การตัดสินใจของรัฐบาลจีนที่จะควบคุมการส่งออกแร่โลหะที่สำคัญ 2 ชนิด สะท้อนถึงอำนาจบางส่วนในการตอบโต้สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในยุโรป ที่พยายามกีดกันจีนในการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง แต่การตัดสินใจดังกล่าวนำมาซึ่งความเสี่ยงที่อาจย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อจีนเองด้วย
ระบบในการกำหนดใบอนุญาตสำหรับการส่งออกสินค้าอันใหม่ซึ่งเปิดเผยออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงการเป็นผู้ผลิตแกลเลียมและเจอร์เมเนียมรายใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นแร่โลหะสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตชิป ยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคม
การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนที่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จะเดินทางมาเยือนจีน
บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า การจำกัดการส่งออกจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ที่พยายามกีดกันจีนให้ออกห่างจากอุตสาหกรรม Quantum Computing รวมถึง AI หลังจากที่จีนมีบทบาทในอุตสาหกรรมดังกล่าวมากขึ้น
เราประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบเชิงลบด้าน Sentiment ต่อหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เนื่องด้วยการจำกัดการส่งออกดังกล่าวอาจทำให้ปัญหาการขาดแคลนชิปในระดับโลกกลับมารุนแรงอีกครั้ง และนำมาสู่ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นแผง PCB หรือ IC ต่างๆ
ทั้งนี้ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีปัจจัยกดดันเป็นทุนเดิมจากการที่ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ทั่วโลกยังอยู่ในโซนหดตัวต่อเนื่อง ล่าสุดช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ และยุโรปประกาศตัวเลข PMI เดือนมิถุนายนออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้ดัชนี PMI ทั่วโลก ณ เดือนมิถุนายนปรับตัวลงมาใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน ด้วยเหตุนี้เราจึงแนะนำหลีกเลี่ยง หรือ Underweight การลงทุนหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป
ด้านสำนักข่าว Bloomberg มองว่า มาตรการดังกล่าวกลายเป็นดาบสองคม และอาจเร่งให้กลุ่มประเทศต่างๆ ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้พยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากจีน และจากความพยายามของจีนครั้งก่อนที่ควบคุมการส่งออกแร่ธาตุหายาก ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของจีนในตลาดโลกลดลง เนื่องจากแต่ละประเทศพยายามหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยจีน
มาตรการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุหายากของจีนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เริ่มต้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 พร้อมกับการค่อยๆ ปรับเพิ่มกำแพงภาษี สร้างแรงกดดันต่อบริษัทในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากจีน
แต่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2010 เมื่อจีนตัดสินใจสั่งหยุดการส่งออกไปยังญี่ปุ่นชั่วคราว เพื่อตอบโต้กรณีข้อพิพาทเรื่องน่านน้ำ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นให้แต่ละประเทศเริ่มมองหาแหล่งวัตถุดิบอื่นๆ นอกเหนือจากจีน และทำให้การส่งออกแร่ธาตุหายากจากออสเตรเลียและสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ทำให้สัดส่วนการส่งออกจากอุตสาหกรรมเหมืองของจีนลดลงเหลือ 70% ในปี 2022 จากจุดพีคที่ราว 98% เมื่อปี 2010 อ้างอิงจากข้อมูลของ US Geological Survey
สำหรับการผลิตแร่แกลเลียมในปัจจุบันมาจากจีนราว 94% จากข้อมูลของ UK Critical Minerals Intelligence Centre อย่างไรก็ตาม แร่ธาตุดังกล่าวยังไม่ถึงกับเป็นแร่ธาตุหายากมากนัก
ทั้งนี้ ทางการจีนกล่าวว่า การควบคุมการส่งออกแร่แกลเลียมและเจอร์เมเนียม พร้อมกับการควบคุมวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของอุตสาหกรรมเคมิคอล มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ
ในมุมมองของ มอร์ริส จาง ผู้ก่อตั้ง Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. ผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่สัญชาติไต้หวัน มองว่า “ปัจจุบันเรื่องความมั่นคงของชาติและเทคโนโลยี รวมทั้งการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจกลายมาเป็นเรื่องสำคัญกว่าโลกาภิวัตน์ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กลายเป็นการแข่งขันระหว่างกันมากกว่าการร่วมมือกัน”
นอกจากจีนที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่สำหรับแร่แกลเลียมและเจอร์เมเนียม ประเทศที่ผลิตได้อื่นๆ ได้แก่ รัสเซียและยูเครน โดยแร่ดังกล่าวเป็นผลพลอยได้จากการผลิตอะลูมินา รวมทั้งประเทศอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากแร่สังกะสี ขณะที่บริษัทอย่าง Teck Resources Ltd. ในอเมริกาเหนือ รวมทั้ง 5N Plus Inc., Indium Corporation ในสหรัฐฯ และ Umicore SA ในเบลเยียม ต่างก็สามารถผลิตได้เช่นกัน
อ้างอิง: