×

จีนส่งโมดูล ‘เมิ่งเทียน’ สู่วงโคจร เพื่อประกอบสถานีอวกาศเทียนกงจนครบสมบูรณ์

โดย Mr.Vop
31.10.2022
  • LOADING...
เมิ่งเทียน

เมื่อเวลา 14.37 น. ของวันนี้ (31 ตุลาคม) ตามเวลาประเทศไทย จรวดยักษ์ Long March 5B-Y4 ขององค์การอวกาศจีน ได้ทะยานออกจากศูนย์ส่งดาวเทียมเหวินชาง (文昌航天发射场) บนเกาะไหหลำ เพื่อนำส่งโมดูลสำคัญซึ่งเป็นโมดูลห้องทดลองที่ 2 ในชื่อโมดูล ‘เมิ่งเทียน’ (梦天) ในความหมายถึงความฝันแห่งสรวงสวรรค์ ขึ้นสู่วงโคจรเป็นผลสำเร็จ

 

โมดูลเมิ่งเทียนจะเข้าต่อเชื่อมกับโมดูลแกนกลางนั่นคือโมดูล ‘เทียนเหอ’ (天和) ในวงโคจร LEO (Low Earth Orbit) ที่ความสูง 393 กิโลเมตรจากผิวโลก ซึ่งเป็นจังหวะที่สถานีอวกาศเทียนกงโคจรมาที่มุมเอียง (Inclination) 42 องศาพอดี

 

เมิ่งเทียนเป็นโมดูลห้องทดลองรูปทรงกระบอกที่มีความยาว 17.9 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 4.2 เมตร ภายในมีส่วนที่เป็นช่องว่างสำหรับการใช้ชีวิตของนักบินอวกาศเป็นปริมาตรอากาศ 32 ลูกบาศก์เมตร มีน้ำหนักขณะออกเดินทางจากโลกประมาณ 23.3 ตัน ถือเป็นน้ำหนักบรรทุกของยานอวกาศที่หนักที่สุดเท่าที่จีนเคยมีมา 

 

เมิ่งเทียน

 

ลักษณะภายนอกของโมดูลเมิ่งเทียนค่อนข้างคล้ายคลึงกับโมดูลห้องทดลองแรกซึ่งมีชื่อว่า ‘เวิ่นเทียน’ (问天) ในความหมายถึงการตั้งคำถามต่อสรวงสวรรค์ ที่ได้ออกเดินทางไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อเช้ามืดของวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผานมา จากศูนย์ส่งดาวเทียมเดียวกัน แต่จะมีรายละเอียดภายในที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยโมดูลเมิ่งเทียนที่ส่งขึ้นไปวันนี้จะไม่มีระบบช่วยเหลือชีวิต ไม่มีส่วนของห้องพักหรือห้องสุขา แต่จะกลายเป็นส่วนของการออกกำลังกายแทน นอกจากนี้ยังมีตู้บรรทุกสินค้ามาตรฐาน 13 ตู้ บรรจุวัตถุทดลองทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ครอบคลุมทั้งฟิสิกส์ของไหล การเผาไหม้ และวัสดุศาสตร์ต่างๆ มีช่องแอร์ล็อกรุ่นใหม่ มีช่องขนถ่ายสินค้าที่ใหญ่กว่านั่นคือมีความกว้างถึง 1.2 เมตร

 

ส่วนที่สำคัญของโมดูลเมิ่งเทียนคือการติดตั้งชุดนาฬิกาอะตอมเย็น (Cold Atomic Clock) ชุดใหม่ ที่มีความแม่นยำกว่าชุดเก่าที่เคยส่งขึ้นไปทดลองสมัยเทียนกง-2 เมื่อปี 2016 เอาไว้ด้วย

 

ชุดนาฬิกาอะตอมเย็นที่นำขึ้นไปกับโมดูลเมิ่งเทียนในวันนี้ เมื่อเปิดใช้งานจริงจะสามารถสร้างระบบเวลาและความถี่ที่แม่นยำที่สุดในอวกาศ โดยแม่นยำถึงระดับจะผิดพลาดน้อยกว่าหนึ่งวินาทีในหลายร้อยล้านปีเลยทีเดียว

 

แน่นอนว่าความได้เปรียบจากความแม่นยำของนาฬิกาอะตอมรุ่นใหม่ที่ส่งขึ้นไปนี้จะช่วยให้การระบุตำแหน่งและการนำทางผ่านดาวเทียมมีความแม่นยำสูงขึ้น และสนับสนุนการวิจัยฟิสิกส์พื้นฐาน เช่น การตรวจหาสสารมืดและการตรวจจับคลื่นโน้มถ่วง สามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วย

 

เมิ่งเทียน

 

แผนการดำเนินการจากนี้ ตัวโมดูลเวิ่นเทียนและเมิ่งเทียนจะถูกนำไปประกอบกับสถานีอวกาศ​จีนจนกลายเป็นรูปตัว T โดยยึดเอาโมดูลเทียนเหอเป็นแกนกลาง และโมดูล​ห้องทดลองทั้งสองเป็นแขนซ้ายขวา

