึ้น เพื่อตอบโต้กระแสการเมืองในไต้หวัน
นอกจากนี้สิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นประเด็นกดดันต่อรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งด้วยว่าจะแสดงท่าทีอย่างไรในเรื่องไต้หวัน ดร.อาร์ม กล่าวเสริม
ก่อนหน้านี้ ดร.อาร์ม เคยให้ความเห็นกับเราว่า จีนพยายามยกระดับความปกติใหม่โดยซ้อมรบในสเกลที่ใหญ่ขึ้นเพื่อตอบโต้ไต้หวันจากเหตุการณ์ที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เยือนไทเปในปี 2022 และเข้าพบ ไช่อิงเหวิน ผู้นำไต้หวันในขณะนั้น ซึ่งตอนนั้นมีการใช้กระสุนจริง และปิดล้อมไต้หวันหลายจุดจนกระทบซัพพลายเชนเทคโนโลยีและการขนส่งสินค้า
และดูเหมือนว่าเทรนด์นี้จะเกิดขึ้นต่อไป
แน่นอนว่าความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันมีสหรัฐฯ เป็นตัวแปรสำคัญในความสัมพันธ์สามเส้าด้วย สหรัฐฯ และไต้หวันมีข้อตกลงที่เรียกว่า กฎหมายความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ไต้หวัน ปี 1979 ซึ่งทำให้สหรัฐฯ มีข้อผูกพันในการช่วยไต้หวันหากถูกจีนใช้กำลังรุกราน แต่ถ้าไต้หวันประกาศเอกราชเอง ซึ่งจีนถือว่าประกาศสงครามนั้น สหรัฐฯ จะไม่มีพันธกรณีเข้าช่วย ซึ่งนักวิเคราะห์ยังมองไม่เห็นสัญญาณที่ไต้หวันจะทำเช่นนั้น เช่นเดียวกับสัญญาณที่จีนจะใช้กำลังรุกราน
ทิม มาร์แชลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีประสบการณ์การรายงานข่าวใน 40 ประเทศและพื้นที่สงคราม เขียนไว้ในบทหนึ่งของหนังสือ Prisoners of Geography: Ten Maps that Explain Everything about the World ว่า ปัจจุบันจีนเป็นคู่แข่งหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ที่สหรัฐฯ มองเป็นภัยคุกคาม ภายหลังการเสื่อมถอยของรัสเซีย แต่จีนกับสหรัฐฯ จะไม่เผชิญหน้าทางทหารกันโดยตรง หากพวกเขาสามารถจัดการกับประเด็นความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือปัญหาไต้หวัน
แต่ ดร.อาร์ม และนักวิเคราะห์ฟากตะวันตกเตือนว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ ยิ่งการซ้อมรบมีมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุหรือการกระทบกระทั่งจนทำให้ความขัดแย้งบานปลายและนำไปสู่สงครามใหญ่ก็มีมากขึ้นเท่านั้น และอาจดึงสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ภาพ: VCG / VCG via Getty Images
อ้างอิง: