กรณี ตลาดจีน ตลอดระยะเวลาของการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด จีนเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถรับมือกับโรคได้เป็นอย่างดี และน่าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศอื่นในโลก แต่ปรากฏว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาภาคการลงทุนและตลาดหุ้นจีนกลับต้องเผชิญแรงกดดันทางเศรษฐกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย Zero-COVID ที่มีการประกาศล็อกดาวน์พื้นที่ต่างๆ ในมณฑลเจียงซู, จี๋หลิน, กวางตุ้ง, ส่านซี, เซี่ยงไฮ้ ที่เป็นฐานการผลิตสำคัญของประเทศในหลายอุตสาหกรรม เช่น เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมไม้ และคอมพิวเตอร์ แบบเข้มงวด
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความกังวลต่อสถานการณ์ผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่สะท้อนถึงปัญหาระดับหนี้ที่สูงในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้รัฐบาลจีนไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้เหมือนประเทศอื่น ต่อด้วยกรณีการออกนโยบายความมั่นคงร่วมกันของจีน (China Common Prosperity Policy) ที่มุ่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ สร้างความเท่าเทียมกันทั้งการกระจายรายได้ การลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ ก็เป็นอีกผลกระทบด้านลบต่อภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี, อสังหาริมทรัพย์, การเงิน และสุขภาพ
โดยทุกปัจจัยมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจจีนและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นซึ่งต่ำกว่าที่คาดในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วเรามองว่าหลังจากที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก จะส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นจีนเริ่มกลับมาน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากราคาตลาดหุ้นจีนสะท้อนข่าวร้ายไปมากแล้ว ซึ่งการปรับลดลงของราคาของดัชนี MSCI China (Max Drawdown) ตั้งแต่จุดสูงสุดของปี 2021 ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2022 ปรับลดลงมากว่า -45% ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยการปรับฐานนับตั้งแต่ปี 2007 ที่ลดลงประมาณ -37% รวมถึง Valuation ตลาดหุ้นจีนก็ปรับตัวลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของบริษัทที่เกี่ยวกับ Technology โดยเฉพาะด้าน Internet มีแนวโน้มใกล้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
และนับตั้งแต่ปี 1997 พบว่า ในระยะเวลา 2 เดือนก่อนการประชุม มี 5 ครั้งก่อนการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งชาติ (The National Party’s Congress) ตลาดหุ้นจีนมักจะปรับตัวดีขึ้นเฉลี่ยประมาณ 20% โดยการประชุมครั้งใหม่จะถูกจัดตั้งขึ้นราวปลายปี 2022 ขณะเดียวกันจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่กำลังปรับตัวลดลงทำให้รัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม และสุดท้ายคาดว่าตลาดหุ้นจะได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการประกาศซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนที่น่าจะมีเม็ดเงินสูงถึง 35.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 19% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วย Free Float คาดส่งผลดีต่อหุ้นหลายบริษัทและดัชนีตลาดหุ้นจีน
ดังนั้น หากมองในระยะยาวตลาดหุ้นจีนยังถือว่าเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจลงทุนมาก เพราะมีปัจจัยสนับสนุนตั้งแต่เศรษฐกิจจีนยังคงมีศักยภาพขยายตัวได้สูง คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในปี 2027-2028 และมีขนาดเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวในปี 2035 เช่นเดียวกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่พร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันจากจำนวนประชากรที่สูงถึง 1.4 พันล้านคน และมีการประเมินว่าประชากรชนชั้นกลางที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนจะเพิ่มขึ้นกว่า 45% ภายในปี 2025 ซึ่งจะช่วยผลักดันให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น สร้างความมั่นใจด้านการลงทุนของภาคธุรกิจต่อไปในอนาคต ตลอดจนการเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก โดยเม็ดเงินลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของจีน ถือว่ามีมูลค่าที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยมีมูลค่าประมาณ 2.5% ของ GDP อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการใช้พลังงานสะอาดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในประเทศจีนยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามจากการดำเนินนโยบายควบคุมการระบาดของเชื้อโควิดในจีนเข้มงวดกว่าประเทศอื่นอาจสร้างความเสี่ยงให้แก่แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน, มาตรการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ส่งผลให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในจีนหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2021 และมีแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทในประเทศมากขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังตึงเครียดจากการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและตลาดทุนที่อาจมีแนวโน้มขยายขอบเขตสู่ความมั่นคงของชาติ และสุดท้ายการใช้นโยบายทางการเงินที่สวนทางกันระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจมีแนวโน้มทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศจีนที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และมีความเสี่ยงต่อการอ่อนค่าของค่าเงินหยวนได้