 

ขั้นตอนปฏิบัติ​ทั้งหมดในอวกาศ​จะรับผิดชอบโดยทีมลูกเรือในภารกิจ​เสินโจว-14 (神舟-14) ที่ได้ออกเดินทางจากโลกไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

ทีมนักบิน​อวกาศ​ทั้งสามคน ประกอบด้วย เฉินตง ผู้บัญชาการ​ภารกิจ (คนกลาง​ในภาพ)​ และลูกเรืออีก 2 คน ได้แก่ ไช่ซวี่เจ๋อ รวมทั้ง​นักบินอวกาศ​หญิงเหลียวหยาง จะคอยรอรับการต่อเชื่อม (Docking) ​ระหว่างโมดูลใหม่ที่เดินทางขึ้นไปวันนี้เข้ากับสถานีอวกาศ​ โดยเริ่มต้นจากการต่อเชื่อมกับช่อง Forward Port ทางด้านหน้าของโมดูลแกนกลาง หรือเทียนเหอ ก่อน หลังจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบส่วนต่างๆ ของโมดูลใหม่จนแน่ใจว่าสามารถใช้งานได้ โดยทางทีมนักบินอวกาศจะขออนุญาตทางภาคพื้นดินในการเข้าไปภายในโมดูลใหม่นี้ด้วย เพื่อตรวจสอบและถ่ายเทวัสดุอุปกรณ์บางส่วนที่บรรทุกขึ้นไป

 

เมิ่งเทียน

 

เมื่อขั้นตอนการตรวจสอบเสร็จสิ้น ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์เหมือนกับที่เคยปฏิบัติกับโมดูลเวิ่นเทียนในเดือนกรกฎาคม ทีมงานจะรอคำสั่งจากหอบังคับการ​ภาคพื้นดิน​เพื่อใช้ ‘แขนกล’ ที่มีความยาวเป็นพิเศษ​ ถอดย้าย (Transposition)​ โมดูลเมิ่งเทียนจากด้านหน้าของสถานีอวกาศไปทางต่อเชื่อมเข้าทางกราบซ้าย (Larboard) ของสถานีฯ โดยทางกราบขวา (Starboard) จะมีโมดูลเวิ่นเทียนที่ย้ายมาต่อเชื่อมไว้ก่อนหน้านี้แล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน จนสุดท้ายสถานีอวกาศเทียนกง (天宫) ที่สื่อความหมายถึงพระราชวังแห่งสรวงสวรรค์ ก็จะมีรูปร่างของโมดูลหลักกลายเป็นรูปตัว T ครบสมบูรณ์ตามที่ออกแบบไว้ 

 

เมิ่งเทียน

 

เมื่อโมดูลหลักเข้าประจำที่เสร็จสิ้น สถานีอวกาศเทียนกงจะมีขนาดพอๆ กับสถานีอวกาศเมียร์ของรัสเซียในอดีต หรือประมาณ 1/6 ของสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบัน และจะมีฐานะเป็นสถานีอวกาศแ​ห่งชาติ​ของจีน หรือ CSS ที่จะมีอายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 10 ปี สถานีอวกาศขนาด 66 ตันนี้จะลอยสูงจากพื้นโลกที่ความสูงระดับ 340-450 กิโลเมตรในวงโคจร LEO (Low Earth Orbit) ควบคุมโดยศูนย์สั่งการ Beijing Aerospace Command and Control Center ที่ปักกิ่ง มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในสภาพแวดล้อมที่มีความโน้มถ่วงต่ำ ซึ่งหลังจากการปลดระวางสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนมกราคม 2031 ทางจีนก็น่าจะมีการต่ออายุสถานีอวกาศเทียนกงจนกลายเป็นสถานีอวกาศหลักสถานีเดียวของชาวโลกในอนาคต (รัสเซียก็อาจมีสถานีอวกาศขนาดเล็กของตัวเองด้วย) ซึ่งทางชาติตะวันตกก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี รวมทั้งงบประมาณอีกไม่น้อย ที่จะสร้างสถานีอวกาศใหม่ขึ้นมาประชันกันได้

 

ภาพ: 

FYI

จีนจะมียานอวกาศ 2 รุ่นในการเดินทางเพื่อบริการระหว่างโลกกับสถานีอวกาศเทียนกง นั่นคือยานเทียนโจว (天舟) ในความหมายถึงนาวาสวรรค์ ทำหน้าที่เป็นยานบรรทุกสัมภาระ อาหาร อากาศ น้ำ อุปกรณ์ซ่อมแซม และวัตถุทดลองทางวิทยาศาสตร์ และยานเสินโจว (神舟) มีความหมายถึงเรือศักดิ์สิทธิ์ ทำหน้าที่เป็นยานโดยสารนำนักบินอวกาศขึ้นลงจากสถานีอวกาศครั้งละ 3 คน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X